หลังม่านชีวิตในวังพญาไท พระประยูรญาติใต้การชักใยของพี่เลี้ยงที่ชิงดีชิงเด่นกัน

โฮเตล วังพญาไท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน
โฮเตลวังพญาไท (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) / (มุมขวา) ภาพหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน จาก "1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ 23 สิงหาคม 2543" / ห้องสมุดรัฐสภา

วังพญาไท ในช่วงที่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี หรือสมเด็จพระพันปีหลวง ประทับอยู่นั้น พระองค์ทรงเป็นพระธุระอุปถัมภ์ดูแลพระประยูรญาติราชนัดดาพระบรมวงศ์ราชตระกูลต่างๆ หลายรุ่น คำบอกเล่าบรรยากาศภายในพระราชวังพญาไทนั้นมีกิจกรรมมากมาย แต่ลึกๆ แล้ว มีองค์ประกอบอื่นที่บ่งชี้ความเป็นไปได้ถึงเบื้องหลังที่กระทบต่อจิตใจสำหรับเด็กด้วย

สมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ ไปประทับที่ วังพญาไท เมื่อ พ.ศ. 2453 ภายหลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีพระพลานามัยอ่อนล้าจนพระราชโอรสทรงสนับสนุนให้เปลี่ยนที่ประทับ พระราชหัตถเลขาของพระบาสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับการเสด็จฯ ประทับที่วังพญาไทของสมเด็จพระราชมารดาในช่วงต้นรัชกาลที่ทรงเล่าว่า

ช่วงแรกที่เสด็จฯ ไปประทับนั้น โปรดฯ ให้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (ภายหลังเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7) ไปประทับกับสมเด็จพระราชมารดาด้วย

“เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2453, เสด็จแม่ได้เสด็จออกจากในพระบรมมหาราชวังไปประทับอยู่ที่พญาไท, ซึ่งได้เลยเปนที่ประทับอยู่จนตลอดพระชนมายุ. แต่เดิมคิดกันว่าจะถวายพระที่นั่งอัมพรที่ในพระราชวังสวนดุสิตให้เปนที่ประทับ, แต่พระองค์ท่านไม่โปรด. และตรัสขอให้สร้างพระที่นั่งถวายใหม่ที่ในสวนสุนันทา, แต่ต่อมาภายหลังก็รับสั่งว่าอยู่ที่พญาไททรงสบายดีแล้ว, จึงเปนอันงดการสร้างพระที่นั่งในสวนสุนันทา.”

ทั้งสองพระองค์ประทับที่วังพญาไทเป็นระยะสั้นๆ หลังจากนั้นในพระราชวังพญาไทมีพระราชพิธีต่างๆ ขึ้นหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม พระพลานามัยของสมเด็จพระพันปีหลวงโดยทั่วไปยังไม่แข็งแรง ภายหลังแพทย์ประจำพระองค์ต้องถวายพระโอสถหลายขนาน เมื่อทรงพระสำราญแล้วจึงเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อพ.ศ. 2455

นับตั้งแต่การประทับครั้งแรก เวลาผ่านไปราวปีเศษ วังพญาไทจึงกลายเป็นที่ประทับถาวร ในช่วงเวลานั้น ทรงอุปถัมภ์ดูแลพระประยูรญาติราชนัดดาผู้สืบสายพระบรมวงศ์ราชตระกูลต่างๆ หลายพระองค์

ราชสกุลที่ปรากฏว่าเติบโตจากวังพญาไทยังมี หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน บุตรของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ และ ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ ซึ่งในข้อเขียนเรื่อง “ชีวิตของพ่อ” โดยหม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ (คุณหญิงหน่อย) ธิดาคนหนึ่ง บรรยายว่า ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ เป็น “เมียรับตรา” พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2408 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) ขณะที่ ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ เป็นธิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์

ความเป็นมาที่ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน เติบโตในวังพญาไทนั้น ข้อเขียนของธิดาเล่าว่า สืบเนื่องมาจากบิดามารดาของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน แยกทางกันตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ ต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ ทรงพา หม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี เข้ามาประทับในวังในฐานะพระชายาอีกพระองค์หนึ่ง ใจความในข้อเขียนของธิดาบอกเล่าเรื่องราวต่อมาว่า

