ผู้เขียน | เด็กชายผักอีเลิด |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปและพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ด้าน ส่วนหนึ่งคือการส่งเจ้านายและพระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศ ทั้งทรงมีพระราโชบายด้านการศึกษาแก่เหล่าพระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระบรมราชวินิจฉัยที่ยาวไกลของพระองค์ได้เป็นอย่างดี
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ผู้เขียนบทความ ” ‘บรรดาลูกที่เป็นเจ้าฟ้าควรจะต้องเป็นทหาร’ พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2562) ได้นำเสนอข้อความในพระราชหัตถเลขาจากสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี ถึงเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ พร้อมวิเคราะห์แนวพระราชดำริที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีในพระกระแสรับสั่งได้อย่างแน่สนใจ ดังนี้
“…ที่เป็นทหารนั้นดีกว่าพลเรือนเพราะอาจจะต้องเรียนได้ทั้งสองอย่าง แลได้วินิจฉัยไว้ว่า บรรดาลูกที่เป็นเจ้าฟ้าควรจะต้องเป็นทหาร เพราะเหตุว่าที่จะประมาทว่าเมืองไทยในภายน่าจะไม่มีเวลาเป็นคอนสติตุชแนล (constitutional ระบบรัฐธรรมนูญ – ผู้เขียน) ไม่ได้…”
เป็นข้อความที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า (ป้าหรืออาหญิง – ผู้เขียน) สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีที่ทรงมีไปถึงสมเด็จเจ้าฟ้าบริบัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรส ซึ่งขณะทรงกำลังศึกษาวิชาทหารบกอยู่ในประเทศเยอรมี
โดยทรงนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่าในอนาคตสยามอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้เจ้านายต้องประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงพระชนมชีพโดยเฉพาะเจ้านายชั้นพระราชโอรส ทำให้สมเด็จพระบรมราชชนกต้องทรงหาวิธีเพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงไม่กระทบกับวิถีการดำรงพระชนมชีพและความปลอดภัยของพระราชโอรสมากนัก วิธีหนึ่งที่ทรงปฏิบัติคือ
“…บรรดาลูกที่เป็นเจ้าฟ้าควรจะต้องเป็นทหาร…”
…สิ่งสำคัญที่ต้องทรงตระเตรียมเป็นอย่างมากเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึงคือความปลอดภัยของพระราชโอรสธิดาตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากความอยู่รอดปลอดภัยแล้ว ยังทรงหวังว่าพระราชโอรสตลอดจนเจ้านายทั้งปวงจะได้ทรงมีโอกาสรับใช้แผ่นดินหรือทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
วิธีที่ทรงปฏิบัติคือ โปรดส่งพระราชโอรสและเจ้านายบางพระองค์ไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่แขนงต่าง ๆ ในประเทศทางยุโรป ตามความถนัดและความเหมาะสมของแต่ละพระองค์ เพื่อให้ทุกพระองค์มีความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่พอที่จะช่วยในการดำเนินพระชนมชีพได้อย่างปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสที่จะทำประโยชน์ต่อบ้านเมือง
แต่สำหรับพระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งประสูติแต่พระอัครมเหสี พระมเหสีที่เป็นพระราชธิดาหรือพระราชนัดดานั้น พระราชทานความห่วงใยเป็นพิเศษ ด้วยตระหนักพระราชหฤทัยดีว่าพระราชโอรสชั้นนี้ทรงได้รับการอภิบาลเลี้ยงดูอย่างดีเลิศและทรงเป็นที่เกรงกลัวในฐานะที่สูงส่งอันสามารถที่จะให้คุณให้โทษแก่ผู้ใกล้ชิดต่อไปในอนาคต…
