เผยแพร่ |
---|
พระราชวังพญาไท ถือเป็นอีกหนึ่งมรดกสำคัญของชาติในหลายด้าน จากรากฐานเดิมที่เป็นทุ่งพญาไท อันอุดมสมบูรณ์ด้วยสมัน กวางที่มีเขาสวยงาม กระทั่งกลายมาเป็นพระตำหนักพญาไทในพ.ศ. 2452 และมาสู่พระราชวังพญาไทอันงดงามในสมัยรัชกาลที่ 5 การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มต้นนั้นล้วนสะท้อนให้เห็นเส้นทางของประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับบริบทของประเทศอย่างมาก และในช่วงระยะสั้นๆ พื้นที่ในนั้นเคยปรากฏเป็นโฮเต็ล (โรงแรม) อันหรูหรางดงามอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายที่เส้นทางของกิจการไม่ได้ยาวนานนัก
พื้นที่ของทุ่งพญาไทอันเป็นท้องทุ่งขนาดใหญ่ราว 1,000 ไร่ปรากฏบันทึกว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ในยุคที่เปิดทำการค้ากับต่างประเทศ และสนับสนุนราษฎรถางพงเพื่อทำนา ผลิตข้าวป้อนตลาดโลก พื้นที่จึงเริ่มเป็นที่นาที่สวน ในพ.ศ. 2441 ช่วงเริ่มต้นสร้างก่อสร้างวังดุสิตมีถนนซางฮี้ตัดเข้ามาในทุ่งพญาไท แบ่งทุ่งแห่งนี้เป็นฝั่งเหนือและใต้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามฟากเหนือถนนซางฮี้บริเวณที่ตั้งตำหนักว่าตำบลตำหนักพญาไท ใต้ถนนซางฮี้คือตำบลทุ่งพญาไท เป็นที่ทำนา สวน ไร่
ช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ในพ.ศ. 2452 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พลับพลา” หรือ “พระตำหนัก” ในทุ่งพญาไทฟากเหนือถนนซางฮี้ (ถนนราชวิถีในปัจจุบัน) สำหรับเสด็จประพาสทอดพระเนตรการเพาะปลูก ทำนา สวน เพื่อเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย และเป็นที่งดงามสำหรับพระนคร นี่จึงเป็นจุดกำเนิดปฐมบทของพระราชวังพญาไทในเวลาต่อมา
การสร้างพระตำหนัก
การก่อสร้างพระตำหนักหลังนอกเริ่มต้นในพ.ศ. 2452 ใช้เวลาสร้าง 9 เดือน เป็นตึกประกอบไม้ 2 ชั้น รูปทรงภายนอกเรียบง่ายแบบบ้านชาวนาในชนบทยุโรป พื้นปูหินอ่อนและกระเบื้องลาย หลังคากระเบื้องไม้สัก ต่อมาถึงมีการต่อเติมมุขระเบียง สร้างหอสูง สิ้นพระราชทรัพย์ในการก่อสร้างพระราชตำหนักนอก 105,500 บาท
ส่วนพระตำหนักหลังในเริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2452 เป็นตึกไม้ประกอบ 2 ชั้น อยู่คนละฝั่งคลองพญาไท ใช้เวลาสร้าง 7 เดือน สิ้นพระราชทรัพย์ 60,000 บาท
ภายหลังมีพระราชพิธีคฤหมงคล หรือพิธีขึ้นบ้านใหม่เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 พระองค์เสด็จฯ มาประทับที่ตำหนักพญาไทหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายคือ 16 ตุลาคม 2453 ก่อนสวรรคต 1 สัปดาห์
ในรัชสมัยต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ พระบรมราชชนนีมาประทับพักผ่อนให้คลายอาการประชวร ทรงประทับอยู่ถึง 10 ปีก่อนที่จะสวรรคต พระตำหนักที่ประทับของพระราชชนนีถูกปรับเป็นหอเรียนของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธในปัจจุบัน) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างหมู่พระที่นั่งอันงดงามขึ้นใหม่และสถาปนาขึ้นเป็นพระราชวังพญาไทเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชบิดาและพระราชมารดา รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ มาประทับที่นี่เป็นประจำ
