ครั้งหนึ่ง “พระราชวังพญาไท” เคยถูกใช้เป็น “สถานีวิทยุกระจายเสียง”

โฮเต็ลพญาไท พระราชวังพญาไท
พระราชวังพญาไท หรือโฮเต็ลพญาไท (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการปรับปรุง “พระราชวังพญาไท” มาเป็น “โฮเต็ลพญาไท” หรือโรงแรมตามรูปแบบตะวันตก และในช่วงเวลานี้ นอกจาก พระราชวังพญาไท จะเป็นที่พำนักของแขกทั้งไทยและเทศในฐานะโฮเต็ลพญาไทแล้ว พระราชวังแห่งนี้ยังถูกใช้เป็น “สถานีวิทยุกระจายเสียง” อีกด้วย

เรื่องนี้ แพทย์หญิง กรรณิการ์ ตันประเสริฐ อธิบายไว้ในบทความ “สิบภาพเก่าเล่าเรื่องพระราชวังพญาไท” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2554) ดังต่อไปนี้

“ประวัติศาสตร์สำคัญอีกส่วนหนึ่งในยุคโฮเต็ลพญาไท คือ การเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของสยาม โดยกรมไปรษณีย์โทรเลขขอเช่าพื้นที่ห้องชุดสวีทเดอลุกซ์ B1 หรือ Royal Suite ในห้องพระบรรทม ชั้นที่ 3 พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ปรับปรุงเป็นห้องส่งกระจายเสียง

ว่าจ้างห้างเกียสันกรุงเทพ ประดับประดาตามแบบแผนของกรมไปรษณีย์โทรเลข ประกอบด้วยห้องส่งเสียงใหญ่ ห้องส่งเสียงเล็ก ห้องผู้บอกบท ห้องควบคุมเสียง และห้องรับแขก รวม 5 ห้อง จ่ายค่าเช่าเดือนละ 50 บาท และติดตั้งห้องเครื่องส่งวิทยุในพื้นที่ว่างฝั่งตรงข้ามโฮเต็ล โดยจัดซื้อเครื่องส่งของบริษัท ฟิลิปราดโอ ที่มีกำลังกระจายออกทางอากาศ 2.5 กิโลวัตต์ ส่งได้ทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ราคา 1 แสนบาท รวมค่าติดตั้ง

การมาตั้งสถานีที่พระราชวังพญาไท เพราะอยู่นอกเมือง ตัดการรบกวนจากเครื่องไฟฟ้าใหญ่ ๆ เช่น รถราง และไม่ต้องลงทุนสร้างห้องส่งเสียงใหม่ อีกทั้งค่าเช่าไม่แพงเนื่องจากกิจการกรมไปรษณีย์โทรเลขและโฮเต็ลพญาไท ต่างอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมด้วยกัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงพญาไท เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ในอภิลักขิตสมัยเนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล โดยถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางสายถึงสถานีพญาไท แล้วกระจายออกทางอากาศสู่เครื่องรับวิทยุของพสกนิกร เป็นที่ปีติยินดีโดยทั่วกัน สถานีวิทยุกระจายเสียงพญาไทยุติการใช้ห้องส่งกระจายเสียงเมื่อ พ.ศ. 2495 พร้อมกับการยุติกิจการของโฮเต็ลพญาไท

ในปัจจุบันถือเอาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เป็นวันวิทยุกระจายเสียงไทย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2565