“เมืองมัง(โก)” อาณาจักรสมมุติของรัชกาลที่ 6 ก่อนเมืองจำลองดุสิตธานี

เฉกเช่นการปฏิรูปประเทศครั้งสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 5) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ราชสำนักฝ่ายในก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนข้าราชบริพารที่แวดล้อมองค์พระมหากษัตริย์ จากสตรี หรือ “นางใน” มาเป็นบุรุษ รวมถึงการรับเอาความเชื่อและค่านิยมแบบ “วิกตอเรียน” จากอังกฤษเข้าสู่ราชสำนักสยาม (รัชกาลที่ 6 ทรงเคยศึกษาอยู่ที่อังกฤษ) ทำให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ว่าด้วยความเป็น “ชาติ” ผสมกับคติจารีตแบบไทยของชนชั้นนำสมัยนั้น

เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงอุปการะชายหนุ่มจำนวนหนึ่งมาเป็นข้าราชบริพารส่วนพระองค์ บทบาทหน้าที่ของเหล่านางในที่เคยถวายงานปรนนิบัติพระมหากษัตริย์จึงกลายเป็นส่วนงานของมหาดเล็ก (หรือ “นายใน” ตามเนื้อหาที่คัดมานำเสนอ) ที่พระองค์ทรงคัดเลือกและอุปการะมา รัชกาลที่ 6 ยังทรงสำราญกับพวกเขาด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมักเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์โดยตรง รวมถึงแนวคิดการเมือง ความเป็นชาติ อันสอดรับกับค่านิยมสมัยใหม่แบบอังกฤษตามพระราชนิยม

ทั้งนี้ “ดุสิตธานี” เมืองจำลองประชาธิปไตยที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในบทเรียนประวัติศาสตร์เรื่องพัฒนาการประชาธิปไตยในไทยก็เป็นผลผลิตจากกิจกรรมข้างต้นด้วย โดยมีต้นแบบมาจากบ้านตุ๊กตาของหญิงชนชั้นสูงที่นิยมกันในอังกฤษยุคทศวรรษ 1920 โดยก่อนมาเป็นเมืองจำลองดุสิตธานีพัฒนาหรืออาจเรียกว่าเป็นกิจกรรมที่สืบเนื่องจาก “สโมสรและชุมชนจำลอง” ที่เรียกว่า “เมืองมัง” อาณาจักรสมมุติของรัชกาลที่ 6 ที่ให้เหล่านายในดำเนินชีวิตและกิจการภายในเมืองอย่างเป็นระบบ ตามที่ ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้ค้นคว้าเรื่องเพศสภาพ/เพศวิถีของชนชนนำในราชสำนักและความเป็นชาติในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้นำเสนอไว้ในหนังสือ “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 (มติชน, 2556) ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

สโมสรและชุมชนจำลอง

เนื่องจากรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงโปรดปราน “ปาตี้” ทรงหาโอกาสต่าง ๆ เพื่อจัดงานเลี้ยง เช่น งานเลี้ยงเนื่องในโอกาสฤดูหนาว ชีวิตนายในจึงคล้ายชีวิตในสโมสรในอังกฤษ (Club life) ที่เต็มไปด้วยการละเล่นและความสำราญ เช่น ไพ่ ละคร ซ่อนหา ลิเก ปริศนา คำทาย จนพระญาติพระวงศ์และข้าราชการในรัชกาลกล่าวในเชิงขบขันว่า พระองค์โปรดที่จะ “เล่น” อยู่ 3 อย่างคือ ละคร สโมสร และออกหนังสือพิมพ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสโมสรที่เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่พระองค์ซึมซับมาตั้งแต่ทรงศึกษาในอังกฤษ ซึ่งระหว่างที่ศึกษาในอังกฤษ นอกจากทรงเป็นสมาชิกของคลับต่าง ๆ มากมาย เช่น “บัลลิงดอน” “คาร์ดินัล” ซึ่งเป็นสโมสรที่ขึ้นชื่อด้านอักษรศาสตร์ และ “คอสโมโปลิแตน” ซึ่งมักมีการสังสรรค์ครึกครื้นเป็นพิเศษ ยังมีพระราชดำริจัดตั้ง “สามัคคีสมาคม” (Samaggi Samagom) สำหรับนักเรียนไทยในอังกฤษพบปะสังสรรค์ แข่งกีฬา เล่นดนตรี แสดงโขนละคร ฟ้อนรำ

เมื่อนิวัติพระนคร พระองค์จึงทรงพยายามสร้าง “ชมรมที่ก่อกำเนิดวัฒนธรรมใหม่ที่ทรงจดจำมาจากต่างประเทศ” มาใช้กับนายใน ทรงตั้งสมาคมสโมสรเพื่อจัดงานสังสรรค์และกิจกรรมมากมายตามวัฒนธรรมอังกฤษ เช่น “ทวีปัญญาสโมสร” ในพระราชอุทยานวังสราญรมย์ ที่มีลักษณะคล้ายคลับในอังกฤษ บรรดานายในในฐานะสมาชิกพบปะ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อนอนเอกเขนกอ่านหนังสือพิมพ์ในและต่างประเทศ กินเลี้ยง เล่นกีฬาต่าง ๆ มากมาย เช่น ปิงปอง หมากรุก บิลเลียด ไพ่ เทนนิส คริกเก็ต โครเกต์ และฮอคกี้ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในสังคมสยาม

รวมไปถึงการตั้งประเด็นเพื่อโต้วาทีกัน เช่น “ไฟฟ้าดีกว่าตะเกียง” ขณะเดียวกันก็โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างโรงละครขนาดจุได้ 100 คนเศษ ชื่อ “โรงละครทวีปัญญา” ขึ้นในพระราชวัง เพื่อแสดงละครพูดที่ได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตกและเริ่มปรากฏขึ้นบ้างแล้วในหมู่ชนชั้นสูง

ในทวีปัญญาสโมสรมีการออกหนังสือพิมพ์รายเดือนที่รวบรวมเรื่องสั้น นิทาน และสารคดีทั่วไป ชื่อ “ทวีปัญญา” เพื่อชักจูงนายในให้ตื่นตัวกับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งรวมไปถึงการเข้าสมาคมสโมสร ในฐานะพื้นที่สร้างความรู้จักระหว่างผู้ชายด้วยกัน และยกระดับหน้าที่การงานจากการรู้จักคุ้นเคยกับสมาชิกในสโมสร เช่น บทความ “ความดีของสโมสร”

สำหรับนายใน สโมสรเปรียบได้กับโลกใบเล็ก ๆ ภายในกำแพงวังที่หล่อหลอมกล่อมเกลาให้มีความคิดเหมือนรัชกาลที่ 6 ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง สำนักแบบตะวันตก หรือ “ความสมัยใหม่” จากอังกฤษ

ซึ่งดูเหมือนว่ามีความพยายามสร้างชีวิตชีวาให้เสมือนโลกจริง ๆ มากขึ้น ขณะที่ประทับชั่วคราวในพระตำหนักสวนอัมพวา ระหว่างซ่อมแซมพระราชวังสราญรมย์ พระองค์ทรงเนรมิตทั้งสโมสรและเมืองสมมุติให้กลายเป็นสิ่งเดียวกันด้วยการรับสั่งให้ถางสวนมะม่วงหรือสวนอัมพวาด้านหลังที่ประทับเรือ สร้างเมืองตุ๊กตาที่ก่ออิฐโบกปูน ให้มีแม่น้ำลำคลอง ถนนรถราง บ้านเรือน เรียกว่า “เมืองมัง” ซึ่งมาจากคำว่า “มังโก” (Mango) ตามสถานที่ซึ่งเป็นสวนมะม่วง

ต่อมา พ.ศ. 2450 หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงลาผนวช เมืองมังก็พัฒนาให้มีลักษณะเป็นอาณาจักรสมมุติ มีการทำถนน โรงเรือนสำหรับเป็นที่ทำการ ที่ทานอาหาร ห้องแพทย์ ขุดสระน้ำและปลูกศาลาอยู่ตรงกลาง และเรือแถวตามกำแพงพระราชวังประมาณ 20 ห้อง ซึ่งนายในรุ่นเยาว์จับคู่กันอยู่ประจำในห้องนอนกันสองต่อสอง โดยสมมุติให้เป็นหนึ่งครอบครัวในหมู่บ้าน ที่จะต้องรักษาความสะอาดเรียบร้อย ตกแต่งให้สวยงามเพื่อประกวดและถือว่าเป็นราษฎรในเขตปกครองเมืองมังที่สามารถออกเสียงเลือกตั้งคณาภิบาลหรือคณะผู้ปกครอง

มีเลขาธิการเป็นหัวหน้าฝ่ายธุรการ โยธาธิการเป็นหน้าก่อสร้างบำรุง นายแพทย์เป็นหัวหน้าฝ่ายกันรักษาโรคภัยและการอนามัย และเลือกตั้งเชษฐบุรุษเป็นผู้แทนราษฎร และเพื่อรักษาความสงบปลอดภัย อาณาจักรจำลองจึงมีกองตำรวจอยู่เวรยามโดยใช้มหาดเล็กชั้นผู้ใหญ่เป็นตำรวจคอยเดินตรวจตามหน้าห้องเมื่อถึงเวลากำหนดให้เข้านอน แต่ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันนายในวัยเยาว์หนีเที่ยวกลางดึกมากกว่า