คลิกอ่านเพิ่มเติม : หลังม่านชีวิตในวังพญาไท พระประยูรญาติใต้การชักใยของพี่เลี้ยงที่ชิงดีชิงเด่นกัน
กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา สยามขาดดุลการค้าต่อเนื่องระหว่าง พ.ศ. 2463-68 ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ ผู้เขียนหนังสือ “พระราชวังพญาไท” เล่าว่า กิจการเสือป่า ดุสิตธานี และการละครก็ถูกวิจารณ์ในแง่การใช้งบ ช่วงปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 6 ทรงวางยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านเกษตรกรรม หัตถกรรม และการค้าขายกับต่างประเทศด้วยการจัดมหกรรมนานาชาติยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค พระราชทานนามว่า สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ The Siamese Kingdom Exhibition เป็นงานจัดแสดงและประกวดผลิตภัณฑ์สินค้าสยาม แสดงความก้าวหน้าต่างๆ สื่อสารตอกย้ำภาพลักษณ์รากเหง้าทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง และพระราชไมตรีกับนานาประเทศ มีกำหนดจัด 50 วัน เริ่มตั้งแต่ 23 มกราคม พ.ศ. 2468 ที่สวนลุมพินี
สยามรัฐพิพิธภัณฑ์?
ระหว่างจัดงานย่อมมีชาวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก แต่กรุงเทพฯ เวลานั้นยังไม่มีโรงแรมทันสมัยทัดเทียมประเทศอื่นในภูมิภาค โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง (กรมฯ มีความชำนาญและประสบความสำเร็จในกิจการโฮเต็ลรถไฟหัวหินมาก่อน) แปลงพระราชวังพญาไทเป็นโฮเต็ลทันสมัยชั้นเดอลุกซ์ เพื่อเปิดวันที่ 1 มกราคม 2468 (ศักราชใหม่เริ่มเมษายน) ทันงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ โดยมีพระราชประสงค์ให้คงรูปพระราชวัง และนามเดิมเป็นที่ระลึก แต่พระองค์สวรรคตเมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ก่อนเริ่มงานเพียง 2 เดือน
เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคต ช่วงเวลานั้นการเตรียมงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์คืบหน้าไปมาก ค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างเสร็จแล้ว 600,392 บาท เมื่อรวมกับส่วนที่กำลังดำเนินการแล้วมีตัวเลขรวมถึงหลักล้านบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกประชุม และมีการลงความเห็นว่าบ้านเมืองอยู่ในระยะเศร้าโศก ไม่ควรเปิดงานระหว่างไว้ทุกข์ 12 เดือน แต่หากจัดหลังไว้ทุกข์ก็ต้องเสียค่าบูรณะอีกหลายแสนบาท บ้านเมืองอยู่ในภาวะขาดแคลน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ เหลือเพียงจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน กราบบังคมทูลถึงพระบรมราโชบายรัชกาลก่อน ด้วยว่าหากกิจการโฮเต็ลเลี้ยงตัวเองได้ก็จะรักษาพระราชวังให้งดงามโดยไม่เป็นภาระพระคลังข้างที่ รัชกาลที่ 7 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สืบสานพระราชดำริในรัชกาลที่ 6 และจัดบำรุงสวนลุมพินีให้เป็นสวนพักผ่อนของราษฎร ตามที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ 15 ปี ภายหลังจากนั้น รัชกาลที่ 7 