วัฒนธรรม “เข้าป่าล่าสัตว์” มาจากไหน? ย้อนรอยกำเนิดคติ “ลูกผู้ชายผจญภัย(ในป่า)”

ภาพประกอบเนื้อหา

การล่าสัตว์เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อยังชีพและเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาแต่เดิม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปกิจกรรม “เข้าป่าล่าสัตว์” แปรเปลี่ยนความหมายไปสู่แนวคิดเรื่อง “การผจญภัย” ซึ่งถูกผูกติดกับเรื่องเพศด้วย กลายเป็นแนวคิด “ลูกผู้ชายนักผจญภัย” ความนิยมในแนวคิดเหล่านี้สะท้อนผ่านนิยายในช่วงหนึ่งที่นิยมเล่าเรื่องการเข้าป่าผจญภัยของเหล่าผู้ชาย

ไม่เพียงแค่ข่าวคราวเรื่องการล่าสัตว์ของนักธุรกิจที่กลายเป็นข่าวอื้อฉาวแพร่หลายในสังคมไทยเมื่อปี 2561 ในเชิงวิชาการแล้ว มโนทัศน์ “ลูกผู้ชายนักผจญภัย” ถูกมองว่ายังคงผนึกอยู่อย่างเหนียวแน่นในสังคมไทย อาทิ นวนิยายเรื่อง “ล่องไพร” ของ น้อย อินทนนท์ (มาลัย ชูพินิจ) บทความเรื่อง “ล่องไพรกับการสร้างมโนทัศน์ ‘ลูกผู้ชายนักผจญภัย’ ในทศวรรษ 2490” โดย พีรณัฐ เปี่ยมศักดิ์สันติ และณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2561 ซึ่งนำเสนอภาพสะท้อนมโนทัศน์นี้ผ่านนวนิยายเรื่องดังกล่าวที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่บอกเล่าความคิดเกี่ยวกับการเข้าป่าล่าสัตว์ในแง่ความหมายที่มากกว่าเชิงผลผลิตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ตามวิถีของสิ่งมีชีวิต แต่ยังมีความหมายในแง่กิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม

พีรณัฐ เปี่ยมศักดิ์สันติ และณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว อธิบายว่า เดิมทีแนวคิดการเข้าป่าสัมพันธ์กับการบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ค้าขาย หรือการสงคามในคราวการเดินทัพ “ของป่า” ก็เคยสร้างรายได้ให้รัฐไทยอย่างมหาศาล แต่นอกเหนือจากกิจกรรมในเชิงผลผลิตทางเศรษฐกิจและทางการเมืองการสงครามแล้ว การเข้าป่าไม่ได้เป็นเรื่องน่าสนใจใคร่รู้มากนัก

ขณะเดียวกัน การรับรู้เรื่อง “ป่า” ในยุคที่คนทั่วไปสามารถทำการเกษตรตามพื้นที่ทั่วไปได้ง่าย ไม่ต้องลำบากเข้าป่า “พงไพร” ในความหมายของยุคก่อนจึงเป็นเรื่องที่ผูกเข้ากับความอันตรายและความสยดสยอง

คณะล่องไพร นำโดย มาลัย ชูพินิจ (วงกลม) ก่อนเดินทางเข้าป่าหัวหิน (ภาพจากหนังสือหัวหิน พิมพ์โดยอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท, พ.ศ. 2553)

ความคิดและวรรณกรรมในยุคจารีตที่ถูกสร้างขึ้นเกี่ยวกับป่าจึงให้ภาพ “ป่า” ว่ามีลักษณะน่ากลัว มีอันตราย สิ่งลี้ลับ ภูตผีปีศาจ เตรียมรับกับอะไรก็ตามจากภายนอก บริบทเหล่านี้เห็นได้บ่อยจากวรรณคดีไทย เมื่อตัวเอกต้องเข้าไปร่ำเรียนวิชากับฤาษี ระหว่างทางก็พบอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟันให้ไปสู่เป้าหมาย

เมื่อมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ แนวคิดเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ความกลัวต่อป่าเริ่มลดน้อยลง ผู้เขียนบทความอ้างอิงข้อมูลจากนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ชี้ให้เห็นว่า การค้าของป่าขยายตัวอย่างมากในช่วงเวลานี้ ผู้คนมองป่าในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกัน อิทธิพลจากแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองป่าในเชิงกายภาพ เมื่อนั้นคนกลุ่มนี้ย่อมเห็นว่าป่าเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถจัดการได้ตามระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ความน่ากลัวที่เกี่ยวกับป่าก็ยังไม่ได้หายไป มุมมองเรื่องความน่ากลัวเพียงแค่ลดลงไปเท่านั้น ป่าถูกอธิบายในเชิงประจักษ์มากขึ้น แต่ยังคงเป็นพื้นที่ที่รับรู้ถึงภยันตรายได้ เช่น สัตว์ร้าย และโรคภัย

ขณะที่ปัจจัยภายนอกก็เป็นอีกส่วนที่ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง พีรณัฐ เปี่ยมศักดิ์สันติ และณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว อธิบายว่า วัฒนธรรมแบบวิกตอเรียนของอังกฤษ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรับรู้เรื่องป่าของผู้คนในไทย

วรรณกรรมอังกฤษหลายชิ้นถ่ายทอดบริบทเกี่ยวกับป่าเชื่อมโยงกับ “ความใฝ่ฝันสู่การเป็นผู้ชายนักผจญภัย” โดยเฉพาะวรรณกรรมเยาวชนแนวผจญภัย เช่นเรื่อง The Coral Island (1858) ของ Robert Michael Ballantyne ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมเรื่อง Robinson Crusoe และ King Solomon’s Mine (1885) ของ Sir H. Rider Haggard

