ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ทัมใจ” ยาแก้ปวดหัวชนิดผง ที่ขายมากว่า 90 ปี และยังขายอยู่ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสินค้าสร้างชื่อและเป็นที่รู้จักของ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
แต่ก่อนที่จะเป็นโอสถสภา ชื่อที่คนไทยคุ้นเคยกันมานานก็คือ “โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู)”
เต๊กเฮงหยู คือ ร้านค้าเล็กย่านสำเพ็ง ก่อตั้งขึ้นในปี 2434 โดยแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ ในระยะแรกจำหน่ายของเบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่น นาฬิกา, ร่ม, ถ้วยชาม ฯลฯ โดยเป็นการขายส่งไปต่างจังหวัดเสียเป็นส่วนใหญ่
ก่อนจะเริ่มขายยาเป็นครั้งแรกราวปี 2454 เมื่อห้าง บี.กริมม์ นำยาแก้เมื่อย แก้แพ้ ชื่อ “ปัถวีพิการ” มาฝาก นายแป๊ะจึงเกิดความคิดว่าควรจะขายยาดูบ้าง ทั้งมีตำรายากฤษณากลั่น ซึ่งเป็นยาแก้ปวดท้อง, ท้องร่วง, ลงท้อง จึงทำยากฤษณากลั่น โดยใช้รูปกิเลนเหยียบโลกเป็นโลโก้สินค้า เรียกกันทั่วไปว่า “กฤษณากลั่น ตรากิเลน” ซึ่งนายแป๊ะอดีตมหาดเล็กสมัยรัชกาลที่ 6 เคยนำไปทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์
ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน ขายดียิ่งขึ้น เมื่อการซ้อมเสือป่าคราวหนึ่งเกิดโรคท้องร่วง บรรดาเสือป่าจึงนำยากฤษณากลั่นมาใช้ ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นก็หายเป็นปกติ
ความทราบถึงรัชกาลที่ 6 ครั้นทรงพระราชนิพนธ์ชื่อ “กันป่วย” จึงทรงแนะนำยากฤษณากลั่นเป็น 1 ใน 4 รายการ ที่ทหารและเสือป่าควรมีติดตัว ว่า “ยากฤษณากลั่น สำหรับแก้ปวดท้องและลงท้อง มีขายที่ร้านนายแป๊ะ”
ปี 2475 เต๊กเฮงหยูในยุคของสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ (บุตรชายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์) ก็ย้ายมาอยู่ที่แถวแยก เอส.เอ.บี. ถนนเจริญกรุง ใช้ชื่อร้านว่า “โอสถสถานเต๊กเฮงหยู” ขณะนั้นนอกจากยากฤษณากลั่นแล้ว ยังผลิตยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ เช่น ยาทันใจ (ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “ทัมใจ” ในภายหลัง), ยาอมโบตัน, น้ำยาอุทัยทิพย์ ฯลฯ ที่ขายมาจนปัจจุบัน
หากชื่อยา “ทันใจ” ที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถแก้ปวดได้ “ทันใจ” และขัดกับหลักเกณฑ์การโฆษณายา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ทัมใจ” ที่อาจไม่มีความหมายที่ชัดเจน แต่ออกเสียงใกล้เคียงและดูคล้ายชื่อเดิมที่ประชาชนจดจำได้แล้ว
“ยาทัมใจ” เป็นสินค้าเรือธง ที่ขายดีและเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว เมื่อสวัสดิ์นำยาทัมใจไปมอบให้ผู้ที่ลงรับสมัครเป็นผู้แทนราษฎร เวลาลงพื้นที่ไปหาเสียงต่างจังหวัด โดยมอบให้กับพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ได้ทดลองใช้ยาทัมใจ จนทำยาเป็นที่รู้จักในพื้นที่ต่างๆ และติดตลาด
นอกจากนี้ ยังริเริ่ม “ฉายหนังขายยา” โดยจัดหน่วยออกไปตามชุมชนในต่างจังหวัด ตั้งวิกฉายหนังกลางแปลง มีเรือ/รถโฆษณายาที่นำมาขายให้ถึงในพื้นที่ พร้อมกับเชิญชวนประชาชนมาดูหนังกลางแปลงในยามค่ำ ไปพร้อมๆ กับการเลือกซื้อยาที่นำมาขาย
ทั้งยังมีการจัดทำป้ายโฆษณา “ทัมใจ” อยู่ตามทางรถไฟ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญสู่ภูมิภาค ขณะที่ในตลาดก็มีคู่แข่งขันสำคัญ เช่น ยากฤษณากลั่นเพ็ญภาค, ยาแก้ปวดประสะนอแรด (ภายหลัง เปลี่ยนเป็น “ประสาบอแรด”) ฯลฯ และยานำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีการริเริ่มการปล่อยเครดิต 3-4 เดือน ให้กับร้านขายยา เพื่อการขยายตลาด
ส่วนชื่อ โอสถสถานเต๊กเฮงหยู (ปี 2475) ก็เปลี่ยนจาก “โอสถสถาน” เป็น “โอสถสภา” (ซึ่งเดิมเป็นชื่อสถานที่ขายยาของรัฐ ที่เปลี่ยนไปใช้ “โอสถศาลา” แทน) และเปลี่ยนเป็น บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด ในปี 2492 เนื่องจากลูกค้ายังติดกับชื่อ “เต๊กเฮงหยู” ก่อนจะเป็น บริษัท โอสถสภา จำกัด (ปี 2538) และแปรสภาพเป็น บมจ. โอสถสภา ปี 2561
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2529
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กันป่วย, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวก พระยาราชอักษร (ใช้ อัศวรักษ์) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2496
https://www.osotspa.com
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2567