ทำหนังสือยกที่ดินสวนลุมพินีอยู่ในความดูแลของกรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งเตรียมการด้านการลงทุนแปลงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมนั้น วิศวกรที่ปรึกษาก่อสร้างทาง กรมรถไฟหลวง คือนาย อี. ไวออน สมิธ (E. Wyon Smith) ประมาณค่าลงทุนตกแต่งสถานที่และจัดเตรียมเครื่องใช้ต่างๆ ราว 190,000 บาท ค่าใช้จ่ายด้านดำเนินการปีละ 160,000 บาท รายรับต่อปีประมาณการว่าได้ปีละ 180,000-200,000 บาท คำนวณแบบอัตราเต็ม 1 ใน 4 ของที่เข้าพัก ส่วนในแง่การดูแลนั้น ภายหลังมีการประมาณว่า ใช้พนักงานดูแล 50 คน ใช้งบประมาณบำรุงรักษาปีละ 50,000 บาท
ปรากฏโฮเต็ลพญาไท
การดำเนินงานของกรมรถไฟหลวงเกี่ยวกับโฮเต็ลพญาไทก็พยายามรักษาบรรยากาศพระราชวังพญาไทไว้ตามพระราชประสงค์ และใช้ชื่อว่า “PHYA THAI PALACE” ดึงจุดเด่นมาประชาสัมพันธ์ กรมรถไฟหลวงเช่าพระราชวังพญาไทจากพระคลังข้างที่ลงนามในสัญญาเช่าระยะเวลา 5 ปี จ่ายค่าเช่าครึ่งหนึ่งของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ปีใดขาดทุนพระคลังข้างที่ไม่คิดค่าเช่า
โฮเต็ลพญาไทเปิดให้บริการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 มีพระจักษ์รถบดีแห่งกรมรถไฟหลวงเป็นผู้จัดการคนแรก รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ทรงเปิดโฮเต็ลวันที่ 18 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน กิจการรับผู้เข้าพักได้ 72 คน ค่าบริการมีตั้งแต่วันละ 10 บาท ถึง 120 บาท (แต่ขณะนั้นรับได้ 40 คน อัตราบริการวันละ 13-14 บาท) ห้องพิพิธภัณฑ์จัดเป็นเลาจ์ (Lounge) ห้องประชุม ห้องธาระกำนัลจัดเป็นห้องอาหาร ห้องเสวยจัดเป็นห้องหนังสือพิมพ์และอุปกรณ์ถ่ายภาพ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เป็นโถงเต้นรำ ฉายภาพยนตร์ หรือห้องประชุมใหญ่
สำหรับห้องที่หรูหราที่สุดคือ Suite De Luxe B1 หรือ Royal Suite ในห้องบรรทมชั้น 3 พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ค่าใช้บริการวันละ 120 บาท ส่วนพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ แบ่งเป็นห้องพัก 19 ห้อง วันละ 10-17 บาท พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส มีห้องพัก 7 ห้อง วันละ 12-25 บาท นอกจากนี้ ยังมีตำหนักอื่นๆ ที่รับผู้เข้าพักได้อีกจำนวนหนึ่ง
ผู้ใช้บริการที่เข้าพักมีกลุ่มผู้พักประจำจำนวนหนึ่งเป็นเหล่าชาวต่างชาติที่พำนักในกรุงเทพฯ ซึ่งย้ายมาพักประจำที่โฮเต็ล 15 คน อาทิ หมอโนเบิลเช่าพักที่ตำหนักองคตฤทธิรุท
หนังสือ Met in Siam เกี่ยวกับการค้าและท่องเที่ยวสยาม โดย Siam Tourist Bureau ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2469 เล่าถึงบรรยากาศโฮเต็ลพญาไทว่า สง่างาม รักษาบรรยากาศของวังไว้ครบ โดยเฉพาะห้องชุด Royal Suite ยากยิ่งจะหาโฮเต็ลอื่นใดเสมอเหมือนได้ รสนิยมดีเลิศ สะดวกสบาย ที่ตั้งอยู่ในท้องทุ่งที่สดชื่น เย็นสบาย เงียบสงบ