พีรณัฐ เปี่ยมศักดิ์สันติ และณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว มองว่า แนวคิดการผจญภัยในป่าเผยแพร่มาสู่ไทยพร้อมกับวัฒนธรรมวิกตอเรียนผ่านปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ การค้าแบบทุนนิยม ระบบราชการ ระบบการศึกษาสมัยใหม่ และการปรับตัวทางวัฒนธรรม รวมถึงแนวคิดของเชื้อพระวงศ์ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาจากประเทศยุโรป ราชสำนักสยามเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเผยแพร่วัฒนธรรม “ความเป็นชาย” แบบวิกตอเรียน

ความเป็นชาย แบบวิกตอเรียนที่ว่าถูกอธิบายว่า ผู้ชายไม่ได้เป็นแค่ผู้ออกรบต่อสู้กับข้าศึกของประเทศเท่านั้น แต่การออกผจญภัยที่ต้องใช้ความสามารถ ความกล้าหาญ และศักยภาพเชิงกายภาพ การเดินทางไกล และสำรวจดินแดนลึกลับเป็นอีกกิจกรรมที่ท้าท้ายและพิสูจน์ความเป็นชาย อันทำให้กิจกรรมการผจญภัย(ในป่า)เป็นกิจกรรมเชิงการละเล่น หรือกีฬา มีเป้าหมายเพื่อความท้าทายและตื่นเต้นกับความเสี่ยงมากกว่าเป็นกิจกรรมเลี้ยงชีพแบบชาวบ้านหรือนายพราน

พีรณัฐ เปี่ยมศักดิ์สันติ และณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว แสดงความคิดเห็นว่า

“แนวความคิดเช่นนี้เองคือสิ่งที่ทำให้การเข้าป่ากลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทหน้าที่กว้างขวางมากกว่าการเป็นกิจกรรมที่กระทำเพื่อเศรษฐกิจหรือการเมือง แต่ยังเป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงความเป็นชายที่อยู่เหนือกว่าผู้ชายในแบบอื่นๆ โดยแสดงออกผ่านกิจกรรมที่เรียกว่าผจญภัย อันต้องเผชิญสัตว์ร้าย ธรรมชาติอันน่ากลัวและคนป่าผู้โหดเหี้ยม ที่มีพื้นฐานทางความคิดมาจากการสำรวจและล่าอาณานิคมก่อนจะขยายมาสู่การเป็นวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและการกีฬาแบบหนึ่งของชนชั้นกลางไทย”

วัฒนธรรมวิกตอเรียนทำให้การเข้าป่า “ผจญภัย” กลายเป็นวัฒนธรรมการท่องเที่ยวของสังคมเมืองตั้งแต่ทศวรรษ 2460 ความคิดนี้แพร่กระจายไปสู่สังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่มักมีชนชั้นเจ้านายในราชสำนักเป็นภาพแบบอย่างและการรับรู้เรื่องราวการผจญภัยผ่านงานวรรณกรรมต่างประเทศ

พีรณัฐ เปี่ยมศักดิ์สันติ และณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว บรรยายว่า ความนิยมเรื่องการผจญภัยขยายตัวให้เห็นชัดเจนในช่วงทศวรรษ 2490 สะท้อนผ่านความนิยมในตัววรรณกรรมเรื่อง “ล่องไพร” ของมาลัย ชูพินิจ นักเขียนนักผจญภัยท่านนี้ถือได้ว่าเป็นผู้สร้างโครงต้นแบบของความเป็น “ลูกผู้ชายนักผจญภัย” ในยุคที่ชนชั้นกลางในระบบทุนนิยมขยายตัว

ขณะที่ระบบทุนนิยมเข้ามา ทุนนิยมเองก็ทำให้เมืองเสื่อมโทรม สภาวะแวดล้อมของเมืองที่ถูกบีบคั้นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ผลักดันให้ผู้คนบางส่วนออกไปหาพื้นที่ที่หลุดออกจากภาวะตึงเครียดด้วยกิจกรรมที่เรียกว่า “ผจญภัย”

การสำรวจผจญภัยยังทำให้เห็นกลุ่มชาติพันธุ์นอกเมือง ซึ่งคนกลุ่มนี้มักประสบปัญหาถูกคุกคามโดยสัตว์ป่า ในวรรณกรรม ล่องไพร สะท้อนการเข้าป่าด้วยอาวุธที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้กิจกรรมเข้าป่าผจญภัยเพื่อความบันเทิงยังผสมกับความรู้สึกได้ช่วยเหลือผู้คนที่กำลังยากลำบาก สะท้อนสภาพความเหนือกว่าทางวัฒนธรรม ความคิด และเทคโนโลยี

“การผจญภัยจึงไม่เพียงเป็นการแสดงถึงความพยายามที่จะหลุดพ้นจากอำนาจต่างๆ ในสังคมเมือง และแสดงออกถึงตัวตนของบุรุษเพศ แต่ขณะเดียวกันยังเป็นการสถาปนาพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพื้นที่ทางอำนาจและการถูกยอมรับนับถือของผู้ชายนักผจญภัยด้วย” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พีรณัฐ เปี่ยมศักดิ์สันติ และณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว. “ล่องไพรกับการสร้างมโนทัศน์ ‘ลูกผู้ชายนักผจญภัย’ ในทศวรรษ 2490”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2562