“หมวกใบสุดท้าย” อับราฮัม ลินคอล์น ในคืนถูกลอบสังหาร ที่ถูกเก็บเป็นความลับถึง 26 ปี

อับราฮัม ลินคอล์น หมวกทรงสูง หรือ หมวกลินคอล์น สวมใส่ ไป โรงละครฟอร์ด
อัมบราฮัม ลินคอล์น และหมวกใบสุดท้ายที่เขาสวมใส่ไปยังโรงละครฟอร์ด วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1865 (ภาพ : public domain ทั้งหมด)

อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 16 ผู้ประกาศเลิกทาสในสหรัฐฯ มีเอกลักษณ์ที่หลายคนจดจำคือ การสวมใส่ “หมวกทรงสูง” แทบจะทุกโอกาส หลายคนจึงเรียกหมวกทรงนี้ว่า หมวกลินคอล์น รวมทั้งวาระสุดท้ายที่ “โรงละครฟอร์ด” ใน ค.ศ. 1865 สถานที่ที่ลินคอล์นถูกลอบสังหาร เขาก็ยังปรากฏตัวโดยสวมหมวกทรงสูง

อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln, ค.ศ. 1809-1865) เป็นเจ้าของความสูง 6 ฟุต 4 นิ้ว หรือราว 193 เซนติเมตร แต่ถึงจะสูงขนาดนี้ เขาก็ยังโดดเด่นกว่าใครเข้าไปอีกด้วยหมวกทรงสูง (stovepipe hat)

ลินคอล์นเริ่มสวมหมวกทรงนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ช่วงแรกที่เริ่มสวมใส่ มีนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า ลินคอล์นใช้หมวกเพื่อเป็นสีสันให้คนจำได้ และต่อมาก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของเขาในที่สุด

เขาปรากฏตัวพร้อมหมวกทรงสูงในวาระต่างๆ ทั้งการพบปะประชาชน ประชุมกับนักการเมืองหรือบุคคลสำคัญทั้งหลาย ในช่วงเวลาทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เรียกได้ว่าจะเวลาไหนก็มักเห็นลินคอล์นพร้อมหมวกทรงสูงอยู่เสมอ จนหลายคนเรียกหมวกทรงนี้ว่า “หมวกลินคอล์น”

หมวกทรงสูง ส่วนใหญ่ทำจากผ้าไหม มีความสูง 7-8 นิ้ว หรือประมาณ 17.5-20 เซนติเมตร หน้าที่ของมันในศตวรรษที่ 19 ไม่เพียงเป็นเครื่องแต่งกายที่ช่วยส่งเสริมบุคลิกของผู้สวมใส่ แต่ยังสะท้อนถึงความเป็นสุภาพบุรุษ ความสง่างาม น่าเคารพ และยังมีนัยถึงอำนาจอีกด้วย

สำหรับลินคอล์น หมวกทรงสูงยังมีหน้าที่เพิ่มมาอีก คือเป็นเสมือน “กระเป๋าเอกสารใบจิ๋ว” เพราะเขามักเหน็บจดหมายหรือเอกสารไว้ที่ขอบหมวก ปรากฏหลักฐานเรื่องนี้ในจดหมายของเขาเมื่อปี 1850 ว่า

“ข้าพเจ้าละอายใจที่ไม่ตอบจดหมายของท่านให้เร็วกว่านี้ จึงขอส่งคำขออภัยมาพร้อมจดหมายฉบับนี้ ประการแรก ข้าพเจ้ามัวแต่วุ่นอยู่กับเรื่องศาลสหรัฐ และประการที่สอง เมื่อข้าพเจ้าได้รับจดหมายก็ได้นำมันใส่ไว้ในหมวกใบเก่า และซื้อหมวกใบใหม่ในวันถัดไป ทำให้หมวกใบเก่ากลายเป็นหมวกสำรองไปเสีย จดหมายจึงห่างจากสายตาข้าพเจ้าไปช่วงหนึ่ง”

ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 16 มีหมวกทรงสูงหลายใบ แต่ใบซึ่งเป็นที่จดจำและเป็นประวัติศาสตร์มากที่สุด คือ หมวกผ้าไหมใบที่เขาได้มาจาก เจ. วาย. เดวิส (J. Y. Davis) ช่างทำหมวกที่กรุงวอชิงตัน เป็นใบที่คาดด้วยผ้าไหมสีดำ เพื่อรำลึกถึง “วิลลี” ลูกชายของลินคอล์นที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้รากสาดน้อยในวัยเพียง 12 ปี

หมวกใบนี้เป็นใบสุดท้ายในชีวิตของลินคอล์น เพราะเขาสวมใส่ไป “โรงละครฟอร์ด” (Ford’s Theatre) เมื่อวันที่ 14 เมษายน ปี 1865 ซึ่งเป็นวันที่เขาถูกลอบสังหาร

คืนนั้นลินคอล์นเดินทางไปโรงละครฟอร์ด เพื่อชมการแสดงละครเวทีเรื่อง Our American Cousin ที่มี จอห์น วิลก์ส บูธ (John Wilkes Booth) เป็นหนึ่งในนักแสดง ทันใดนั้นเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อบูธซึ่งมีแนวคิดต่อต้านการเลิกทาส ควักปืนขึ้นมายิงลินคอล์น กระสุนพุ่งเข้าศีรษะทำให้บาดเจ็บสาหัส

อาการของเขาแย่ลงเรื่อยๆ กระทั่งเสียชีวิตเมื่อเวลา 07.22 น.วันที่ 15 เมษายน

“หมวกทรงสูง” ที่ลินคอล์นสวมใส่ ไม่ได้ถูกกระสุนเจาะเพราะเขาถอดวางไว้ และในช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวาย หมวกใบนี้ตกอยู่บนพื้นข้างเก้าอี้ที่ลินคอล์นนั่งอยู่นั่นเอง

หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร กระทรวงการสงครามสหรัฐ (War Department-ปัจจุบันยุบไปแล้ว) ได้เก็บรักษาหมวกและสิ่งของอื่นๆ ที่หลงเหลืออยู่ที่โรงละครฟอร์ด ก่อนจะส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น โดยได้รับอนุญาตจาก แมรี ลินคอล์น (Mary Lincoln) ภริยาของลินคอล์นผู้ล่วงลับ จากนั้นในปี 1867 ก็ส่งต่อไปยังสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution)

หมวกลินคอล์น ใบดังกล่าว ถูกเก็บรักษาไว้ในคลังใต้ดินของสถาบันสมิธโซเนียนอย่างเงียบๆ ถึง 26 ปี โดยไม่แพร่งพรายให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ เพราะขณะนั้นผู้คนยังตื่นเต้นกันอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

กระทั่งปี 1893 มีการนำหมวกของ “อับราฮัม ลินคอล์น” ไปจัดแสดงนิทรรศการ หมวกใบประวัติศาสตร์จึงปรากฏต่อสายตาชาวโลกนับแต่นั้น

หมายเหตุ : หมวกลินคอล์นที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน บางใบก็มีผู้เชี่ยวชาญนำไปวิเคราะห์หลักฐานและตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ และพบว่าไม่ใช่ของลินคอล์น เช่น หมวกทรงสูงสีน้ำตาลช็อกโกแลต ทำจากขนบีเวอร์ มูลค่า 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจัดแสดงที่ The Abraham Lincoln Presidential Library and Museum ในเมืองสปริงฟีลด์ รัฐอิลลินอยส์ ทำให้พิพิธภัณฑ์ต้องค้นคว้าข้อมูลต่อไปว่าตกลงเป็นของลินคอล์นจริงหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Abraham Lincoln’s Top Hat”. https://www.si.edu/object/abraham-lincolns-top-hat%3Anmah_1199660. Access 20 March 2024.

Stephen L. Carter. “Abraham Lincoln’s Top Hat: The Inside Story”. https://www.smithsonianmag.com/history/abraham-lincolns-top-hat-the-inside-story-3764960/. Access 20 March 2024.

“Front Hallway”. https://www.abrahamlincolnonline.org/lincoln/gallery/hallway.htm. Access 20 March 2024.

“Questions Raised About US Museum’s Abraham Lincoln Hat”. https://www.voanews.com/a/questions-illinois-museum-abraham-lincoln-hat/4581814.html. Access 20 March 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2567