เที่ยวป่าล่องไพรเมื่อ 100 ปีก่อน ในวันที่ไม่มีเรดาร์, จีพีเอส, รถ4wd แต่มี “ไข้ป่า”

ผู้ร่วมเดินทาง ผจญภัย เที่ยวป่า ล่องไพร
ผู้ร่วมเดินทางผจญภัย ฉายที่เชียงใหม่ หน้าบ้านผู้บัญชาการมณพลพายัพ (ภาพจาก“บันทึกการเดินทางผจญภัย” )

ในศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยี ทำให้มีเครื่องมือทันสมัยที่จะใช้สนับสนุนการสำรวจพื้นที่ เที่ยวป่า ล่องไพร อย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียม, เรดาร์, จีพีเอส, รถยนต์ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ฯลฯ

พลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ

แต่เมื่อ พ.ศ. 2462 หรือ 100 ปีก่อน ที่ไม่มีเครื่องมือเหล่านั้น นายทหารกลุ่มหนึ่งที่มีทั้ง นายทหารชั้นผู้ใหญ่, พลทหาร ฯลฯ ใช้เวลาเกือบ 2 เดือนในการสำรวจเส้นทาง “เลียบชายพระราชอาณาจักรด้านตะวันตก” ที่เป็นป่าเขาสูง และมีไข้ป่าชุกชุม เขาจะทำกันอย่างไร

Advertisement

พลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตราชองครักษ์พิเศษ, ผ.บ.ก.ร.5  ที่นครราชสีมา, ผู้ริเริ่มทำแผนที่บริเวณนครราชสีมา ฯลฯ หนึ่งในคณะเดินทางดังกล่าว เขียนถึงประสบการณ์ เที่ยวป่า ล่องไพร ต่าง ๆ ไว้ในหนังสือ “บันทึกการเดินทางผจญภัย” ที่ พลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ กับ พลตรี พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ร่วมกันพิมพ์ เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ เมื่อวัน 3 มิถุนายน พ.ศ. 2496

โดยทั้ง 3 คือ “เพื่อนร่วมเดินทางต่างวัย” ในการผจญภัยดังกล่าว

พลตรี พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร

ซึ่งขอสรุปรายละเอียดเนื้อหามาดังนี้ การเดินทางครั้งนั้น พลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ ในฐานะผู้อำนวยการเดินทาง กำหนดระยะเวลาเดินทางไว้ประมาณ 50 วัน โดยถือเอาการเดินทางครั้งนี้ เป็นการศึกษาของกองทัพที่ 2 ซึ่งพลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์เป็นแม่ทัพอยู่ เพราะจะเป็นการเดินทางเลียบชายพระราชอาณาจักด้านตะวันตก ที่ยังไม่เคยมีใครได้ผ่านบทเรียนมาเลย

ส่วนเส้นทางวางไว้ดังนี้ รวมพลที่สวรรคโลก แล้วเดินตามเส้นทางผ่านเมืองตากไปแม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง แม่สะเรียง เมืองฮอด จอมทอง สันป่าตอง เชียงใหม่ ด้วยเส้นทางดังกล่าวเป็นที่ราบสูง และกันดาร พลตรี พระยาอานุภาพไตรภพจึงว่าจ้างม้าต่างจากเชียงใหม่ เอาขึ้นรถไฟมารวมกับม้าขี่สำหรับนายทหารที่เชียงใหม่ไปลงที่อุตรดิตถ์ แล้วไปเข้าที่รวมพลที่สวรรคโลก และมีม้าขี่สำหรับนายทหารจากกรุงเทพฯ และพิษณุโลก ที่กรมหทารม้าที่ 7 (อุตรดิตถ์) จะมอบทหารและม้า 1 กองร้อยให้อีกส่วนหนึ่ง

สำหรับช่วงเวลาในการเดินทางนั้น พลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ พิจารณาว่าทางภาคพายัพ ในลุ่มแม่น้ำปิง เดือนพฤษภาคมเหมาะที่สุด เพราะมีฝนบ้างแล้วจะได้มีหญ้าให้ม้า และสัตว์พาหนะได้เล็มเป็นอาหารบ้าง แต่ดินฟ้าอากาศในลุ่มแม่น้ำซัลวีนไม่เหมือนกับลุ่มน้ำแม่ปิง เดือนพฤษภาคม อ่าวเบงกอลรับลมทิศตะวันตกเฉียงใต้อันเป็นมรสุม จึงเป็นเรื่องที่ผิดความคาดหมายของคณะ และทำให้ต้องผจญภัยกับเส้นทางสูงชันไปพร้อมกับฝนที่ตกหนัก, ลำห้วยที่น้ำเชี่ยวกราก ฯลฯ

ในแต่ละวันกำหนดรายการประจำวันไว้ดังนี้

05.30 น. ปลุก, 06.00 น. รับประทานอาหารร่วมกัน, 07.00 น. ออกเดินทาง (ทุกคนมีอาหารติดตัวคนละ 1 มื้อ), ระหว่าง 10.00 น. กับ 11.00 น. ถึงที่พักร้อนใหญ่ ถ้าไม่พักจะเลยไปเข้าที่พักแรมทีเดียวก็ได้ เพื่อให้มีเวลาได้พักนานทั้งคนและม้า, 12.00 น. รับประทานอาหาร ถ้าอาหารที่ติดตัวไปเป็นอาหารสด ก็ใช้อาหารนั้น ถ้าเป็นอาหารที่พอจะเก็บไว้มื้ออื่นได้ ก็จะรับประทานอาหารจากหน่วยสัมภาระที่ส่งล่วงหน้ามา, 14.00 ถ้ามีการเดินทางตอนบ่ายก็ออกเดินทาง, 15.00-16.30 ถึงที่พักเป็นอย่างช้า,

