ตำนานความเชื่อเรื่อง “ข้าว” ค้นต้นตอของวลี “อย่าทานข้าวเหลือ แม่โพสพจะเสียใจ”

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดเสมียนนารี

…สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม วิถีชีวิตชาวบ้านไทยผูกพันอยู่กับการทำนาปลูกข้าว มีเรื่องเล่ามากมายเล่าถึงตำนานความเชื่อเรื่อง ข้าว ดังตัวอย่างตำนานข้าวในสำนวนมุขปาฐะสำนวนหนึ่งที่ชาวบ้านเล่ากันในชุมชนบ้านดอนดู่ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม (จารุวรรณ ธรรมวัตร 2536 : 5-6) ว่า

“ณ ชุมชนทวีปอุทยานของพญานาคมีข้าวเกิดขึ้น ต่อมาหญิงหม้ายคนหนึ่งใช้ไม้คานทุบเมล็ดข้าวใหญ่ให้แตกกระจาย บางส่วนของเมล็ดข้าวตกบนภูเขาเกิดเป็นข้าวไร่ บางส่วนของเมล็ดข้าวตกในน้ำเกิดเป็นข้าวนาดำชื่อนางโพสพ นางโพสพน้อยใจที่ถูกหญิงหม้ายตีจึ่งหนีไปอยู่ในถ้ำในป่า ตั้งแต่นั้นมามนุษย์จึงไม่มีข้าวกินนับพันปี วันหนึ่งลูกเศรษฐีหลงทางไปในป่าไปพบแม่โพสพ ลูกเศรษฐีจึงอ้อนวอนแม่โพสพกลับคืนสู่เมืองมนุษย์ และชวนให้มนุษย์ยกย่องนางเป็นเทพธิดา หลังจากที่มีข้าวอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง มีชายโลภมากเก็บข้าวไว้ในครอบครองแต่ไม่แบ่งให้ผู้อื่นกิน แม่โพสพจึงหนีกลับไปอยู่ในถ้ำอีก มนุษย์ก็ไม่มีข้าวกินหลายร้อยปี เทวดาอ้อนวอนให้แม่โพสพกลับไปโลกมนุษย์และสอนให้มนุษย์นับถือและดูแลแม่โพสพให้ดี”

มีตำนานข้าวอีกสำนวนหนึ่งที่นักมนุษยวิทยาชื่อทัมไบยาห์ (Tambiah 1970 : 351-356) อ้างถึงว่าเป็นสำนวนลายลักษณ์อักษรอยู่ในหนังสือผูก ใช้ในงานบุญที่อุดรธานี ถอดข้อความเป็นภาษาไทยและสรุปความมาได้ว่า

“ในสมัยพระยาวิรูปักษ์ ข้าวเกิดขึ้นเองในสวน ต้นข้าวในสมัยนั้นใหญ่กว่ากำปั้นมนุษย์ 7 เท่า เมล็ดข้าวก็ใหญ่กว่ากำปั้นมนุษย์ 5 เท่า เมล็ดข้าวสุกสว่างดั่งเงินและมีกลิ่นหอม เมื่อพระยาวิรูปักษ์ลงมาเกิดในสมัยพระเจ้ากุกุสันโธ ก็เอาข้าวลงมาในเมืองมนุษย์ด้วย ได้ใช้ข้าวหุงให้พระเจ้ากุกุสันโธฉันและมนุษย์ก็ได้หุงข้าวกินตั้งแต่นั้นมา ต่อมาในสมัยพระโกนาคม เมล็ดข้าวเล็กลงขนาดเพียง 4 เท่ากำปั้นมนุษย์ ใยสมัยนั้นมีหญิงหม้ายคนหนึ่งแต่งงานมา 7 หน ไม่มีลูกไม่มีหลาน แกสร้างยุ้งข้าวทำให้ข้าวมาเกิดใต้ยุ้งมากมาย แม่หม้ายจึงตีข้าวด้วยไม้ เมล็ดข้าวจึงแตกหักและปลิวไปตกในป่าบ้าง เกิดเป็นข้าวดอยไปตกในน้ำบ้าง ข้่าวที่ตกในน้ำชื่อพระนางโพสพ พระนางโพสพอาศัยอยู่ร่วมกับปลาในหนองน้ำ ด้วยความที่โกรธมนุษย์จึงไม่กลับไป มนุษย์ก็อดอยากไป 1,000 ปี

