ผู้เขียน | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
อับราฮัม ลินคอล์น รัฐบุรุษผู้ประกาศเลิกทาส น่าเกรงขาม มีเมตตา ยึดมั่นในอุดมคติ มีความอดทน มีความคิดหลักแหลม แต่อีกด้านของเหรียญ ลินคอล์นมีอาการซึมเศร้า ก่อนเข้ารับตําแหน่งประธานาธิบดีในปี 1861 เป็นคนขรึมเศร้า ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวน โมโหร้าย ฯลฯ
อาการเจ็บป่วยทางจิตเกิดจากเรื่องเศร้าที่ประสบอยู่เป็นระยะๆ ในช่วงต้นของชีวิต จากการสูญเสียบุคคลในครอบครัว และคนรักดังนี้ เมื่อลินคอล์น อายุ 3 ปีเสียน้องชายที่ยังเป็นทารก, 9 ปีเสียแม่, ป้า และลุง, อายุ 18 ปีเสียพี่สาว, อายุ 26 ปี คนรักคนแรกจากเขาไป, อายุ 32 ปี แมรี่ ท็อดด์ ภรรยาของเขาบอกเลิกในวันปีใหม่ ฯลฯ
เพื่อต่อสู้กับความรู้สึกสิ้นหวัง ลินคอล์นใช้วิธีกินยารักษาอาการป่วยทางกายที่เกิดจากจิตใจ ซึ่งในศตวรรษที่ 18 ใช้เรียก อาการ “หวาดระแวงและอารมณ์ซึมเศร้า” อาการนี้แพทย์มักลงความเห็นว่าเกิดจากลําไส้ทํางานผิดปกติ
จอห์น ท็อดด์ สจ๊วร์ต เป็นเพื่อนทนาย และลูกพี่ลูกน้องของแมรี่ ภรรยาของลินคอล์น อ้างว่าตนเป็นผู้แนะนำให้ลินคอล์นลองกินยาที่ชื่อ “บลูแมส” (blue mass) เพื่อรักษาอาการซึมเศร้า ยาดังกล่าวมีส่วนผสมของสารปรอท ซึ่งถูกจัดว่าเป็นพิษต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง หากยาบูลแมส 1 เม็ดมีปรอทผสมอยู่ถึง 65 มก. ซึ่งมากกว่าปริมาณสูงสุดของปริมาณที่ปัจจุบันอนุญาตให้ร่างกายได้รับหลายพันเท่าสารปรอทส่วนใหญ่
ดร.โรเบิร์ต จี. เฟลด์แมน ศาสตราจารย์ด้านเภสัชศาสตร์และประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยบอสตัน หนึ่งนักวิจัยที่ศึกษาทดสอบความเป็นพิษของยานี้ ยืนยันว่า “พิษของสารปรอทอาจเป็นคําอธิบายอาการทางประสาทของลินคอล์นซึ่งรู้กันอยู่แล้ว ได้แก่ นอนไม่หลับ ชักกระตุก และคลุ้มคลั่ง”
เฮนรี่ เคลย์ วิทนีย์ เพื่อนของลินคอล์น กล่าวว่า เมื่อครั้งฝึกหัดเป็นทนายเวลาโกรธ ลินคอล์นจะ “ดูน่าเกรงขาม และเกรี้ยวกราดจนน่าตกใจ” ในการประชุมสภาคองเกรส ครั้งหนึ่งเมื่อค.ศ. 1858 ลินคอล์นโกรธจนคุมอารมณ์ไม่อยู่ และคว้าตัวอดีตผู้ช่วยทนายมาเขย่าจนฟันกระทบกัน
ไม่มีผู้ใดรู้แน่นอนว่าท่านประธานาธิบดี รับประทานยาเข้าไปมากหรือบ่อยเพียงใด
สิ่งที่ทราบก็คือ ลินคอล์นตัดสินใจหยุดยาบูลแมสเมื่อแรกเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จอห์น ท็อดด์ สจ๊วร์ตบันทึกว่าลินคอล์นกล่าวว่ายาทำให้เขา “โมโห” แต่อาการป่วยของเขาไปไกลเกินกว่าจะเยียวยา และอาจต้องการยามากขึ้น หากเมื่อเป็นอิสระจากฤทธิ์ยาบูลแมส ลินคอล์นทำให้เห็นว่า เขาเป็นผู้นำที่สุขุม เข้มแข็ง เป็นกำลังใจและนำฝ่ายสหภาพสู่ชัยชนะ หลายปีในสงครามกลางเมืองลินคอล์นก็ได้รับการยกย่องในฐานะผู้นำที่มีความทรหดอดทน
ข้อมูลจาก
เรื่องจริงนอกบันทึกประวัติศาสตร์. บริษัท รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย) จำกัด, กรกฎาคม 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2565