ปริศนา “เสลี่ยงวัดท่าพูด” นครปฐม “พระเจ้าตาก” ถวายแด่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์?

เสลี่ยงวัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม พระเจ้าตาก ถวาย
เสลี่ยง วัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม

วัดท่าพูด จังหวัดนครปฐม เป็นวัดเก่าแก่สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างราวๆ พ.ศ. 2275 ในวัดมีของสำคัญอย่าง เสลี่ยงวัดท่าพูด ที่เล่ากันว่า “พระเจ้าตาก” ถวายแด่ หลวงพ่อรด ที่มาจำพรรษาที่วัดนี้ หลังเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 แต่บ้างก็คาดว่า พระเจ้าตากน่าจะถวายแด่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดมากกว่า

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล เล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความ “เสลี่ยงปริศนา กับศรัทธาพระเจ้าตาก : ข้อสันนิษฐานว่าด้วยที่มาของเสลี่ยง ‘หลวงพ่อรด’ วัดท่าพูด นครปฐม” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม ปี 2550 ว่า สัญญา สุดล้ำเลิศ แห่งโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา เป็นผู้ริเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่อง “เสลี่ยง” วัดท่าพูด หรือที่อาจารย์สัญญาเรียกว่า “พระยานมาศ” โดยศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษาเทียบเคียงกับงานศิลปกรรมสมัยต่างๆ พบว่า พระยานมาศของวัดท่าพูดน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ราว พ.ศ. 2089-2199 หรืออายุประมาณ 400 ปี

อาจารย์สัญญาทั้งยังตั้งข้อสันนิษฐานว่า เสลี่ยงคันนี้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงอยุธยาตอนกลาง และพระเจ้าตากได้ถวายแด่หลวงพ่อรด ในคราวที่โปรดให้ประชุมพระราชาคณะที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังฯ) ในตอนต้นรัชกาล รวมทั้งยังเกี่ยวโยงกับสถานะของหลวงพ่อรด ที่อาจเป็นพระราชาคณะชั้นสูง ที่ผูกพันกับพระเจ้าตาก หรืออาจเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม อภิลักษณ์เห็นว่า “เสลี่ยงวัดท่าพูด” น่าจะได้รับพระราชทานจากเจ้านายเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง (ซึ่งรวมถึงพระเจ้าตาก) ที่ถวายเป็นพุทธบูชามหากุศลตามอย่างบุรพมหาจักรพรรดิราช ที่ทรงกระทำสืบมาแต่ก่อน อันเนื่องมาแต่พระราชศรัทธาที่ทรงมีต่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัด มากกว่าจะถวายแด่แก่หลวงพ่อรดโดยตรง

อภิลักษณ์ยกหลักฐานมาประกอบข้อสันนิษฐานว่า เสลี่ยงวัดท่าพูด มีฐานถึง 5 ชั้น ฐานแต่ละชั้นยิ่งสูงพื้นจะยิ่งแคบ ไม่น่าจะเหมาะกับการนั่ง ไม่ว่าจะนั่งห้อยขา หรือนั่งขัดสมาธิพื้นราบ ต่างจากเสลี่ยง หรือพระยานมาศทั่วไป ที่ฐานแต่ละชั้นพื้นจะมีขนาดใกล้เคียงกัน การสร้างให้ฐานมีความลดหลั่นกันลงมาเช่นนี้ จึงน่าจะใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ เพื่อเป็นเครื่องสักการะประดับเกียรติ หรือใช้แห่แหนในโอกาสสำคัญมากกว่า

ถ้าเสลี่ยงนี้ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัดท่าพูด แล้วพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวคือพระอะไร?

เรื่องนี้ อภิลักษณ์บอกว่า วัดท่าพูดมีพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ คือ “หลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ์” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อเพชร และ “หลวงพ่อผลบุญ”

ประวัติของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้ไม่ค่อยชัดเจน ทราบกันแต่เพียงว่า เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระประธานในพระวิหารวัดท่าพูด ส่วนหลวงพ่อผลบุญเล่ากันว่า เป็นพระพุทธรูปประธานในกุฏิหลวงพ่อรด แต่ก็เล่าสืบกันมาแบบไม่มีบันทึกลายลักษณ์อักษร

เหตุที่ต้องถวายเสลี่ยง อภิลักษณ์คาดว่า หากเชื่อว่าพระเจ้าตากเป็นผู้ถวาย ก็มีมูลเหตุ เช่น เรื่องพระราชศรัทธาที่ทรงมีต่อพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งอาจเนื่องมาจากความผูกพัน โดยวัดในอยุธยาที่ผูกพันกับพระเจ้าตากมากที่สุด เห็นจะเป็น “วัดโกษาวาศน์” หรือวัดคลัง ปัจจุบันคือ วัดเชิงท่า นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา

“ดังนั้นหากหลวงพ่อผลบุญนี้เป็นพระพุทธรูปที่อาราธนามาจากกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชศรัทธา ก็น่าจะเป็นพระพุทธรูปจากวัดโกษาวาศน์นี้

“หรือถ้าเป็นแง่ของความศักดิ์สิทธิ์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสด็จฯ ผ่าน และทรงกระทำสัจจาธิษฐานต่อหลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ์ หรือหลวงพ่อผลบุญ แล้วจึงอุทิศเครื่องราชูปโภคนี้ถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นก็ไม่ใคร่จะมั่นคงนัก รวมถึงเหตุการณ์ที่บั่นทอนกำลังใจ เช่น เรื่องคำทำนายของมหาโสภิตะ เกี่ยวกับการล่มสลายของกรุงธนบุรี ก็มีเป็นไปได้” อภิลักษณ์ระบุ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “เสลี่ยงปริศนา กับศรัทธาพระเจ้าตาก : ข้อสันนิษฐานว่าด้วยที่มาของเสลี่ยง ‘หลวงพ่อรด’ วัดท่าพูด นครปฐม”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม ปี 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567