ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“วัวต่าง” ไม่ได้มีลักษณะต่างจากวัวทั่วไปแต่อย่างใด เพียงแต่เติมคำว่า “ต่าง” ต่อท้าย พจนานุกรมฉบับมติชนอธิบายคำว่า “ต่าง” 1. เป็นคำกริยา บรรทุก, ขนย้าย 2. คำนามแปลว่าภาชนะทรงกระบอกปากผายก้นสอบเล็กน้อย ใช้บรรจุสิ่งของเพื่อการขนย้ายด้วยสัตว์์ มักใช้เป็นคู่หรือสองข้าง 3. คำวิเศษณ์ ใช้ประกอบชื่อสัตว์พาหนะที่ทำหน้าที่บรรทุก เช่น วัวต่าง, ม้าต่าง ฯลฯ
ในประเทศไทย พื้นที่ที่นิยมใช้วัวต่างมากที่คือ ภาคเหนือ เรื่องการใช้วัวต่างเป็นพาหนะค้าขายนี้มีการทำวิจัยไว้อย่างสนใจโดย ชูสิทธิ์ ชูชาติ

เขาทำวิจัยและตีพิมพ์เป็นผลงานชื่อ “รายงานวิจัยเรื่อง พ่อค้าวัวต่าง ผู้บุกเบิกการค้าขายในหมู่บ้านภาคเหนือของประเทศไทย (พ.ศ. 2398-2503)” (ศูนย์ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น, 2545) และ เขียนเป็นบทความชื่อ “พ่อค้าวัวต่าง ผู้บุกเบิกการค้าขายในหมู่บ้านภาคเหนือ” (ศิลปวัฒนธรรม, ก.ย.2546) ซึ่งขอสรุปเนื้อหามาเพียงบางส่วนให้ได้เห็นภาพการเดินทางค่้า
เริ่มจากว่าทำไมต้องเป็น “วัว” สัตว์อื่นสามารถใช้งานได้หรือไม่
แม้สัตว์อื่นที่ใช้แรงงานในบ้านเราอย่าง ช้าง, ม้า, วัว, ควาย จะใช้บรรทุกสิ่งของ และผู้คนได้เหมือนกัน แต่ช้าง-ใช้เฉพาะเจ้านาย, ขุนนาง และบุคคลที่ร่ำรวยเท่านั้น ส่วนช้างมีราคาแพง ม้า-ไม่เป็นที่นิยมใช้ มีการใช้อยู่บ้างสำหรับคนไทยลื้อ ควาย-เป็นสัตว์ที่ชอบน้ำ และทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ไม่ดี
วัวที่ใช้เป็นวัวต่าง ก็คือวัวที่ใช้ไถนา จะเป็นวัวตัวผู้หรือตัวเมียก็ได้ วัวต่าง 1 ตัวรับน้ำหนักได้ประมาณ 40-60 กิโลกรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของวัว, ระยะทาง และความกันดารของเส้นทางที่ใช้ วัวต่าง 1 ตัวเดินทางได้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง/วัน ด้วยความเร็วประมาณ 3 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในวันหนึ่งเดินทางได้ประมาณ 15-18 กิโลเมตร

ด้วยสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือประกอบด้วยป่าไม้, ภูเขา, หุบเขา และมีสัตว์ป่านานาชนิด การเดินทางจึงต้องรวมกันเป็นหมู่พวก เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการเดินทาง
ใน 1 กองคาราวานจึงประกอบด้วย นายฮ้อย (พ่อค้าวัวต่าง) ประมาณ 3-4 คน แต่ละคนมีวัวต่างประมาณ 10-60 ตัวขึ้นกับฐานะของแต่ละบุคคล โดยวัวต่างทุกๆ 10 ตัว ต้องมีคนควบคุม 1 คน ซึ่งส่วนมากมักเป็นญาติพี่น้องของพ่อค้าวัวต่าง
คาราวานวัวต่างนำสินค้าหายาก เช่น เกลือทะเล, เกลือสินเธาว์, น้ำมันก๊าด, ไม้ขีดไฟ ฯลฯ มาจำหน่ายในหมู่บ้าน และนำสินค่าของแต่ละหมู่บ้าน เช่น ข้าว, เขาสัตว์,หนังสัตว์, ขี้ผึ้ง, ยาสูบ ฯลฯ ไปขายในเมือง
กองคาราวานวัวต่างค่อยลดบทบาทลงไปเรื่อยเมื่อมีการสร้างถนนสายต่างๆ ในภาคเหนือ การบรรทุกสินค้าเปลี่ยนเป็นรถยนต์ และปิดฉากลงโดยสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2520 เมื่อถนนสายเชียงใหม่-เชียงรายสร้างเสร็จ
อ่านเพิ่มเติม :
- ทุ่งกุลาร้องไห้ บนเส้นทางการค้า กับโลกของชาว “กุลา” พ่อค้าเร่แห่งอีสาน
- เผยสภาพเมือง “เชียงใหม่” เมื่อกว่าร้อยปีก่อน จากบันทึกนายตำรวจอังกฤษ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2561