“หลวงปู่ศุข” พระเกจิแห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า ที่ “กรมหลวงชุมพรฯ” ศรัทธาและฝากตัวเป็นศิษย์ 

หลวงปู่ศุข
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ฝีพระหัตถ์กรมหลวงชุมพรฯ เขียนถวายหลวงปู่ศุข (ภาพจากหนังสือ หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ)

“กรมหลวงชุมพรฯ” หรือ “เสด็จเตี่ย” ผู้มีบทบาทวางรากฐานกองทัพเรือของไทย ทรงมีพระเมตตาและมีพระอุปนิสัยห้าวหาญ ทรงสนพระทัยเรื่องพุทธคุณ กระทั่งทรงมีโอกาสได้พบ “หลวงปู่ศุข” พระเกจิชื่อดังแห่ง “วัดปากคลองมะขามเฒ่า” ทรงศรัทธาหลวงปู่ศุขมากจนฝากองค์เป็นลูกศิษย์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อใดไม่ชัดเจน แต่บรรดาคนใกล้ชิดประเมินว่าน่าจะเป็นช่วง พ.ศ. 2447-2452

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พ.ศ. 2423-2466) พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือ ฝึกงานในกองเรืออังกฤษ เมื่อกลับมาก็เข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ พระองค์ยังสนพระทัยในศาสตร์ต่างๆ อีกหลายแขนง และทรงฝึกฝนเรียนรู้จนแตกฉาน

Advertisement

สำหรับความสนพระทัยไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และพุทธคุณของพระเครื่องต่างๆ ของกรมหลวงชุมพรฯ เริ่มจากพระองค์ทรงได้พระเครื่องของ “ในหลวงวังหน้า” จากพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิบูลยพรรณรังษี (พระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 5) กรมหลวงชุมพรฯ รับสั่งให้ยิงปืนใส่ 3 ครั้ง แต่ปืนกลับยิงไม่ออก แต่เมื่อหันปากกระบอกปืนยิงขึ้นฟ้ากลับยิงออก

นั่นทำให้กรมหลวงชุมพรฯ กับ หลวงปู่ศุข “โคจรมาพบกัน”

หลวงปู่ศุข (พ.ศ. 2390-2466) กำเนิดที่ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ท่านอุปสมบทเพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิต และศึกษาหาความรู้ จึงได้ออกธุดงค์ไปพบครูผู้ทรงวิทยาในสถานที่ต่างๆ ประมาณ 15 ปี จนโยมมารดาอารธนาให้กลับมาอยู่ชัยนาท ไม่ให้ไปไหนอีก หลวงปู่ศุขจึงพัฒนา “วัดอู่ทอง” ที่เป็นวัดร้าง จนมาเป็น “วัดปากคลองมะขามเฒ่า” ในปัจจุบัน

นาวาตรี หลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) บันทึกว่า เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จประพาสตากอากาศทางเหนือ เรือพระประเทียบได้จอดพักที่ศาลาวัดปากคลองมะขามเฒ่า พระองค์ทรงเห็นหลวงปู่ศุขลงมาดูเด็กวัดตัดหญ้าบริเวณดงกล้วย ท่านเอาหัวปลีที่กองอยู่มาลูบคลำสักครู่ก็วางลง หัวปลีนั้นก็กลายเป็นกระต่ายวิ่งเพ่นพ่าน กระต่ายตัวหนึ่งวิ่งมาถึงที่พระองค์ประทับ เมื่อทรงจับกระต่ายนั้นก็กลับกลายเป็นหัวปลีดังเดิม

จากนั้นกรมหลวงชุมพรฯ จึงเสด็จไปทรงนมัสการหลวงปู่ศุข ทั้งสองสนทนากันอยู่จน 4-5 ทุ่ม จึงเสด็จกลับลงเรือ วันรุ่งขึ้นก็เสด็จไปสนทนากับหลวงปู่ศุขอีกจนลืมอาหารกลางวันไปทั้งคู่ เมื่อทรงเลื่อมใสในหลวงปู่ศุข กรมหลวงชุมพรฯ ก็ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ศุขเองก็รักใคร่เมตตาพระองค์จึงถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้

เมื่อหลวงปู่ศุขลงมากรุงเทพฯ คราวใด ก็จะมาจำวัดที่วังนางเลิ้งของกรมหลวงชุมพรฯ เป็นประจำกรมหลวงชุมพรฯ ทรงปลูกเรือนพักไว้รับรองท่านโดยเฉพาะ

คราวหนึ่งพระโอรส 3 องค์ ของกรมหลวงชุมพรฯ ที่ไปบรรพชาเป็นสามเณรแก้บนที่หายป่วย มีพระอาจารย์พริ้ง เจ้าอาวาสวัดมะกอก เป็นพระอุปัชฌาย์ ลาสิกขาเสด็จกลับมาประทับที่วัง พอดีกับหลวงปู่ศุขลงมาพักที่วังกรมหลวงชุมพรฯ จึงให้พระโอรสบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง โดยให้หลวงปู่ศุขเป็นพระอุปัชฌาย์ พอครบ 7 วันก็ลาสิกขา

กรมหลวงชุมพรฯ เองก็เสด็จวัดปากคลองมะขามเฒ่าแทบทุกปี และทรงเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตอนพระพุทธเจ้าทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา และแม่ธรณีบีบมวยผม บนผนังพระอุโบสถวัดปากคลองมะขามเฒ่า

ความที่ครู-ศิษย์คู่นี้ ต่างเป็นผู้พากเพียรใฝ่หาวิชาความรู้ ทั้งยังมีอุปนิสัยมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเช่นเดียวกัน จึงเป็น “กัลยาณมิตร” แก่กัน เมื่อ หลวงปู่ศุข ทราบข่าวกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ที่หาดทรายรี เมื่อกลางปี 2466 ท่านเสียใจมาก จากนั้นก็เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ และมรณภาพในปลายปีเดียวกัน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร. หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ, พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2546.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2567