ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลายคนอาจเคยได้ยินพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ซึ่งเป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช มีอำนาจรองลงมาจากพระเจ้าแผ่นดิน ที่ในสมัยรัตนโกสินทร์มี 6 พระองค์ แต่อาจไม่คุ้นพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ “วังหลัง” กันเท่าใดนัก ซึ่งตำแหน่งวังหลังในสมัยรัตนโกสินทร์มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น คือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์
กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ถือศักดินา 15000 เป็นตำแหน่งรองจาก กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งถือศักดินา 100000 ปรากฏตำแหน่งวังหลังมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีการสถาปนาวังหลังครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา
หน้าที่ของวังหลัง คือ เสด็จไปปฏิบัติราชการสงครามแทนพระมหากษัตริย์ หรือถ้าพระมหากษัตริย์และวังหน้าเสด็จฯ ในราชการสงคราม วังหลังก็จะทรงทำหน้าที่รักษาพระนครให้เรียบร้อยแทนพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ก็ปฏิบัติงานตามแต่จะมีรับสั่ง
วังหลังยังเป็นคำที่ใช้เรียกที่ประทับของผู้ดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เหตุที่เรียกว่าวังหลัง เพราะสมัยนั้น “วังสวนหลวง” เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถมาตั้งแต่พระราชบิดา คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ยังทรงครองราชสมบัติ และที่ตั้งวังสวนหลวงก็อยู่ด้านหลังพระราชวังหลวงนั่นเอง
สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี เป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เมื่อ พ.ศ. 2329 หลังจากทำความดีความชอบรบในสงครามเก้าทัพ
ที่ตั้งของวังหลังไม่ได้อยู่ด้านหลังพระราชวังหลวงเหมือนกรุงศรีอยุธยา แต่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามพระราชวังหลวง อันเป็นบริเวณนิเวศน์สถานเดิมของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศิริราชและสถานีรถไฟธนบุรีนั่นเอง
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ทิวงคตเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2349 พระชนมายุ 61 พรรษา ทรงเป็นวังหลังพระองค์แรกและพระองค์เดียวในสมัยรัตนโกสินทร์
เพราะหลังจากนั้น ไม่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใดดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขอีก
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จักพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล “วังหน้า” ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป
- “พระแสงราวเทียน” ของ “วังหน้าพระยาเสือ” สมบัติชาติที่สูญหาย คืนสู่วัดมหาธาตุฯ
- สำรวจ “วังหลัง-พรานนก” ย่าน “อาหารใต้” ทศวรรษก่อน กับร้านที่ พล.อ. เปรม ต้องมาเหมา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน. “วังหลัง (๑๕ มกราคม ๒๕๕๒)”. https://bit.ly/4czFHmE.
พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า). กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2558.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2567