16.30-17.30 เวลาอาบน้ำ ผิดจากเวลาที่กำหนดห้ามการอาบน้ำเด็ดขาด เพราะอาจป่วยเป็นไข้ เมื่ออาบน้ำเสร็จให้นายทหารดื่มวิสกี้ได้คนละ 1-2 เป็ค การเลือกวิสกี้เพราะมีคุณภาพที่ไม่ทำให้ท้องผูก แต่ถ้าผู้ใดท้องไม่ดีหรือปวดท้องก็ให้ดื่มบรั่นดี ในการเดินป่าใครท้องผูกมักจะเป็นไข้ง่าย นอกจากนั้นยังต้องการให้โลหิตฉีดแรงและเจริญอาหารด้วย, 17.30 น. รับประทานอาหารร่วมกัน, 20.30 ให้สัญญาณเตรียมเข้านอน, 21.00 น. เข้านอนทุกคน อนึ่งเพื่อป้องกันไข้ ได้ขอความร่วมมืองดนอนกลางวันโดยทั่วกัน

แล้วการค้างคืนพักแรมในป่าทึกนั้นทำกันอย่างไร

ประมาณ 16.00 น คณะก็จะเริ่มมองหาที่พักเห็นที่ไหนเหมาะก็พักที่นั่น  ไม่ว่านายทหารและพลทหารต่างช่วยกันตัดไม้ สำหรับสร้างที่พักที่สร้างเป็นเพิงหมาแหงนพอกันฝน หลังคามุงด้วยใบตองกล้วยป่า  ข้อสำคัญในการสร้างอยู่ที่ต้องมีพื้น พื้นต้องสร้างกะให้สูงกว่าดินประมาณ 1 ศอก เอาผ้าแบล๊งเก๊ตที่ปูหลังม้าเป็นเครื่องปูลาดแล้วเอาเสื้อฝนหรือเสื้อคลุมปูทับข้างบนอีกชั้น จะนอนบนดินไม่ได้เพราะเปียก

พลตรี พระยาอานุภาพไตรภพยังเล่าเรื่องขบขันที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางว่า

พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ (ภาพจากวิกีพีเดีย)

“ตอนหนึ่งเราเกิดอวดกันขึ้นว่า ใครเป็นผู้ที่ถูกทากเกาะมีแผลน้อยที่สุด ซึ่งปรากฏว่า เสด็จในกรมหมื่นอดิศรฯ เป็นผู้ชนะเลิศ ท่านจึงลุกขึ้นอธิบายถึงวิธีระวังตัวไม่ให้ทากเกาะ แต่ยังไม่ทันจะรับสั่งจบท่านเจ้าคุณวิชิตวงศ์ฯ ก็ตะโกนชี้ให้พวกเราดูว่า ดูแน๊ะ ท่านแม่ทัพทรงมีประจำเดือน ทั้งนี้เพราะเสด็จในกรมทรงสนับเพลาจีนผ้าขาว เมื่อถูกทากเกาะจึงเห็นโลหิตถนัด พวกเราฮากันเห็นเป็นสนุก เสด็จในกรมก็ทรงขันพระองค์เอง…”

หรืออีกตอนหนึ่งที่ว่า “คืนวันหนึ่งเมื่อท่านแม่ทัพทั้ง 2 หลับสนิทในกระต๊อบที่ท่านอยู่รวมกัน น้ำฝนเกิดไหลโจ๊กลงมาใส่ท่าน ๆ เลยลุกขึ้นโวยวาย พวกเราลุกขึ้นไปดูปรากฏว่า ม้าบังอาจกินหลังคากระต๊อบของท่านเพราะมันไม่มีหญ้าจะเล็ม เลยไปเล็มเอาหลังคาเข้า…”

สิ่งที่น่าสังเกต ในการเดินทางคราวนี้คือ ขบวนที่ไปกว่า 100 คน มีนายทหารเป็นไข้เพียงคนเดียวและอาการไม่รุนแรง นอกจากเพราะแพทย์ที่ร่วมเดินทางไปด้วยแล้ว การให้ดื่มวิสกี้ในเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลง อาจช่วยให้ไม่เป็นไข้ได้เหมือนกัน เพราะแอลกอฮอล์ทำให้เลือดฉีดแรง ทั้งวิสกี้ไม่ทำให้ท้องผูก

ม้าต่างที่ใช้บรรทุกสัมภาระในการเดินทาง (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ส่วนความผจญภัยสมบุกสมบันเพียงใด หากพิจารณาจากจำนวนม้าต่างที่ว่าจ้างจากเชียงใหม่ประมาณ 50 ตัวที่เหลือรอดกลับมาเพียง 5 ตัวเพราะตกน้ำพัดไปเสียบ้าง, ตกเขาตายเพราะความลื่นบ้าง, เดินไม่ไหวเจ้าของทิ้งเสียกลางทางบ้าง ฯลฯ คงพอจะได้คำตอบ

ด้วยเหตุคนเหนือเป็นอันมากจึงไม่ยอมสบถให้ใครเลยเป็นอันขาดว่า “เกิดชาติใดภพใด ขอให้เป็นม้า (วัว) ต่าง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2561