“ม.ร.ว. สุวพรรณ สนิทวงศ์ ผู้เป็นพี่ชายใหญ่ของคุณย่า เห็นเป็นการดูหมิ่นราชสกุลสนิทวงศ์ เป็นอันมาก ในเมื่อคุณย่าเป็น ‘เมียพระราชทาน’ อันถูกต้องตามขนบธรรมเนียม ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในวัง จึงมารับเชิงบังคับให้คุณย่าทิ้งเด็จปู่ ทิ้งลูก กลับมาอยู่กับครอบครัวสนิทวงศ์ ทั้งๆที่คุณย่ายังรักและอาลัยเด็จปู่ อยากจะอยู่ด้วยต่อไป ไม่มีความเคียดแค้นแต่อย่างไร ตั้งแต่นั้นมา ชีวิตคุณย่าคงมีแต่ความเงียบเหงา ปราศจากความรักความอบอุ่น ในเมื่อลูกสุดที่รักคนเดียวก็ถูกพรากจากกัน เด็จปู่ได้นำพ่อไปถวายสมเด็จพระพันปี พ่อจึงเติบโตมาในวังตั้งแต่นั้น นานๆทีจึงจะได้พบกับพ่อแม่”

เป็นที่ร่ำลือกันเสมอมาว่าบรรยากาศในวังพญาไทนั้นเป็นที่ปรารถนาของใครหลายต่อหลายคน อุทุมพร วีระไวทยะ (นางอมรดรุณารักษ์) ข้าหลวงในราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง เคยเขียนเล่าไว้ว่า

“…อันพระราชสำนักวังพญาไทนั้น ย่อมเป็นที่ที่ใครๆ ก็ปรารถนาจะได้มีโอกาสเข้าไปเฝ้าแหนและถวายข้าวของเพื่อให้ได้ทรงรู้จักคุ้นเคยอันจะเป็นเกียรติแก่ตนและครอบครัว หรือผู้ใดมีทุกข์ร้อนหวังมาขอพระราชทานพระบารมีเป็นที่พึ่งพิง ไม่ว่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ พระประยูรญาติ ราชนิกูล เจ้าจอมหม่อมห้าม ท่านผู้หญิงคุณหญิงหรือผู้มีฐานะดีทั้งหลาย ต่างก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันหาทางเข้ามาติดต่อเพื่อให้ได้สู่พระราชฐานแห่งนี้ จนปรากฏว่าวังพญาไทสมัยนั้นดูเหมือนจะไม่เคยว่างแขกเลยสักวันเดียว…”

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น นอกจากแขกแล้ว ข้อมูลสถิติจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 ว.1/13 เรื่อง “ทำสามโนครัวในพระบรมมหาราชวังและพระราชวัง (7 พฤศจิกายน 2455-7 เมษายน 2468)” อธิบายไว้ว่า สำมะโนครัวในพ.ศ. 2462 ปีสุดท้ายแห่งราชสำนัก วังพญาไทซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิตมีผู้อาศัย 166 คน เป็นหญิง 165 คน เด็กชาย 1 คน

หลากหลายมุมของวังพญาไทดูจะเป็นที่ปรารถนาของบุคคลหลากหลายจำพวก แต่สำหรับชีวิตในวัยเยาว์ของเด็กที่ต้องห่างไกลบิดามารดาแล้ว ก็ย่อมมีประเด็นเรื่องความอบอุ่นตามมา ดังที่ หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ (คุณหญิงหน่อย) ธิดาคนหนึ่งของท่านเล่าไว้ว่า

“ชีวิตในวังพญาไท เมื่อมองดูเผินๆ อาจคิดว่าเป็นชีวิตที่อภิสิทธิ์ โก้หรูหรามั่งคั่ง แต่ความจริงแล้วเป็นชีวิตที่ขาดความรัก ความอบอุ่นอันแท้จริง…การเลี้ยงดูเอาใจใส่โดยพี่เลี้ยงไม่มีวันเทียมเท่าความรัก เอาใจใส่จากแม่ของตัวเอง พ่อคงต้องว้าเหว่มากที่ต้องจากแม่ จากคนเลี้ยงคนเดิม…”

ชีวิตภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยงก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้ธิดามีข้อสันนิษฐานดังเช่นการบอกเล่าข้างต้น เหตุการณ์ที่เป็นต้นเหตุนั้นก็มาจากการบอกเล่าของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน เองอันทำให้เห็นว่า ชีวิตในวัง “เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา แก่งแย่งชิงดีระหว่างพี่เลี้ยงทั้งหลาย ต่างคนต่างก็อยากให้เด็กที่ตนเลี้ยงได้หน้าเป็นที่โปรดปราน”

“พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าวันไหนพ่อเข้าเฝ้าแล้วไม่ได้ทำตัวดีเด่นดังที่พี่เลี้ยงเสี้ยมสอนไว้ กลับมาต้องโดนหยิกทำโทษ รวมความแล้ว ผู้ที่เข้าใจจิตวิทยาของเด็กสมัยนี้ เข้าใจเรื่องการพัฒนาทางจิตใจของเด็ก จะรู้ซึ้งเลยว่า จิตใจและอารมณ์ของพ่อต้องถูกทำร้ายเสียหายไม่ใช่น้อย

ยังเคราะห์ดีอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า พ่อเป็นคนเล่นตลกเก่ง ทำให้ทรงพระสรวลได้ สมเด็จพระพันปีฯจึงทรงโปรดปราน เมื่อโตขึ้น เวลาเสด็จไหน พ่อก็ได้เป็นคนช่วยพยุงท่าน…”

แต่ความกดดันจากพี่เลี้ยงตามเรื่องที่บอกเล่ามานั้น ย่อมเป็นมุมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยทางปัจเจกซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ พระเมตตาของสมเด็จพระพันปีฯ เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั้งปวง หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน ยังได้รับการอบรมสั่งสอนแนวคิดที่ส่งผลต่อหน้าที่การงานในเวลาต่อมา ดังเช่นที่หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน เขียนเล่าในหนังสือ “ปรัชญาชาวไร่” ตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าได้รับการอบรมสั่งสอนจากสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง ให้รู้จักใช้ความสังเกต และให้มีความอดทนทั้งทางกายและทางใจ ตลอดจนความรู้เบื้องต้นว่า ในโลกนี้นั้น ความสุขและความสบายจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เมื่อเราได้ทิ้งความยึดมั่นในการเป็นตัวตนของเราว่ายิ่งใหญ่ที่สุดนี้เสีย โดยสละตัวนี้ทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระเจ้าอยู่หัว และเจ้านายผู้ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูเราโดยคิดถึงตัวและความจองหองในตัวของเราให้น้อยที่สุดที่จะเป็นได้

อะไรที่กระเทือนน้ำพระทัยท่าน เราจะต้องสะกดเก็บเอาไว้ด้วยขันติอย่างสูง การประจบประแจงนั้น อย่างดีก็เป็นแต่เพียงนโยบายที่เป็นดาบสองคมซึ่งจะหันมาทำลายตัวเองได้อย่างง่ายที่สุด เพราะการประจบนั้นเป็นเล่ห์เป็นกลอันมิได้เกิดจากความมีใจจริง วันหนึ่งวันใดวิธีการนั้นก็จะมีผู้เปิดโปงให้ผู้ที่เราประจบเห็นนั้น ถ้าเมื่อท่านเห็นเมื่อใดก็ย่อมจะหมดความเชื่อถือในตัวเราแต่วันนั้น

ดังนี้จะทำอะไรพึงทำโดยความจริงใจดีกว่า เมื่อกรรมของเรายังทำให้เราพ้นจากที่นั่งคอขาดไปไม่ได้ก็สู้อดทนรับเอาไว้เสียดีกว่า เพราะถ้ารับไว้ด้วยความอดทน มันก็ย่อมจะผ่านพ้นไปเอง นี่เป็นความรู้ที่ได้เคยเรียนและลิ้มรสมาตั้งแต่ยังเด็ก ความรู้ที่ได้จากในวังหลวงนั้น ถ้าจะพูดสั้นๆ ก็คือ ‘I serve’ หรือความเสียสละตัวถวายท่านและเพื่อท่าน อันได้แก่การปฏิบัติตัวเป็นอนัตตาตามหลักพระพุทธศาสนานั่นเอง.”

ภายหลังหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน เข้าเรียนการทหารที่ Royal Military Academy, Woolwich เป็นนายร้อยทหารปืนใหญ่ สถาบันเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ อันเป็นแหล่งที่ทำให้เรียนรู้และนำมาใช้ในการปฏิบัติงานเสรีไทย และกลับมารับราชการทหารปืนใหญ่

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน อยู่ในยุคสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และรับราชการในหน่วยทหารรักษาวัง ในช่วงหลังเกิดกบฏบวรเดชหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน ยังตามเสด็จไปอังกฤษ เมื่อเกิดสงครามในเอเชียก็ยังมีบทบาทในเสรีไทยด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ. พระราชวังพญาไท ในวันวารห้าแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.

หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ (คุณหญิงหน่อย). “ชีวิตของพ่อ : หน่อย”. ใน 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ 23 สิงหาคม 2543.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2562