“อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” อนุสาวรีย์ “สามัญชน” ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งแรกของไทย

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือ คุณหญิงโม ย่าโม หน้าประตูชุมพล
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือคุณหญิงโม ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียก "ย่าโม" ตั้งอยู่หน้าประตูชุมพล (ภาพจาก เพจ Matichon Tour)

ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) หรือ “ย่าโม” เป็นที่เคารพนับถือของชาวโคราชอย่างยิ่ง มีการสร้าง “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” ขึ้นที่หน้าประตูชุมพล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอนุสาวรีย์ย่าโมนี้ ถือเป็น “อนุสาวรีย์สามัญชน” แห่งแรกของไทยก็ว่าได้

ท้าวสุรนารี เป็นสตรีสามัญชน มีเรื่องเล่าสืบมาว่าใน “ศึกเจ้าอนุวงศ์” สมัยรัชกาลที่ 3 ท้าวสุรนารีมีบทบาทเป็นผู้นำในการต่อต้านการรุกรานของเจ้าอนุวงศ์ที่โคราช ซึ่งด้วยไหวพริบอันเฉียบแหลมของท้าวสุรนารี ทำให้ทหารของเจ้าอนุวงศ์ไม่สามารถรุกเข้ากรุงเทพฯ ได้

Advertisement

วีรกรรมของท้าวสุรนารีจึงได้รับการยกย่อง กระทั่งนำสู่การสร้างอนุสาวรีย์ในที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ เล่าประเด็นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี “อนุสาวรีย์สามัญชน” ไว้ในหนังสือ “การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม โดยเน้นความเสมอภาคในสังคม ซึ่งเป็น 1 ในหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

งานศิลปกรรมยุคนั้น โดยเฉพาะงานประติมากรรมจะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยลักษณะงานที่เน้นแสดงออกถึงลีลาและท่าทีขึงขัง ดุดัน ถ้าเป็นภาพปั้นรูปคนก็จะดูกำยำ แสดงท่าทางเคลื่อนไหวเต็มไปด้วยพลังแข็งแรง และมักเป็นการปั้นรูปคนธรรมดาสามัญ วิถีชีวิตชาวบ้านชาวนาธรรมดา หรือไม่ก็ทหาร ไม่นิยมปั้นเป็นรูปเทพเทวดาหรือวีรบุรุษทางประวัติศาสตร์ ที่ส่วนใหญ่เป็นกษัตริย์แต่อย่างใด

เรื่องนี้ปรากฏหลักฐานในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” ตามที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งมีการปั้น “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” ว่า

“…เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจแล้วได้แนะนำว่า เราไม่รู้จักหน้าตาเป็นอย่างไรไม่รู้ ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า… มาเมื่อก่อนหน้าที่จะเขียนหนังสือถวายนี้ไปเห็นปั้นตัวเบ้อเร่ออย่างที่ทูลมา ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นรูป Allegory แกบอกว่าเขาไม่เอา…”

อ. ชาตรี บอกว่า เหตุที่รัฐบาลไม่ต้องการจะปั้นรูปท้าวสุรนารีให้เป็นรูปเทวดานางฟ้านั้น น่าจะมาจากรูปแบบดังกล่าวไม่สามารถสื่อความหมายของสามัญชนได้ และการปั้นรูปเทวดานางฟ้าย่อมหนีไม่พ้นจะต้องปั้นด้วยลักษณะเครื่องประกอบตกแต่งอันวิจิตรตระการตาสมกับเป็นเทพ

ภาพลักษณ์ดังกล่าว คณะราษฎรย่อมไม่ต้องการ แม้แต่จะปั้นเป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง มีเครื่องยศพานหมากกระโถน อันแสดงออกถึงยศศักดิ์ประกอบอยู่ข้างๆ ก็ยังไม่ได้ สุดท้ายจึงเป็นเพียงรูปผู้หญิงยืนโดยไม่มีเครื่องยศประกอบ

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และ พระเทวาภินิมมิต ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวโคราช สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2476

ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร หน้าประตูชุมพล (ประตูเมืองนครราชสีมาด้านทิศตะวันตก) มีพิธีเปิดในช่วงต้น พ.ศ. 2477

พ.ศ. 2475-2481 เป็นช่วงเวลาที่ อ. ชาตรี เห็นว่า ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากสุดช่วงหนึ่ง ก่อนจะถูกปกครองด้วยระบบกึ่งเผด็จการในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ระยะเวลา 6 ปีนั้น มีอนุสาวรีย์ที่ริเริ่ม 3 แห่ง แต่สำเร็จลุล่วงจริงมี 2 แห่ง คือ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่โคราช และ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ (อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ) ที่หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ส่วนอนุสาวรีย์ที่ริเริ่มแต่ไม่สามารถสร้างได้ คือ อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ที่วงเวียนใหญ่ (มาแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2492)

ด้วยเหตุนี้ อ. ชาตรี จึงสรุปว่า ภาพลักษณ์ความเป็นสามัญชนของท้าวสุรนารีผู้เป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ แต่สามารถสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่แก่ชาติบ้านเมืองได้นั้น…

“ช่วยส่งเสริมให้เห็นบทบาทแห่งความเป็นสามัญชนของคณะราษฎรที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศจากความล้าสมัยมาสู่ความเป็นสมัยใหม่ (ในมุมมองของคณะราษฎร) ได้เป็นอย่างดี”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :
ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2567