ไขปริศนา “อเล็กซานเดอร์มหาราช” ตายอย่างมีเงื่อนงำ เพราะอะไรกันแน่!?

อเล็กซานเดอร์มหาราช
อเล็กซานเดอร์มหาราช ประทับบนเตียงก่อนสวรรคต (ภาพ: ภาพ: Photos.com via freeimages.com)

อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) หนึ่งในกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก สวรรคตวันที่ 13 มิถุนายน เมื่อ 323 ปีก่อนคริสตกาล ด้วยพระชนมายุราว 33 พรรษา มีผู้สันนิษฐานถึงสาเหตุการสวรรคตกันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าพระองค์ถูกลอบวางยาพิษ ถูกล่อลวงให้ทรงดื่มไวน์อย่างหนัก บ้างก็ว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์

หลายศตวรรษให้หลัง นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ก็สันนิษฐานว่า บางทีพระองค์อาจได้รับเชื้อมาลาเรีย หรือบางทีอาจเป็นปอดอักเสบ หรือไข้ไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย) ที่ระบาดหนักในกรุงบาบิโลน หรือไม่พระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์จริงๆ นั่นแหละ

แม้จะมีการคาดเดาถึงสาเหตุหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ หลังประกาศการสวรรคตไปแล้ว 6 วัน (นับจากวันที่ 13 มิถุนายน) พระบรมศพของพระองค์ก็ยังดูปกติเหมือนเมื่อครั้งยังมีพระชนมชีพ ผิวพรรณยังผ่องใส สีผิวยังไม่เปลี่ยน ดูแล้วก็เหมือนพระองค์ทรงหลับไปเท่านั้น

ยุคที่ยังไม่มีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เหมือนคนรุ่นหลายพันปีต่อมา สิ่งเดียวที่จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ก็คือ…

อเล็กซานเดอร์มหาราช ต้องเป็นเทพเจ้าแน่ๆ!

ตัดภาพมายุคปัจจุบัน เมื่อวิทยาศาสตร์และการแพทย์ก้าวหน้า เราจึงได้เห็นข้อสันนิษฐานใหม่ๆ ถึงสาเหตุการตายของมหาราชพระองค์นี้ แทนที่จะอธิบายด้วยหลักเหนือธรรมชาติอย่างที่เชื่อกันมา

ค.ศ. 2018 ดร. แคเธอรีน ฮอลล์ (Dr. Katherine Hall) อาจารย์อาวุโส คณะแพทยศาสตร์ดะนีดิน (Dunedin School of Medicine) มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ เสนอว่า อเล็กซานเดอร์มหาราช อาจติดเชื้อแบคทีเรีย จนประชวรด้วย “กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร” (Guillain-Barré syndrome)

อาการนี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือกึ่งเฉียบพลันเมื่อภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงแบบปวกเปียก มักเริ่มจากขา ลามขึ้นมาแขน จนกระทั่งถึงลำตัว มีอาการชาร่วมด้วย หากรุนแรงอาจถึงขั้นเป็นอัมพาต

หากพระองค์ทรงมีอาการเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่า อเล็กซานเดอร์มหาราชอาจยังคงมีพระชนมชีพในช่วงที่มีการประกาศการสวรรคต โดยแพทย์ที่ถวายการรักษาเข้าใจผิดไปว่า พระองค์ไม่ทรงหายใจแล้ว ซึ่งการไม่หายใจเท่ากับตาย ทั้งที่จริงผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร จะมีภาวะการหายใจตื้นและแผ่วมากๆ คือหายใจไม่เต็มปอด ไม่ลึกพอจะทำให้กระบังลมขยายตัวได้เต็มที่นั่นเอง

เรื่องนี้เข้าเค้าเหตุการณ์ก่อนที่พระองค์จะสวรรคต เพราะ อาร์เรียน (Arrian) ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ บันทึกว่า หลังจากพระองค์ประชวรด้วยพระอาการไข้อย่างหนักมา 10 วัน ก็มีการนำเหล่าทหารของพระองค์มาเข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย

(คราวนั้น) พระองค์ไม่สามารถตรัสอะไรได้อีกแล้ว… แต่ทรงพยายามอย่างหนักที่จะผงกพระเศียร และทักทายพวกเขาด้วยพระเนตรของพระองค์แทน” อาร์เรียน บันทึกไว้ ซึ่งหากพิจารณาแล้ว พระอาการของพระองค์ก็เข้าข่ายผู้ป่วยกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร

เมื่อประมวลความเป็นไปได้ที่วางอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์และการแพทย์เข้าด้วยกัน ฮอลล์ จึงเห็นว่า อเล็กซานเดอร์มหาราช อาจถูกฆาตกรรม (โดยที่คนทำก็ไม่รู้ว่าพระองค์ยังมีพระชนมชีพอยู่) ระหว่างขั้นตอนการดองพระบรมศพก็เป็นได้!

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกนี้ไม่มีไทม์แมชีนย้อนเวลากลับไปยังเหตุการณ์ต่างๆ ดังใจอยาก เราจึงไม่มีวันรู้เลยว่า สาเหตุที่แท้จริงของการสวรรคตคืออะไรกันแน่ ชีวิตของอเล็กซานเดอร์มหาราช จึงยังคงมีเรื่องราวให้น่าค้นหาอย่างไม่จบสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Matthias, Meg. “How Did Alexander the Great Really Die?”. Encyclopedia Britannica, 28 May. 2021, https://www.britannica.com/story/how-did-alexander-the-great-really-die. Accessed 19 February 2024.

Sarah Pruitt. “Alexander the Great Died Mysteriously at 32. Now We May Know Why” https://www.history.com/news/alexander-the-great-death-cause-discovery. Accessed 19 February 2024.

Burke A. Canha. “The death of Alexander the Great: malaria or typhoid fever?” https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15081504/. Accessed 19 February 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2567