เนื่องจากเมืองมังไม่เพียงมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันพอที่นายในจะสามารถใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องออกนอกพื้นที่ตามพระราชประสงค์ แต่พระองค์ยังพระราชทานแทบทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ต้องใช้จ่าย นายในจึงมีเงินเหลือจ่ายทุกเดือน ซึ่งพระองค์ทรงเกรงว่าจะสุรุ่ยสุร่ายไม่รู้จักออมทรัพย์ และทำให้นายในของพระองค์ออกไปซื้อเสพอะไรภายนอกพระราชวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและโสเภณี พระองค์จึงโปรดให้มีธนาคารกลางสำหรับฝากเงินและยืมเงินชื่อ “แบงก์ลี่ฟอเทีย” และออกธนบัตรที่มีชื่อเดียวกับธนาคาร เพื่อใช้แทนเงินภายในเมืองสมมุติ

ส่วนเงินสดที่นายในจะได้เป็นเบี้ยเลี้ยงทุกเดือน พระองค์โปรดให้เก็บไว้ในธนาคารของสโมสรโดยห้ามไม่ให้ทั้งถอนและกู้ยืมก่อนได้รับอนุญาตอย่างเด็ดขาด เชื่อกันว่าธนาคารเมืองมังได้พัฒนามาเป็นธนาคารออมสินเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ และกลายเป็นอีกชื่อของเมืองมังในฐานะสโมสร

ซึ่งคำว่า “ลี่ฟอเทีย” ถือว่าเป็นการรวมตัวนายในคนโปรดของพระองค์ยุคก่อนรัชกาลที่ 6 อย่างเป็นทางการ เพราะทั้งเป็นการลงทุนร่วมและเป็นการนำชื่อนายในคนโปรดและพระนามของพระองค์มาผสมกัน “ลี่” แปลว่าใหญ่ ในภาษาจีน ที่หมายถึงพระองค์ที่พระนามว่า “โต” “ฟอ” มาจากคำว่า เฟื้อ ชื่อเจ้าพระยารามราฆพ และ “เทีย” มาจากชื่อของพระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง

ขณะเดียวกัน นายในรับรู้โลกภายนอกเมือง “มัง” หรือ “สโมสรลี่ฟอเทีย” ผ่าน “ชวนหวว” หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ลงข่าวและบทความต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องตลกขบขันและเรื่องน่ารู้ ซึ่งก็เป็นสื่อที่รัชกาลที่ 6 ทรงผลิตเอง และเมื่อสมเด็จฯ กลับไปประทับที่พระราชวังสราญรมย์ “ชวนหวว” จึงยุติลงพร้อมกับเมืองสมมุติ

ใน พ.ศ. 2461 สโมสรในฐานะโลกสมมุติใบเล็ก ๆ ของนายในถูกเพิ่มลูกเล่นสีสันให้โดดเด่นและเสมือนโลกจริง ๆ มากขึ้น ด้วยการสมมุติให้เป็นจังหวัดหนึ่งชื่อ “ดุสิตธานี” และให้นายในและข้าราชการที่รัชกาลที่ 6 ทรงสนิทสนมเกือบ 300 คน จับจองพื้นที่สร้างบ้านและอาคารพาณิชย์ขนาดเท่าศาลพระภูมิ ตกแต่งก่อสร้างอย่างวิจิตรพิสดาร มีประตูหน้าต่าง ลวดลายฉลุ ตกแต่งด้วยช่างฝีมือดี มีไฟฟ้าจุดกลางบ้าน

ดุสิตธานีมีพัฒนาการมาจากการละเล่นของนายในกับรัชกาลที่ 6 บนหาดเจ้าสำราญทุกเย็น ที่พระองค์ทรงโปรดการก่อทรายให้เป็นรูปบ้านเมือง ปราสาทราชวัง ถนน ป้อมปราการ ต่อมาจึงโปรดให้นำบ้านจำลองที่หม่อมเจ้าอนุชาติสุขสวัสดิ์ถวายไปวางแทน

ดุสิตธานี (ภาพจาก D-Library หอสมุดแห่งชาติ)

ซึ่งเมื่อพระองค์เสด็จนิวัติพระนคร ทรงรับสั่งให้พวกนางในที่อาศัยในพระราชวังสวนดุสิตถอยร่นไปอยู่ในกลุ่มสวนสุนันทา และโปรดให้สร้างอาณาจักรที่มีพระราชวัง วัด โรงทหาร ศาลารัฐบาล โรงเรียน โรงพยาบาล ธนาคาร ไปรษณีย์ กองดับเพลิง บริษัทไฟฟ้าประปา โรงละคร โรงภาพยนตร์ โรงอาบน้ำร้อน พระราชวังอังกฤษ ภัตตาคาร สโมสร ศูนย์การค้า อาคารบ้านเรือน สวนสาธารณะ ถนน สะพาน คูคลอง ภูเขา น้ำตก น้ำพุขนาดประมาณ 1 ใน 20 จากของจริงบนพื้นที่ 2 ไร่ครึ่ง ริมอ่างหยก ซึ่งเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่ กลางพระราชวังสวนดุสิตก่อนย้ายไปตั้งและขยายให้มีขนาด 4 ไร่ ในพระราชวังพญาไท ช่วง พ.ศ. 2462 …

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2566