ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
หนึ่งในกอสซิปดังของประวัติศาสตร์ไทย ก็คือเรื่องที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ “ขอลูกสาวพระเจ้ากรุงปักกิ่ง” ซึ่งพระเจ้ากรุงปักกิ่งในช่วงเวลาดังกล่าวคือ จักรพรรดิเฉียนหลง
เรื่องนี้มีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด เชื่อถือได้แค่ไหน
กำพล จำปาพันธ์ ได้เรียบเรียงไว้ใน นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ในบทความชื่อว่า “การเมืองเรื่อง ‘กอสซิป’ เมื่อพระเจ้าตากขอเป็นราชบุตรเขยของเฉียนหลงหว่างตี้” โดยสืบหาหลักฐานในแวดวงนักประวัติศาสตร์ ที่ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อพิสูจน์เหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นแค่ “กอสซิป”
สารสิน วีระผล ผู้ศึกษาการค้าบรรณาการระหว่างสยามกับจีน กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “บันทึกของสยามระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงขอให้จีนส่งเจ้าหญิงจีนพระองค์หนึ่งไปถวาย แต่ไม่มีการอ้างถึงเรื่องนี้แต่อย่างใดในเอกสารของจีน นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อในเรื่องนี้ แม้ว่าจะไม่มีใครเขียนพิสูจน์ความไม่น่าเชื่อถือนี้ออกมาให้เห็นก็ตาม” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เจ้าของผลงาน “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” เคยตั้งข้อสังเกตว่า มีความรับรู้ตกทอดกันในวงศ์ตระกูลผู้สืบสายมาจากพระยาศรีธรรมโศกราช เกี่ยวกับ “ภารกิจลับ” คือการกราบทูลขอพระธิดาองค์หนึ่งของจักรพรรดิเฉียนหลง ที่ได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เมื่อครั้งจัดส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิเฉียนหลง พ.ศ. 2324 แต่ไม่ทันได้กราบบังคมทูลอย่างใดก็ต้องกลับมาเมืองไทยเสียก่อน เรื่องจึงมีอันต้องยุติไป
โดยนิธิตั้งประเด็นข้อสงสัยว่า เรื่องสำคัญเช่นนี้เหตุใดจึงต้องกระทำโดยทางวาจา มิได้มีพระราชสาส์น
บันทึกของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ดูระบุถึงการขอลูกสาวพระเจ้ากรุงปักกิ่งเอาไว้อย่างชัดเจน เช่นว่า “ให้แต่งสำเภาทรงพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าปักกิ่ง ว่าจะขอลูกสาวพระเจ้าปักกิ่ง ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชผู้เถ้ากับหลวงนายฤทธิ์ หลวงนายศักดิ์ เปนราชทูตหุ้มแพร มหาดเล็กเลวไปมาก แต่งเครื่องบรรณาการไปกล่าวขอลูกสาวเจ้าปักกิ่ง” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
แต่กรมหลวงนรินทรเทวีทรงพระนิพนธ์ผลงานชิ้นนี้ก็เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 แม้บันทึกของพระองค์อาจมีความแม่นยำในหลายเรื่อง ด้วยเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเหตุการณ์โดยตรง แต่เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นข้อมูลที่ทรงได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่มีผู้เล่าทำนอง “กอสซิป” กันในรั้ววัง
ยังมีเรื่องการพลาดหวังอกหักจากการเป็นราชบุตรเขย เป็นที่เล่ากันในหมู่คนในวังรุ่นต้นรัตนโกสินทร์อย่างสนุกครื้นเครงด้วยเป็นแน่ เพราะแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวทรงพระราชวิจารณ์บันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวี ก็มีข้อความตอนหนึ่งทรงระบุว่า “เรื่องขอลูกสาวเจ้าปักกิ่งนี้ เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าให้ฟัง”
