“พระที่นั่งพุทไธสวรรย์” ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อ แล้วชื่อเดิมคืออะไร?

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพ : fb สำนักหอสมุดแห่งชาติ)

“พระที่นั่งพุทไธสวรรย์” ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ด้านในประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมือง พร้อมจิตรกรรมล้ำค่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางพุทธประวัติและสอดแทรกสภาพสังคม ประเพณี และระเบียบแบบแผนในสมัยนั้น แต่รู้หรือไม่ว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ชื่อเดิม ที่เรียกขานกันมาก่อนคืออะไร แล้วเหตุใดจึงเปลี่ยน?

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จากประวัติแล้ว สร้างขึ้นโดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อทำการพระราชพิธีต่าง ๆ โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ชื่อเดิม คือ “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์”

ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ทรงเปลี่ยนชื่อพระที่นั่งแห่งนี้ให้เป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ดังที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

เหตุผลที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนชื่อพระที่นั่งแห่งนี้ เป็นไปได้ 3 ประการ ซึ่งกรมศิลปากรได้วิเคราะห์ออกมา ดังนี้…

“ประการแรก เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีชื่อที่ใกล้เคียงกับพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ดังนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจึงเปลี่ยนนามพระที่นั่งองค์นี้เพื่อให้แตกต่างไป

ประการที่ 2 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยขึ้นใหม่ ดังนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อให้คล้องจองกัน

ประการสุดท้าย หลังจากการสร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระองค์ทรงย้ายพระแท่นเศวตฉัตร ซึ่งเดิมอยู่ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ไปไว้ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระองค์คงมีพระราชดำริให้พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดังที่เคยเป็น จึงเปลี่ยนนามพระที่นั่งใหม่เป็น ‘พระที่นั่งพุทไธสวรรย์’”

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีการเปลี่ยนพระนามใหม่เป็นชื่อที่เราคุ้นหูกันในปัจจุบันนั่นเอง

ต้อนรับสงกรานต์! กราบพระพุทธสิหิงค์ เสริมสิริมงคลก่อนใคร พร้อมทอล์กสนุกๆ จาก “ศิริพจน์-คมกฤช” 28 มี.ค. นี้ เวลา 13.00-15.00 น. ที่ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ฟรี !!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.finearts.go.th/storage/contents/detail_file/HTr56om8BnBQcmGU2S86KvUaZgvd52gs8fqCpCrR.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2567