เหตุใด กรมขุนสุพรรณภาควดี ทรงเป็น “ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก” ในรัชกาลที่ 5

กรมขุนสุพรรณภาควดี ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก ของ รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาในพระองค์กับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งในช่วงก่อนเสวยราชสมบัติ และหลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว รวมทั้งสิ้น 97 พระองค์ ในจำนวนนี้มีเพียงหนึ่งเดียว ที่ทรงถือเป็น “ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก” พระองค์นั้นคือ “กรมขุนสุพรรณภาควดี”

กรมขุนสุพรรณภาควดี (พ.ศ. 2411-2447) หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ) ประสูติแต่คุณแพ

คุณแพ (หรือเจ้าคุณจอมมารดาแพ, เจ้าคุณพระประยูรวงศ์) ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ กับท่านผู้หญิงอิ่ม เป็น “รักครั้งแรก” ของรัชกาลที่ 5 หากก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะติดขัดด้วยประเพณีการติดต่อระหว่างฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ที่สำคัญคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของคุณแพ ไม่ต้องการให้มีติดต่อกัน

จึงเกิดความพยายาม “จีบ” แบบหนุ่มสาวกระทำกัน เช่น บรรดาพระอนุชาที่ยังทรงพระเยาว์ทรงเป็น “พ่อสื่อ” ช่วยส่งของกำนัลให้, ความช่วยเหลือจากเจ้าจอมมารดาเที่ยง เจ้าจอมคนโปรดในรัชกาลที่ 4 ช่วยกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ จนท้ายสุดเรื่องราวความรักของพระองค์ก็สมหวัง เมื่อรัชกาลที่ 4 ตรัสขอคุณแพต่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ทำไมกรมขุนสุพรรณภาควดี ได้ชื่อว่า “ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก” 

ด้วยเป็นพระราชธิดาที่ทรงมีแต่วัยหนุ่ม และเกิดจากสตรีที่ทรงรักใคร่และทรงเลือกด้วยพระองค์เอง เวลานั้น รัชกาลที่ 5 ยังไม่ได้ทรงครองราชย์ ยังทรงดำรงพระชนมชีพนอกพระราชวัง จึงทรงมีวัตรปฏิบัติเช่นสามีภรรยาสามัญชนในวัยหนุ่มสาว 

พระองค์เสด็จข้ามฟากมาทำราชการในพระบรมมหาราชวัง ครั้นเสร็จกิจจากงานราชการก็เสด็จกลับตำหนักสวนนันทอุทยาน ริมคลองมอญ ฝั่งธนบุรี (รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้เป็นที่ประทับ) เมื่อกรมขุนสุพรรณภาควดี ประสูติ ณ พระตำหนักสวนนันทอุทยาน จึงทรงที่สนิทเสน่หาอย่างยิ่ง

เรื่องนี้มีทั้ง “พยาน” และ “หลักฐาน”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสเรียกกรมขุนสุพรรณภาควดี เช่นพระราชธิดาองค์น้อยอย่างเอ็นดูเสมอว่า “เจ้าหนู” แม้ว่าจะมีพระราชโอรส พระราชธิดา อีกหลายพระองค์ ทำให้บรรดาพระราชโอรส พระราชธิดา ผู้เป็นน้องของพระองค์เรียกขานว่า “พี่หนู”

กรมขุนสุพรรณภาควดีนับเป็นพระราชธิดาพระอิสริยยศ “พระองค์เจ้า” เพียงพระองค์เดียว ที่เมื่อครั้งโสกันต์ พระราชบิดาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีที่เขาไกรลาสจำลอง เช่นเดียวกับเจ้านายในพระยศชั้นเจ้าฟ้า และยังพระราชทานพระอิสริยยศด้วยการทรงกรมเสมอด้วยพระราชธิดาที่มีพระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี (พ.ศ. 2446)

ทว่า หลังสถาปนาพระอิสริยยศไม่นาน พระองค์ประชวรด้วยพระโรคพระวักกะ (ไต) พิการ พระอาการไม่ดีขึ้นจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันพุธที่ 26 ตุลาคม 2447 ขณะมีพระชันษา 37 ปี นำมาซึ่งความโทมนัสอย่างเหลือประมาณแก่สมเด็จพระราชบิดา

การพระศพดำเนินไปตามโบราณราชประเพณี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษานวล เพื่อทรงแสดงออกถึงความอาลัยในพระราชธิดาพระองค์นี้ เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็เคยทรงพระภูษาขาว ในงานพระศพเจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรเทพ พระเจ้าลูกเธอที่ทรงรักยิ่ง ถึงกับมีพระราชดำรัสว่า “ลูกคนนี้รักมากต้องนุ่งขาวให้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ‘ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก’ ”  ใน, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธุ์ 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567