“โฮเต็ลพญาไท” โรงแรมหรูรับลูกค้ากระเป๋าหนัก สมัยรัชกาลที่ 7

พระราชวังพญาไท โฮเต็ลพญาไท
พระราชวังพญาไท ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น "โฮเต็ลพญาไท" (ภาพจาก Pee2009 ใน https://th.m.wikipedia.org/)

โฮเต็ลพญาไท คือโรงแรมระดับลักชัวรีในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ปรับปรุง “พระราชวังพญาไท” ให้เป็นโรงแรมรับแขกกระเป๋าหนัก เพื่อลดภาระพระคลังข้างที่ในการดูแล พระราชวังพญาไท พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่เปิดได้ไม่ถึง 10 ปี ก็เป็นอันต้องปิดกิจการในยุคคณะราษฎร

ที่มาของการปรับ-แปลง พระราชวังพญาไทให้เป็นโรงแรม ต้องเล่าย้อนไปถึงการที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดมหกรรมนาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เพื่อประโยชน์ด้านการค้าขายกับต่างประเทศ พระราชทานนามมหกรรมนี้ว่า “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” กำหนดจัด 50 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ปี 2468 (นับปีใหม่แบบเก่า) ที่สวนลุมพินี

Advertisement

เมื่อเป็นมหกรรมครั้งใหญ่ ก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีโรงแรมรองรับชาวต่างชาติที่เข้ามาชมงาน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง แปลงพระราชวังพญาไทเป็น “โฮเต็ล” ทันสมัยชั้นเดอลุกซ์ เพื่อเปิดวันที่ 1 มกราคม ปี 2468 เนื่องจากทรงเห็นว่า กรมรถไฟหลวงมีความชำนาญและประสบความสำเร็จในกิจการโรงแรมรถไฟที่หัวหินมาก่อน

ต่ถึงที่สุด โฮเต็ลและสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องด้วยพระองค์สวรรคตไปเสียก่อน เมื่อ 26 พฤศจิกายน ปี 2468

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีนัก เพราะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และซบเซายาวมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธินจึงกราบทูลรัชกาลที่ 7 เรื่องการสร้างโรงแรม เพราะหากโรงแรมสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ก็จะช่วยรักษาพระราชวังพญาไทให้งดงามได้โดยไม่เป็นภาระของพระคลังข้างที่

พระคลังข้างที่จึงตกลงให้กรมรถไฟหลวงเช่าพระราชวังพญาไท ด้วยสัญญาเช่า 5 ปี กรมรถไฟหลวงจ่ายค่าเช่าครึ่งหนึ่งหลังหักค่าใช้จ่าย หากปีไหนขาดทุน พระคลังข้างที่ก็จะไม่คิดค่าเช่า

นี่เองเป็นที่มาของ “โฮเต็ลพญาไท” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “PHYA THAI PALACE” เปิดให้บริการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2468 จากนั้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ รัชกาลที่ 7 ก็เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงแรมอย่างเป็นทางการ

โฮเต็ลพญาไท ตั้งเป้ารับผู้เข้าพักได้ 72 คน ค่าบริการมีตั้งแต่วันละ 10 บาทไปจนถึง 120 บาท แต่ขณะนั้นรับได้ 40 คน ค่าบริการวันละ 13-14 บาท ภายในมีห้องต่างๆ ไว้รองรับกิจกรรมผู้เข้าพัก ซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ อย่างห้องพิพิธภัณฑ์ปรับเป็นเลานจ์ ห้องธารกำนัลเป็นห้องอาหาร ห้องเสวยเป็นห้องหนังสือพิมพ์และอุปกรณ์ถ่ายภาพ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์เป็นโถงเต้นรำ ฉายภาพยนตร์ หรือเป็นห้องประชุมใหญ่

ห้องที่ได้ชื่อว่าหรูหราสุดคือ Suite De Luxe B1 หรือ Royal Suite ในห้องบรรทมชั้น 3 พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ค่าใช้บริการวันละ 120 บาท ส่วนพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ แบ่งเป็นห้องพัก 19 ห้อง คิดค่าบริการวันละ 10-17 บาท พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส มีห้องพัก 7 ห้อง ค่าบริการวันละ 12-25 บาท นอกจากนี้ ยังมีตำหนักอื่นๆ ที่รับผู้เข้าพักได้อีกจำนวนหนึ่ง

โฮเต็ลพญาไทได้รับเสียงชื่นชมและกล่าวขานในหมู่ชาวต่างชาติและชนชั้นนำไทย ทั้งเรื่องความโอ่โถง สง่างาม เปี่ยมด้วยรสนิยม การให้บริการเป็นเลิศ รวมทั้งบรรยากาศโดยรอบที่เงียบสงบ เพราะตั้งอยู่ในท้องทุ่งที่อากาศสดชื่น เย็นสบาย

ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงที่พักสุดหรู แต่ยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของชนชั้นสูงและผู้มีฐานะ มีทั้งมาร่วมกิจกรรมจิบน้ำชายามบ่าย มาชมภาพยนตร์ที่จัดเป็นครั้งคราว หรือมาดินเนอร์ในเครื่องแต่งกายงดงามอีกด้วย

เพียงแค่ปีแรก โฮเต็ลพญาไทก็มีรายได้ถึง 185,292 บาท โดยรายได้หลักมาจากค่าอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็น 73% นอกนั้นเป็นค่าที่พัก และหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วมีกำไร 2,827 บาท อย่างไรก็ตาม กิจการรุ่งเรืองได้แค่ปีแรก เพราะหลังจากนั้นก็มีรายได้ลดลงเรื่อยๆ

โฮเต็ลพญาไทยืนหยัดมาจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2475 ก็เป็นอันปิดฉาก เหลือไว้เพียงตำนานเล่าขานเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2567