ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา โปรดการเที่ยวป่าและทรงม้าได้ดีเยี่ยม มักเสด็จประพาสป่าขึ้นเขาลงห้วยจนนิยมชีวิตป่าเขาลำเนาไพรมากที่สุด โดยเฉพาะพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักนิยมไพร”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาอ่อน หนึ่งใน “เจ้าจอมก๊กออ”
ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ บันทึกเรื่องที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา เล่าประทานไว้ในผจญภัยในป่าสูงว่า
จากชีวิตกลางแจ้ง ในป่าสูง และทรงตระเวนไปตามป่าเขาลำเนาไพร พร้อมด้วยข้าหลวงซึ่งต่างได้แสดงธาตุแท้ถึงการใช้ชีวิตในป่าลึก สมบุกสมบันกันไปบางครั้งด้วยช้างด้วยการเดินเท้า หลายครั้งก็ตามเสด็จด้วยม้า ข้าหลวงวัยสาวทุกคนล้วนแต่แข็งแกร่งไม่ต่างกับมหาดเล็ก
เนื่องจากพระญาติของทั้ง 2 พระองค์ เป็นชาวเมืองเพชรบุรี จึงมักเสด็จไปประทับที่เมืองเพชรบุรี ทรงม้า และเสด็จไปท่องเที่ยวในป่าเมืองเพชรบุรี บางครั้งก็ประทับบนหลังช้างรอนแรมไปตามหมู่บ้านชาวป่า ทอดพระเนตรชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกชาวกะเหรี่ยง และได้เสด็จโดยทางเรือเป็นขบวนใหญ่ไปยังต้นน้ำเพชรบุรี
นอกจากนี้ทั้งสองพระองค์ยังได้เสด็จไปท่องเที่ยวป่าเมืองกาญจนบุรี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ปกครองของพระญาติสกุลบุนนาค ทำให้เคยเสด็จไปทองผาภูมิถึง 2 ครั้ง ทั้งที่อำเภอไทรโยคและอำเภอทองผาภูมิ ได้พบชาวกะเหรี่ยงหลายกลุ่ม ประทับพระทัยและสนพระทัยมาก เป็นเหตุให้ทรงรับอุปการะหญิงสาวกะเหรี่ยงเข้าไปทำงานในวัง
การเสด็จไปทองผาภูมิครั้งแรก ทรงพบหญิงกะเหรี่ยง 2 คน ที่บ้านปรังกาสี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ “เสด็จพระองค์ใหญ่” หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ เสด็จถึง ได้ทอดพระเนตรการรำถวายหน้าที่นั่งด้วยเพลงกะเหรี่ยง จึงโปรดมีพระประสงค์จะได้สาวกะเหรี่ยงสัก 2-3 คน ไปเป็นนางข้าหลวง
จึงมีรับสั่งกับกำนันในพื้นที่ว่า มีพระประสงค์จะรับสาวกะเหรี่ยงที่กำพร้าไปเป็นข้าหลวง เพื่อจะได้ให้ไปหัดรำทำเพลงกะเหรี่ยง และจะทรงเลี้ยงเท่าเทียมกับข้าหลวงที่เป็นพระญาติของพระองค์เหมือนกัน
ในที่สุดก็ได้สาวกะเหรี่ยง 2 คนมาสมดังพระประสงค์คือ “นังมิ่นกง” กับ “หนองเดงเค่ง” ทั้งสองพอใจที่จะได้รับการศึกษา ได้รางวัลเครื่องประดับ มีเงินเดือน และฝึกหัดกิริยามารยาทของชาววัง
นี่เป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่นำชนกลุ่มน้อยไปชุบเลี้ยงในวัง หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับอุปการะ “คนัง” ก่อนหน้า
นังมิ่นกง และหนองเดงเค่ง เมื่อไปเป็นข้าหลวงในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ ก็ไปพำนักที่ตำหนักอรอาสน์ ริมทะเลบ่อแขม ชะอำ ซึ่งใช้เป็นที่ฝึกซ้อมระบำกะเหรี่ยง โดยโปรดให้ทั้ง 2 คน ช่วยฝึกสอนสาวชาววังเพื่อจะได้แสดงหน้าพระที่นั่ง รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระบรมราชินี
บั้นปลายชีวิตของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ เจ้าหญิง “นักนิยมไพร” ทรงพระเกษมสำราญอยู่ ณ ตำหนักอรอาสน์ บ่อแขม ริมทะเล พรั่งพร้อมด้วยข้าหลวงรับใช้ใกล้ชิด จนกระทั่งได้ทรงตระเตรียมระบำกะเหรี่ยงในวันที่มีพระชันษาครบ 4 รอบ แต่ก่อนที่จะมีงานฉลองวันประสูติเพียง 2 เดือน เกิดประชวรอย่างกะทันหันด้วยโรคข้ออักเสบรูมาติสซั่ม และสิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักที่บ่อแขมอันเป็นที่โปรดประทับของพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2476
ภายหลังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ สิ้นพระชนม์ หนองเดงเค่งกราบทูลลา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา กลับคืนหมู่บ้านปรังกาสี เมืองทองผาภูมิ และได้บวชชีจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ส่วนนังมิ่นกงยังคงเป็นข้าหลวงอยู่ที่ตำหนักอรอาสน์ กระทั่งย้ายกลับมาอยู่วังสามเสน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา ประทานชื่อภาษาไทยให้ “นังมิ่นกง” ว่า “สุภาพ” นางสาวสุภาพสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ดี เสด็จพระองค์เล็กทรงพระเมตตาตลอดมาอย่างดียิ่ง นังมิ่นกง ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคชราเมื่ออายุ 70 กว่าปี ที่วังสวนปาริจฉัตก์
อนึ่ง มีเรื่องเล่าว่า เมื่อ พ.ศ. 2478 คณะปฏิภาคภาพยนตร์ ของขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ฟีลาเนีย) ได้สร้างและฉายภาพยนตร์เรื่องกะเหรี่ยงไทรโยค (35 มม.) เป็นภาพยนตร์เงียบ มีนายแท้ ประกาศวุฒิสาร เป็นช่างถ่ายภาพนิ่ง นับเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับชาวเขาเรื่องแรกของประเทศไทย ที่แสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ ฯลฯ “นังมิ่นกง” และ “หนองเดงเค่ง” ก็มาช่วยฝึกระบำกะเหรี่ยงให้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- วัฒนธรรม เข้าป่าล่าสัตว์ มาจากไหน? ดูกำเนิดคติ ลูกผู้ชายนักผจญภัย
- เที่ยวป่า ล่องไพร 100 ปีก่อน ในวันที่ไม่มีเรดาร์ จีพีเอส รถ4wd แต่มีไข้ป่า
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ผศ. ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “นางข้าหลวงชาวกะเหรี่ยงแห่งเมืองทองผาภูมิ ‘คนัง 2’ แห่งราชสำนักสยาม ใน, ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2567