แต่ก็น่าสังเกตด้วยว่า เหตุใดใน “พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีบทบาทในการชำระโดยตรง กลับไม่มีเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ขอลูกสาวพระเจ้ากรุงปักกิ่งนี้ด้วย
เรื่อง “ขอลูกสาวพระเจ้ากรุงปักกิ่ง” เคยเกิดขึ้นใน “ความทรงจำ” ของสังคมไทยก่อนหน้า นั่นคือ เรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็น “ตำนาน” แต่พระเจ้าสายน้ำผึ้งก็มีคุณสมบัติคล้ายกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ คือทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพื้นเพมาจากสามัญชนเหมือนกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อาจทรงยึดเอาพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็น “ไอดอล” และทรงเอาอย่าง
แต่หากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงเคยขอลูกสาวพระเจ้ากรุงปักกิ่ง เรื่องนี้น่าจะปรากฏในหลักฐานของคณะทูตที่เดินทางไปถวายเครื่องราชบรรณาการ ทว่าหลักฐานในกลุ่มนี้ที่เป็นสำเนาพระราชสาส์นเอง กลับไม่มีเรื่องนี้
หากพระยามหานุภาพ (เวลานั้นเป็นหลวงนายศักดิ์) หนึ่งในคณะทูต ประพันธ์ไว้ใน “นิราศกวางตุ้ง” ที่มีการอ้างอิงว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อาจมอบหมายให้คณะทูตไปเป็นเถ้าแก่ คือข้อความที่ว่า
“แม้นองค์พระธิดาดวงสมร จะเอกเอี่ยมอรชรสักเพียงไหน
แต่ได้ดูหมู่ข้ายังอาลัย ดังสายใจนี้จะยืดไปหยิบชม”
ทั้งนี้ หากหลวงนายศักดิ์ได้รับมอบหมายให้เป็น “เถ้าแก่” ก็ดูขัดแย้งกับบันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวีที่ระบุว่า เถ้าแก่คือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช หรือ “ออกญาพระคลัง” (เสนาบดีพระคลัง) สำหรับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หากทรงริอ่านจะเป็นราชบุตรเขย กลับให้ขุนนางชั้นนายเวรมหาดเล็กไปกราบทูลขอโดยทางวาจาเช่นนั้น
ตั้งแต่สถาปนากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ส่งคณะทูตไปสร้างสัมพันธไมตรีกับต้าชิงหลายครั้ง เมื่อศึกษาพระราชสาส์นที่ส่งไปยังราชสำนักจีน ที่แยกต่างหากจากบรรณาการพบว่าไม่ปรากฏเรื่องการทูลขอพระธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่ง จากเนื้อความพระราชสาส์นล้วนแต่เป็นผลประโยชน์ของบ้านเมืองทั้งสิ้น
เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หวังเป็นราชบุตรจักรพรรดิเฉียนหลง นั้นก็เป็นเพียงเรื่องที่ “เมกอัพ” กันขึ้นมา เป็นส่วนหนึ่งของ “แผนการปฏิวัติ” โค่นล้มราชบัลลังก์ในปลายสมัยธนบุรี ที่สำคัญยังเป็นการเบี่ยงเบนความสำเร็จในการส่งเครื่องราชบรรณาการแก่จีน จนได้รับการรับรองสถานะชอบธรรมจากราชสำนักจีน
ไม่แน่ว่า หากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ส่งเถ้าแก่ไปสู่ขอจริง จักรพรรดิเฉียนหลงที่ต้องการผูกไมตรีกับสยาม เพราะปัญหาสงครามกับพม่า พระองค์ก็อาจจะได้เป็นราชบุตรเขยขึ้นมาจริงๆ ก็ได้
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระเจ้าตากสิน ผู้ดีกรุงเก่า ลูกเจ้า หรือลูกจีนกันแน่?
- เขา (กล่าวหา?) ว่า “พระเจ้าตากสิน” เป็นบ้า! เปิดบันทึก-หลักฐานว่า “บ้า” อย่างไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2567