“สนุกนิ์นึก” นวนิยายของ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ที่ใช้ “วัดบวรฯ” เป็นฉากสำคัญ จนได้เรื่อง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นราชสกุล คัคณางค์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นราชสกุลคัคณางค์

“สนุกนิ์นึก” พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นนวนิยายไทยเรื่องแรกที่เขียนไม่จบ แต่ก็พิมพ์เผยแพร่แล้ว และถึงแม้จะไม่จบ ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้านายถึง 3 พระองค์ด้วยกัน 

สนุกนิ์นึก เผยแพร่ครั้งแรกในวชิรญาณวิเสศ เล่ม 1 แผ่น 28 วันที่ 6 เดือน 8 แรม 1 ค่ำ ปีจอ อัฐศก 1248 ตรงกับ พ.ศ. 2429 กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงพระนิพนธ์ตามแบบนวนิยายตะวันตก

นวนิยายเรื่องนี้ ที่อ้างถึงสถานที่จริงคือ “วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร” วัดที่กรมหลวงพิชิตปรีชากรเคยทรงผนวช ฉากแรกของสนุกนิ์นึกมีตัวละครชาย 4 คน ซึ่งบวชเป็นพระนั่งสนทนากันอยู่ที่บันไดหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ก่อนเวลาลงพระอุโบสถ

เรื่องที่สนทนาไม่ใช่หลักพระธรรมคำสอน หรือหนทางดับกิเลส หากเป็นเรื่อง “จะสึกดีหรือไม่” ที่พระรูปหนึ่งชื่อพระสมบุญยังคิดไม่ตก จึงนำมาหารือกับเพื่อนพระด้วยกัน ซึ่งตอนหนึ่งในสนุกนิ์นึกว่า

“พระสงฆ์ทั้ง 4 รูปนี้จะสึกพรรษาเดียวกันพร้อมกัน…พระทรัพยเปนคนอยู่ในกรมพระตำรวจ พระเข็มเปนเสมียนความ พระเหลงเปนบุตรจีน แต่พระสมบุญนั้นได้ความแต่ว่าอาไศรยแม่อิน…

แม่อิน เปนหญิงม่ายมั่งมีมาก เปนอุบาสิกาอยู่ในวัด มีความรักความประพฤติ และสติปัญญาของพระสมบุญ จึงรับอุปฐากมาจนได้อุปสมบถ แม่อินมีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อแม่จัน อายุได้ 16 ปี หมายใจว่าจะให้แก่พระสมบุญๆ ยังไม่รู้ตัว แม่อินจึงคิดอ่านในการที่พระสมบุญจะสึก

ส่วนพระสมบุญ ได้รู้สึก…(ข้อความไม่ชัดเจน)… ใจก็ยังลังเล…(ข้อความไม่ชัดเจน)…ก็เพียงเสมอหน้าพี่น้องที่ชั้นเดียวกัน แต่ทำอย่างไรถึงจะได้อย่างนั้น นั่นแหละเป็นความยากที่หนักที่ติดตัว ก็ตัวคนเดียวทุนรอนและที่สนับสนุนก็ไม่มี แม่อินก็เปนแต่ข้องด้วยความกรุณา ซึ่งจะเปนเหยื่อแก่ความโกรธจะทำลายได้ ไม่มีหลักถานอันใด แลแม่อินก็เปนแต่มีทรัพย์ มีทรัพย์อย่างเดียวไม่มีอื่น…

เพราะอย่างนี้ [พระสมบุญ] จึงไม่อยากจะสึก ด้วยเห็นแท้แน่แก่ใจว่า ผ้ากาสาวพัสตรเปนที่พึ่งของคนยาก ถึงไม่ทำให้ดีก็ไม่ทำให้ฉิบหาย ไม่ดิ้นไม่ขวนขวายแล้วไม่มีทุกข์ เปนที่พักที่ตั้งตัวของผู้แรกจะตั้งตัวดังนี้ แต่แม่อินก็พูดจาชักชวนอยากจะให้สึก ก็ไม่อาจขัดได้ ประการหนึ่งพวกพ้องเพื่อนฝูงเขาก็จะสึกไปหมดพร้อมกัน…”  (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

เจ้านายพระองค์แรกที่ “เดือดร้อน” คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเวลานั้นทรงเป็น “เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ” ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุของเรื่อง และ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” พระองค์ทรงปริวิตกในเรื่องนี้มาก ถึงกับตรัสว่า ไม่ทรงมีพระประสงค์จะเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ อีกต่อไป

เจ้านายพระองค์ที่ 2 ที่ “เดือดร้อน” คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบก็กริ้ว และทรงมีพระราชดำรัสตำหนิกรมหลวงพิชิตปรีชากร ที่ทรงใช้วัดบวรนิเวศสถานที่เกิดของเหตุของสนุกนิ์นึก ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านสงสัย, เสื่อมศรัทธา และเข้าใจผิด พระสงฆ์หรือวัดบวรนิเวศ ได้

ทั้งทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ มีใจความว่า พระองค์ทรงไม่สบายพระทัยอย่างยิ่ง เมื่อทรงทราบว่า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงวิตกกังวลกับเรื่องดังกล่าว ด้วยทรงมีพระชนมายุมากแล้ว ทั้งยังทรงมีสมณศักดิ์เป็นพระประมุขของสงฆ์ และทรงเป็นพระประยูรญาติผู้สูงศักดิ์อีกด้วย

เจ้านายพระองค์ที่ 3 ที่ “เดือดร้อน” เป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก กรมหลวงพิชิตปรีชากร เจ้าของพระนิพนธ์สนุกนิ์นึก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตำหนิ และทรงให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรอธิบายความจริงในเรื่องนี้ และเหตุที่ใช้วัดบวรนิเวศฯ เป็นสถานที่ดำเนินเรื่อง

หากเรื่องยังไม่ทันมีความคืบหน้าประการใด สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงทราบเรื่อง จึงทูลขอร้องให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสขอพระราชทานอภัยโทษให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร

อย่างไรก็ตาม การโปรดฯ ให้ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่ “แดนไกล” อย่างหัวเมืองลาวกาว ประจำอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ (พ.ศ. 2434) ก็อาจมีสนุกนิ์นึกเป็นสาเหตุ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร. “สนุกนิ์นึก” ใน,  วารสารวชิรญาณเศษ เล่ม 1/9 แผ่นที่1-38 มกราคม จงศ. 1247- ตุลาคม จ.ศ. 1248, มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2560.

นฤมล ง้าวสุวรรณ. “ชิ้นส่วนนวนิยยายเรื่อง ‘สนุกนิ์นึก’ และสถานภาพในวรรณกรรมไทย” ใน, วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม-ธันวาคม 2528).

หลง ใส่ลายสือ “รัชกาลที่ 5 เนรเทศน้องชาย เพราะถูก ‘เม้ม’ สาวเชียงใหม่” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567