…ทรงกำหนดให้พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าต้องทรงศึกษาวิชาทหารเป็นสำคัญ อันเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้น ทรงเปรียบเทียบการศึกษาฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารไว้ว่า
“…ความประพฤติกายอย่างดิสสิปลิน (discipline ระเบียบวินัย – ผู้เขียน) ข้างฝ่ายทหารดีกว่าฝ่ายพลเรือนเป็นอันมาก ต้องหัดอยู่ในบังคับคนขึ้นไปจนถึง ผู้บังคับคนต้องดริล (Drill การฝึกฝน/ฝึกปรือ – ผู้เขียน) เป็นเครื่องบำรุงกำลังกาย แต่ข้างฝ่ายพลเรือนมีแต่ซักซ้อมฝีปากและพนันขันต่ออยู่ลำลองสบายมาก ฝ่ายการทหารมีระเบียบเรียบร้อยดีกว่า…”
“…ชั้นเจ้าฟ้าไม่ดีจริงเต็มที่คงไม่รับทำการพลเรือน เว้นไว้แต่จะเป็นตำแหน่งใหญ่…”
ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะการเป็นข้าราชการพลเรือนนั้นมีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งกับฝ่ายตรงข้ามจนอาจทนไม่ไหว ดังพระราชดำรงที่ว่า
“…ทำการพลเรือนเสียเกียรติยศที่ต้องกระทบกระเทือนต่าง ๆ ซึ่งที่เมืองเราก็มีบ้างแต่เวลานี้น้อย แต่ถ้าเป็นปาลีเมนต์ (parliament รัฐสภา – ผู้เขียน) ขึ้นเมื่อไรแล้ว เจ้านายเป็นเข้าในหน้าที่ราชกาลพลเรือนไม่ได้ เพราะทนแอตแตกไม่ไหว…” (Attack การโจมตี – ผู้เขียน)
แต่หากศึกษาวิชาทหาร ซึ่งเป็นวิชาเฉพาะและมีความจำเป็นสำหรับบ้านเมือง และการกระทบกระเทือนจะน้อยกว่าฝ่ายพลเรือน ดังปรากฏเหตุผลในพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี ที่ทรงมีถึงพระราชโอรส ความว่า
“…หากว่าจะเลิกเจ้านายรับราชการในหน้าที่พลเรือนเมื่อใด เจ้าฟ้าแลจะหลุดไปก่อน ไม่มีอะไรทำ ถ้าหากว่าเป็นทหารอยู่คงจะได้เป็นทหารอย่างเจ้านายฝรั่ง…”
ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าจะต้องศึกษาวิชาทหารทุกพระองค์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรสชั้นนี้ได้ทรงมีความรู้ฝ่ายพลเรือนด้วย หรือวิชาที่สนพระทัยอันเป็นการเตรียมพระองค์ไว้สำหรับการดำรงพระชมมชีพ หากวิชาทหารไม่อาจทำประโยชน์ให้แก่พระองค์ได้ตามพระประสงค์ วิชาที่ถนัดก็น่าจะทำให้สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงพระองค์และครอบครัวได้โดยไม่ลำบาก ดังที่ว่า
“…ที่เป็นทหารนั้นดีกว่าพลเรือนเพราะอาจจะได้เรียนทั้งสองอย่าง…”
ส่วนพระราชโอรสชั้นพระองค์เจ้านั้นทรงห่วงใยน้อยกว่า เพราะตระหนักพระราชหฤทัยว่า พระราชโอรสชั้นนี้มีพระมารดาเป็นพระธิดาเหล่าเสนาบดีใหญ่น้อย หรือพ่อค้าที่รำรวย เจ้านายชั้นนี้จะทรงมีโอกาสเรียนรู้ชีวิตสามัญชนจากพระญาติฝ่ายมารดา การพะเน้าพะนอตามพระทัยจากพระอภิบาลน่าจะน้อยกว่าพระโอรสชั้นเจ้าฟ้า การเอาแต่พระทัยหรือเชื่อมั่นในพระองค์เองก็จะน้อยกว่า เจ้าฟ้าชั้นนี้จึงมิได้ทรงถูกกำหนดให้ศึกษาวิชาทหาร โปรดให้ศึกษาวิชาการฝ่ายพลเรือนตามความถนัดและความชอบส่วนพระองค์…
“…ส่วนพระองค์เจ้านั้นเป็นทหารหรือพลเรือนก็ไม่สู้กีดขวางอันใดนัก… เห็นจะจำต้องรับการพลเรือน…”
พระราชดำริวางแผนการศึกษาให้แก่พระราชโอรสทุกพระองค์ทุกชั้นจึงเป็นไปอย่างรอบคอบและยาวไกล คือเป็นทั้งประโยชน์ต่อแผ่นดินและประเทศชาติ ในเวลาเดียวกันก็ทรงเตรียมพร้อมสำหรับการดำรงพระชนมชีพของพระราชโอรสทุกพระองค์ในเวลาที่การเปลี่ยนแปลงมาถึง ซึ่งทุกสิ่งก็เป็นไปตามที่ทรงพระบรมราชวินิจฉัยคาดการณ์ คือเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทุกสิ่งที่ทรงตระเตรียมไว้สำหรับพระราชโอรสทุกชั้น ก็ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงพระชนมชีพของพระราชโอรสแต่ละพระองค์ตามพระราชประสงค์ทุกประการ
อ่านเพิ่มเติม :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กันยายน 2565