“ฟรีดริก เชเฟอร์” หมอผู้ร่วมปลุกปั้น รพ.จุฬาฯ แต่ตายก่อนได้เห็นความสำเร็จเพียงวันเดียว

นพ. ฟรีดริก เชเฟอร์ หรือ หมอเชเฟอร์ ร่วม วางรากฐาน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
นพ. ฟรีดริก เชเฟอร์ หมอชาวเยอรมันผู้มีส่วนร่วมวางรากฐานโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ 100 ปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ - ศตวรรษ อัศจรรย์)

ฟรีดริก เชเฟอร์ ชื่อนี้ในสังคมน้อยคนนักจะรู้จัก อาจเพราะกาลเวลาที่ล่วงเลยไปกว่าร้อยปี ชื่อของเขาจึงค่อยๆ เลือนหายจากความทรงจำ ทว่านามนี้กลับแจ่มชัดและโดดเด่นในประวัติการก่อตั้ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพราะ “หมอเชเฟอร์” คือหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานโรงพยาบาลจุฬาฯ แต่น่าเสียดายที่เขาไม่มีโอกาสได้เห็น เนื่องจากเสียชีวิตไปก่อนวันเปิดเพียงวันเดียวเท่านั้น

ฟรีดริก เชเฟอร์ (Friedrich Schaefer) เป็นชาวเยอรมัน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2411 รับราชการเป็นแพทย์ทหาร และศัลยแพทย์ประจำกองทัพบกเยอรมัน ก่อนจะเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ในปลายเดือนธันวาคม ปี 2451 ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นช่วงที่สยามอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศ

ศาสตราจารย์ นพ. ธนิต วัชรพุกก์ เล่าไว้ในเฟซบุ๊กเพจ 100 ปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ – ศตวรรษ อัศจรรย์ ว่า เมื่อมาใช้ชีวิตในสยาม หมอเชเฟอร์ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษากรมแพทย์ทหารบก ทำหน้าที่ช่วยพัฒนาโรงพยาบาลกลางกรมยุทธนาธิการ (โรงพยาบาลทหารบก ตั้งอยู่ริมคลองหลอด)

หมอเชเฟอร์ซึ่งสั่งสมประสบการณ์การผ่าตัดมานาน สามารถผ่าตัดใหญ่สำเร็จด้วยดีหลายครั้ง กระทั่งได้รับความไว้วางใจให้ดูแลอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ รวมถึงข้าราชการระดับสูงหลายราย เมื่อล่วงเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงพยาบาล เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หมอเชเฟอร์ ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกก่อตั้ง “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”

ศาสตราจารย์ นพ. ธนิต เล่าอีกว่า การนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงมอบหมายให้กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชดำเนินการ มีหมอเชเฟอร์เป็นผู้ช่วย โดยมี มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้ฝากฝีมือในการออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม สถานีรถไฟกรุงเทพ (สถานีรถไฟหัวลำโพง) ฯลฯ และ อี. จี. โกลโล (E. G. Gollo) วิศวกรชาวอิตาลี มาดูแลการออกแบบและก่อสร้าง

นายแพทย์ชาวเยอรมันมีบทบาทในการวางรายละเอียดแผนผังงาน เลือกและจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาล ควบคู่ไปกับงานหลักคือการรักษาคนไข้

การก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาฯ คืบหน้าไปจนขั้นตอนแรกแล้วเสร็จในปี 2457 ท่ามกลางความดีใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย แต่แล้ววันหนึ่งขณะกำลังผ่าตัดคนไข้ก็เกิดอุบัติเหตุกับหมอเชเฟอร์ บาดแผลนั้นทำให้เขาติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ขณะอายุ 45 ปี 9 เดือน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2457

การเสียชีวิตของหมอเชเฟอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลากรสำคัญในการร่วมวางรากฐานโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นเหตุให้ทางการต้องเลื่อนพิธีเปิดโรงพยาบาล จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 16 พฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 30 พฤษภาคม

นพ. ฟรีดริก เชเฟอร์ ทอดร่างอย่างสงบ ณ สุสานโปรเตสแตนต์ หรือ “สุสานฝรั่ง” ถนนเจริญกรุง ร่วมกับชาวต่างชาติคนอื่นๆ อาทิ แดน บีช แบรดลีย์ หรือ “หมอบรัดเลย์” ผู้ทำการ “ผ่าตัดใหญ่” ด้วยวิทยาการการแพทย์แบบตะวันตกครั้งแรกในสยาม เฮนรี อาลาบาศเตอร์ ราชเลขานุการด้านการต่างประเทศในรัชกาลที่ 5 เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศาสตราจารย์ นพ. ธนิต วัชรพุกก์. “นายแพทย์ฟรีดริก เชเฟอร์ Dr Friedrich Schaefer”. ในเฟซบุ๊กเพจ 100 ปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ – ศตวรรษ อัศจรรย์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2567