โฮเต็ลแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งชุมนุมของคนทันสมัยที่มีฐานะในยุคนั้น มีทั้งมาร่วมกิจกรรมดื่มชายามบ่ายวันอาทิตย์ มาชมภาพยนตร์ที่จัดเป็นครั้งคราว หรือมาดินเนอร์โดยแต่งกายอย่างวิจิตร โดยปีแรกของการดำเนินการมีรายได้ 185,292 บาท รายได้หลักมาจากค่าอาหารและเครื่องดื่มถึงร้อยละ 73 ค่าห้องพักเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 20 หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วมีกำไร 2,827 บาท พระคลังข้างที่ได้ค่าเช่าครึ่งหนึ่งคือ 1,414 บาท แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ เล่าว่า ปีนั้นเป็นปีแรกและปีเดียวที่ได้รับค่าเช่า ปีต่อมาเกิดขาดทุนหรือไม่ก็หักไว้เป็นค่าซ่อมแซมสถานที่ ปีที่ 5 ในพ.ศ. 2473 ขาดทุน 35,769 บาทสูงกว่าทุกปีที่ผ่าน
กิจการดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงพ.ศ. 2475 มีข้าราชการปฏิบัติงาน 97 คน ใน 16 แผนก ผู้จัดการคือหลวงอุปถัมภ์นรารมณ์ เงินเดือน 360 บาท โดยรวมแล้วมีค่าใช้จ่ายส่วนเงินเดือน 37,680 บาท ในยุคนั้นคนต่างชาติเข้ามารับราชการน้อยลง กิจการด้านเช่าห้องพักก็ไม่เป็นที่นิยม ผู้เช่าประจำเหลือเพียง 4 ราย รายได้หลักคือจัดงานรื่นเริง ลีลาศ จัดประชุม ห้องอาหาร และบาร์ ยังมีการจัดงานส่งท้ายปีเก่า-รับปีใหม่ พ.ศ. 2475 และฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี ช่วงเวลานั้นไม่ปรากฏวี่แววเลิกกิจการ
การยกเลิกกิจการมาถึงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร มีหนังสือลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2475 ถึงเจ้าพระยาวงษานุประพันธ์ เสนาบดีกระทรวงการเกษตรพาณิชยการ ปรึกษาว่า กิจการโฮเต็ลพญาไทขาดทุนเดือนละมากๆ หารือว่าจะยกเลิกหรือไม่ หากยกเลิก ราชการกระทรวงกลาโหมจะต้องการใช้เป็นกองเสนารักษ์
หลังจากนั้น กระทรวงเกษตรพาณิชยการ สั่งการให้กรมรถไฟหลวงยกเลิกกิจการโฮเต็ลพญาไท และร้านกาแฟนรสิงห์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2475 เป็นจุดสิ้นสุดของกิจการที่ดำเนินมา 7 ปี และส่งมอบให้กระทรวงกลาโหมเมื่อ 15 พฤศจิกายน ศกเดียวกัน การส่งมอบนั้น กระทรวงกลาโหมจ่ายค่าครุภัณฑ์เครื่องใช้ที่กรมรถไฟหลวงมอบแก่กองเสนารักษ์ 52, 717.12 บาท
เมื่อยกเลิกกิจการ กรมรถไฟหลวง ย้ายข้าราชการบางส่วนไปโรงแรมรถไฟหัวหินและโรงแรมราชธานี อีกส่วนเลิกจ้างโดยจ่ายเงินล่วงหน้า 1 เดือน ยกเลิกสัญญาเช่าต่างๆ และบอกงดกิจกรรมต่างๆ หนังสือ “พระราชวังพญาไท” ยังอ้างอิงเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สร. 0201.30/11เรื่องทรัพย์สินของโฮเต็ลพญาไทที่ขาดหายและถูกยักยอกไป พ.ศ. 2477-2484 อีกว่า เมื่อตรวจสอบสะสางบัญชีจึงพบทรัพย์สินขาดหายถูกยักยอก เช่น เครื่องกระป๋อง เหล้า บุหรี่ ขาดหายไปมูลค่า 19,966 บาท เงินสดขาดหายไป 16,829 บาท รวม 36,795 บาท ผู้ยักยอกทรัพย์ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ไม่พบหลักฐานว่าผู้บังคับบัญชาที่ทำงานหละหลวมทำการทุจริตแต่อย่างใด
อ้างอิง:
แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ. พระราชวังพญาไท ในวันวารห้าแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
โรม บุนนาค. บันทึกแผ่นดิน ชุด ตำนานทุ่งกลางกรุง. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2553.
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในออนไลน์เมื่อ 1 เมษายน 2563