ต่อมามีลูกชายเศรษฐีไปเที่ยวป่าและหลงทางจนมาถึงหนองน้ำและนั่งลงร้องไห้ ปลากั้งปลอบโยนลูกชายเศรษฐี และนำนางพระโพสพมาให้ บอกให้นำไปดูแลมนุษย์และศาสนา นางพระโพสพเล่าให้ลูกชายเศรษฐีฟังเรื่องความใจร้ายของแม่หม้าย ลูกชายเศรษฐีอ้อนวอนในนางกลับไป แต่นางก็ไม่ยอม เทวดาสององค์ปลอมเป็นปลากับนกแก้วมาอ้อนวอนให้นางกลับไปดูแลมนุษย์และศาสนาเพราะพระพุทธเจ้าจะลงไปเกิดอีก

นางจึงกลับไปในสมัยพระกัสสโป และเป็นอาหารพระพุทธเจ้าและมนุษย์ต่อไป ครั้งนี้เมล็ดข้าวเล็กลงเท่ากำปั้นมนุษย์ ต่อมาถึงสมัยพระเจ้าศากยมุนีโคตมเมล็ดข้าวก็เล็กลงอีก แต่ยังมีกลิ่นหอมอยู่ ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้พันปี มีพระยาคนหนึ่งมีใจที่เต็มไปด้วยความโลภสั่งให้คนสร้างยุ้งข้าวและเก็บข้าวไว้เพื่อขายในภายหลังนางโพสพโกรธมากที่ีถูกขายจึงหนีไปอยู่กับเจ้าที่บนเขาที่บ้านหนองโททำให้คนอดอาหารตายไปอีก 320 ปี

คราวนี้มีตายายคู่หนึ่งกำลังจะตายด้วยความหิว เจ้าที่จึงสอนคาถาให้ตายาย ครั้งตายายว่าคาถานางพระโพสพก็เห็นใจ เจ้าที่หันไปจับปีกและหางของนาง ทำให้เมล็ดข้าวแตกหักเกิดเป็นข้าวนานาพันธุ์ คือ ข้าวขาว ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวปี ข้าวเดือน หลังจากนั้นนางพระโพสพกลั้นใจตายกลายเป็นหิน ตายายเอาข้าวพันธุ์ต่างๆ ไปปลูก เวลาปลูกได้รับความช่วยเหลือจากผีนา ตายยายจึงบูชาผีนาด้วยเหล้า เป็ด ไก่ ข้าว หมาก เสื้อผ้า เพชรพลอย กำไล แหวน ตายายปลูกข้าวได้มากมายแจกจ่ายข้าวไปให้ผู้คนในหลายๆ ประเทศกิน หลังจากที่ตายายมนุษย์ต้องถางป่าใช้ควายไถนาและดำนาอย่างที่ทำกันทุกวันนี้ ถ้าจะตำข้าวจะต้องทำพิธีขออนุญาตนางพระโพสพและเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วต้องทำพิธีสู่ขวัญข้าว”

ในอดีต ตำนานข้าวคงเป็นที่รับรู้อย่างดีในหมู่คนไทย และตำนานข้าวเรื่องนี้ก็เป็นที่มาของการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวในสังคมชาวนา พิธีแรกนาที่ต้องบูชาผีนาก็โยงได้กับความตอนท้ายในสำนวนลายลักษณ์ที่กล่าวถึงตายายได้รับความช่วยเหลือจากผีนาจนต้องบูชาเซ่นสรวง พิธีทำนาขวัญข้าวที่ทำเมื่อข้าวตั้งท้องตอนเริ่มออกรวงที่ชาวบ้านนิยมเอาหมาก พลู กล้วย อ้อย ส้มใส่ชะลอมเล็กๆ ไปไว้ในกลางนาก็เพราะคิดว่าถ้าแม่โพสพท้อง ก็คงเหมือนหญิงตั้งท้องที่ชอบทานของเปรี้ยวๆ พิธีทำนาขวัญข้าว พิธีบุญคูณลานทางอีสาน ก็คงมีที่มาจากในตำนาน

