ในการประชุมระดับโลก รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ห้ามจนท. “จับมือทักทาย” กับคนจีน

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ
คณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ และ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในการประชุมกรุงเจนีวา เมื่อปี 1954

จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ จับมือทักทายกับชาวจีน ในการประชุมกรุงเจนีวา เมื่อปี 1954 สาเหตุเพราะอะไร?

การประชุมกรุงเจนีวา ค.ศ. 1954 เป็นการประชุมเพื่ออภิปรายแก้ปัญหาเกาหลีโดยสันติวิธี และปัญหาการฟื้นฟูสันติภาพในอินโดจีน

Advertisement

ทว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา คือ นี่เป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกที่ “จีน” กับ “สหรัฐอเมริกา” คู่ปรปักษ์ นั่งร่วมโต๊ะเจรจากัน

สถานการณ์เวลานั้นไม่ว่าจะเป็น บทบาทในเวทีโลก, บารมีทางการเมือง หรือ อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ จีนเทียบอเมริกาไม่ได้เลย

สายตาหลายคู่จับจองมาที่ โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศจีน เพราะตั้งแต่จีนประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 โจวเอินไหลพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ

จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ

ขณะที่ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายอเมริกัน ดำเนินนโยบายแข็งกร้าว ด้วยท่าทีที่ตั้งตนเป็นศัตรู และไม่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในการประชุมที่เจนีวาครั้งนั้น สมาชิกของคณะผู้แทนพบหน้ากันอยู่ในห้องประชุมเกือบจะทุกวัน ดัลเลส กลับไม่อนุญาตให้สมาชิกในคณะผู้แทนของเขาติดต่อกับชาวจีน ทั้งกำชับให้สมาชิกคณะผู้แทนอเมริกันเมินเฉยต่อชาวจีน หากต้องพบหน้ากันระหว่างการประชุม

ทั้งมีข่าวร่ำลือกันว่า ดัลเลสปฏิเสธที่จะสัมผัสมือกับโจวเอินไหล ซึ่งพบกันโดยบังเอิญที่ห้องพักผ่อนในอาคาร

หลังจากการประชุมใหญ่ครั้งแรกของการประชุมเจนีวาผ่านไป คณะผู้แทนของสหรัฐฯ ก็เปลี่ยนหัวหน้าคณะเป็น นายพลวอลเตอร์ บีเดล สมิท เสนาธิการใหญ่ของไอด์เซนฮาวในยามสงคราม แต่ท่าทีของสหรัฐฯ ยังคงเป็นเช่นเดิม

ช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของการประชุมเจนีวา นายพลสมิทที่ดูเหมือนจะมีท่าทีที่ผ่อนปรนลง เป็นฝ่ายเริ่มต้นสนทนากับล่ามของโจวเอินไหลในห้องบาร์เหล้า เป็นท่าทีที่มีความหมาย โจวเอินไหลรู้สึกว่า คณะผู้แทนสหรัฐฯ ไม่ได้มีท่าทีต่อจีนเช่นเดียวกับดัลเลส

วันรุ่งขึ้น โจวเอินไหล เห็นนายพลสมิทกำลังรินกาแฟอยู่ที่เคาน์เตอร์ โจวเอินไหลเดินไปหาและยื่นมือออกไปทักทาย หากนายพลสมิทแสดงอาการอึกอักอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนโต้ตอบอย่างรวดเร็ว โดยรีบเอามือขวายกถ้วยกาแฟขึ้นมา (มือซ้ายของเขาคีบซิการ์อยู่ตัวหนึ่ง) เป็นการจงใจแสดงให้เห็นว่า “มือทั้งสองของเขาไม่ว่าง” แต่ทั้งสองยังคงสนทนากันสั้นๆ

ไม่นานต่อมา ในเปิดการประชุมใหญ่ครั้งสุดท้าย โจวเอินไหลกำลังสนทนาอยู่กับคนอื่นในห้องพักผ่อน นายพลสมิทเดินตรงเข้าไปทักทายโจวเอินไหล นายพลสมิทกล่าวถึงการประชุมว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และกล่าวชื่นชมความสามารถทางการทูตของโจวเอินไหลว่าน่าประทับใจอย่างยิ่ง ทั้งมีความยินดีที่ได้รู้จักโจวเอินไหล

โจวเอินไหลตอบกลับว่า “คราวก่อนที่เราพบหน้ากัน ผมเป็นคนยื่นมือให้คุณก่อนไม่ใช่หรือ?”

นั่นทำให้นายพลสมิทนึกถึงท่าทีของตนเอง ที่พยายามทำให้ “สองมือไม่ว่าง” ด้วยรู้สึกขัดเขินในใจ

เหตุที่นายพลสมิทหัวหน้าคณะของคณะผู้แทนอเมริกา พยายามเลี่ยงไม่จับมือทักทายกับโจวเอินไหล เพราะยังยึดติดกับคำสั่งของดัลเลส ที่ไม่อนุญาตให้จับมือทักทายกับชาวจีน

คำสั่งห้ามของดัลเลสถูกทลายลง ด้วยการไกล่เกลี่ยของ ฮัมฟรีย์ ดูวิลเลียม อุปทูตอังกฤษประจำกรุงปักกิ่งที่มาเข้าร่วมการประชุมด้วย คณะผู้แทนจีน-สหรัฐฯ พบปะกัน เพื่ออภิปรายวาระการเจรจาในเรื่องการส่งคนของทั้งสองฝ่ายที่ถูกกักตัวเอาไว้กลับประเทศ และตามมาด้วยการพบปะเจรจาระดับเอกอัครราชทูตของทั้งสองฝ่ายในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ฟางจี้เฉิง, เจียงกุ้ยหนง-เขียน, บุญศักดิ์ แสงระวี-แปล. โจวเอินไหล ฝากชื่อไว้ในแผ่นดิน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พิมพ์ครั้งที่ 2 ธันวาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2567