อาจกล่าวได้ว่า ตำนานข้าวเป็น “แม่บท” สำหรับความเชื่อและพิธีกรรมอันเนื่องด้วยข้าว ซึ่งล้วนแล้วแต่วางอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่าต้องปฏิบัติต่อแม่โพสพด้วยความเหมาะสมและด้วยความเคารพนับถือ คนไทยจึงมักสอนลูกหลานว่า “อย่าทานข้าวเหลือแม่โพสพจะเสียใจ” การสั่งสอนเช่นนี้แสดงว่าความเชื่อเรื่อง “แม่โพสพจะเสียใจ” ยังเป็นร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะไม่รู้จักตำนานข้าวที่เล่ามานี้

ในวัฒนธรรม ข้าว ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำในการปลูกข้าว ในอดีตยังไม่มีชลประทาน การทำนาใช้น้ำฝนเป็นหลัก ทำให้ชาวนาต้องพึ่งธรรมชาติ ปีใดฝนแล้ง หรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลชาวนาก็ลำบากจึงได้เกิดมีพิธีขอฝน ชาวอีสานเชื่อว่า ถ้าหากฝนแล้งฟังเทศน์เรื่อง พญาคันคาก แล้วฝนจะตก ตำนานเรื่อง พญาคันคาก จึงเป็นเรื่องที่พระสงฆ์ใช้สวดในพิธีขอฝน เรียกว่า “เทศน์พญาคันคาก” (จารุวรรณ ธรรมวัตร 2521 : 157-158) มีเรื่องย่อดังนี้ว่า

“พญาเอกราชเจ้าเมืองอินทปัตนคร เป็นกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมมีโอรสชื่อ พญาคันคาก ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะมีผิวหนังคล้ายคางคกแต่เป็นผู้มีบุญญาธิการมาก พญาคันคากขึ้นครองเมืองต่อจากพญาเอกราชประชาชนรักษาและบูชาพญาคันคากจนลืมบูชาพระยาแถน พระยาแถนจึงแกล้งไม่ให้ฝนตกลงมาในเมืองมนุษย์ พญาคันคากจึงยกทัพไปรบกับพระยาแถนบนเมืองสวรรค์ กองทัพปลวก มด กบ เขียด งู ผึ้ง ต่อ แตน พญาคันคากรบชนะแถนและบังคับแถนให้ส่งฝนลงมาตกในเมืองมนุษย์ให้ถูกต้องตามฤดูกาล”

ตำนานอีกเรื่องหนึ่งที่สัมพันธ์กับเรื่องการขอฝนอันทำให้เกิดงานบุญบั้งไฟ คือเรื่อง ท้าวผาแดง – นางไอ่ซึ่งกล่าวถึงพญาขอมมีธิดาชื่อนางไอ่ เมื่อถึงวัยที่จะมีคู่ ได้ป่าวประกาศให้เจ้าเมืองต่างๆ ทำบ้องไฟแข่งขัน ใครยิ่งบ้องไฟขึ้นไปได้สูงกว่า ก็จะได้อภิเษกกับนางไอ่ ท้าวภังคีโอรสพญานาคหลงรักนางไอ่ปลอมเป็นกระรอกเผือกมาร่วมในพิธีด้วย ภายหลังถูกฆ่าตายชาวเมืองเอาเนื้อกระรอกไปกินจนเกิดเมืองล่มเป็นตำนานเมืองหนองหาร และเมืองโบราณแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ชาวอีสานถือว่า เรื่องท้าวผาแดง-นางไอ่ เป็นต้นแบบและเป็นเหตุของการมีพิธีบั้งไฟสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ในท้องถิ่นมีนิทานและการละเล่น : การศึกษาคติชนในบริบททางสังคมไทย” เขียนโดย ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง (สำนักพิมพ์มติชน, 2537)


ปรับปรุงในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 28 มกราคม 2566