เชื่อหรือไม่ ครั้งหนึ่ง “ป่อเต็กตึ๊ง” เปิดให้บริการทำคลอดฝากครรภ์ 

คนจีนแต้จิ๋ว มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง
พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยก่อตั้งมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง (จากซ้าย) คนที่ 1-แต้โหงวเล้า (อุเทน เตชะไพบูลย์) คนที่ 5-เหียกวงเอี่ยม อดีตนายกสมาคมพาณิชย์จีนแห่งประเทศไทย พ่อค้าชาวแต้จิ๋วที่มีชื่อเสียงในอดีต

“มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ที่มักเรียกสั้นๆ ว่า “ป่อเต็กตึ๊ง” และ “ศาลเจ้าไต้ฮงกง” คือหนึ่งในสถานที่ฮิตสุดที่คนจีนและคนไทยจำนวนมากนิยมไปกราบไหว้, ทำบุญบริจาคโลง และพะเก่ง (หรือแก้ชง)

แต่ครั้งหนึ่ง ป่อเต็กตึ๊ง ต้องแบ่งพื้นที่หลังศาลเจ้า เพื่อให้บริการ “ทำคลอดฝากครรภ์”

ก่อนอื่น ขออธิบายความสัมพันธ์ของ “ป่อเต็กตึ๊ง” และ “ศาลเจ้าไต้ฮงกง” ก่อน ทั้งมูลนิธิและศาลเจ้าเป็นองค์กรการกุศลหน่วยงานเดียว ที่เกิดขึ้นจากคนจีนโพ้นทะเลในไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

ต่อมา นักธุรกิจจีนในไทย, สมาคมจีน และหนังสือพิมพ์จีน ระดมความคิดกันเพื่อปฏิรูป ก่อนจะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อปี 2480 ใช้ชื่อว่า “ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี้ยงตึ๊ง” ซึ่งแต่ละคำมีความหมายดังนี้ ฮั่วเคี้ยว-จีนโพ้นทะเล, ป่อเต็ก-สนองคุณ, เซี้ยงตึ๊ง-องค์กรสาธารณกุศลหรือมูลนิธิ ปัจจุบันชื่อมูลนิธิในภาษาจีนยังเป็นชื่อเดิม แต่ภาษาไทยเหลือเพียง “ป่อเต็กตึ๊ง”

ส่วน “ไต้ฮงกง” เป็นภิกษุจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง ท่านทำกิจกรรมสาธารณสุขจนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวจีนทางใต้ คนจีนโพ้นทะเลในไทยส่วนใหญ่ก็เป็นจีนทางใต้ รับรู้เกียรติคุณของท่าน เมื่อพวกเขารวมกันทำกิจการสาธารณกุศล จึงนำรูปเคารพของไต้ฮงกงมาประดิษฐานเป็นขวัญกำลังใจ และยึดเป็นแบบอย่าง

คราวนี้ก็กลับมาเรื่อง ป่อเต็กตึ๊ง แบ่งพื้นที่ศาลเจ้าเพื่อให้บริการ “ทำคลอดฝากครรภ์” โดยตอนหนึ่งใน “คือพ่อพระ คือผู้ให้… อุเทน เตชะไพบูลย์” หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานดินฝังศพนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นอดีตประธานของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวว่า

“ในช่วงต้นสงคราม [สงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ราว พ.ศ. 2480-2488 ต่อเนื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2482-2485-ผู้เขียน] ชาวจีนได้หลั่งไหลหลบหนีภัยสงครามเข้ามายังประเทศไทย…หนึ่งในสี่ของผู้อพยพเป็นหญิงที่ติดตามสามีเข้ามา ส่วนใหญ่ยากไร้และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ความไม่คุ้นเคยกับภาษาและวัฒนธรรมสยาม ทำให้เกิดปัญหายามตั้งครรภ์และต้องมาคลอดบุตร 

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจึงเข้ามาเป็นตัวเชื่อมช่องว่างนี้ ด้วยการเปิด ‘สถานผดุงครรภ์หัวเฉียว’ หรือ ‘ฮั่วเคี้ยวกิ้วหูลิวซั่วอี่’…ขนาด 8 เตียง ที่หลังศาล…รับทำคลอดทั้งในและนอกสถานที่โดยหมอจีนและผดุงครรภ์จีนที่เดินทางมาจากกวางเจา…” (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

สถานผดุงครรภ์หัวเฉียว เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2481 โดยตั้งสถานผดุงครรภ์ขนาดเล็กรับคนไข้ 8 เตียง ใช้ห้องโถง 2 ชั้น ด้านหลังศาลเจ้าเป็นที่ทำการ รับทำคลอด มีแพทย์จีนประจำ 1 คน ผดุงครรภ์จีน 2 คน ผู้ช่วยผดุงครรภ์ 4 คน คนงาน 3 คน และผู้รับเงิน 1 คน รวม 11 คน

หนังสือ ป่อเต็กตึ้ง บนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย นางสุขจิต กายนันท์ (ซกเกียง แซ่โง้ว) ผู้ที่ฝึกผดุงครรภ์รุ่นแรกของป่อเต็กตึ๊ง กล่าวไว้ว่า

“จำได้ว่ามีห้องพิเศษ 2 ห้อง นอกนั้นเป็นเตียงผ้าใบ ข้างล่างเป็นห้องพิเศษมีอยู่เตียงหนึ่ง แล้วมีห้องฉุกเฉินกับสำนักงาน… มี 8 เตียง ภาษาจีนเรียก ‘ฮั่วเคี้ยวกิ้วหูลิวซั่วอี่’ ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้ ‘อุยอี่ [โรงพยาบาล-ผู้เขียน]’ นะ ยังไม่เป็นโรงพยาบาลเป็นที่ฝึกหัด แล้วมีอาจารย์เชิญมาจากเมืองจีนที่กวางโจว เขาแต่งกี่เพ้า พวกเราก็เอาอย่าง… คนไข้ที่รวยมีน้อย เราไม่เก็บเงินคนไข้เลย แล้วแต่เขาก็จะให้ถ้าเขามี บางคนให้ 5 บาท 10 บาท ถ้าออกไปดูแลเขาข้างนอกเขาก็ให้ค่ารถบ้าง คนไข้ส่วนใหญ่เป็นคนจีน…”  

ส่วนบริการทำคลอดหลังศาลเจ้าของ ป่อเต็กตึ๊ง ก็เป็นที่นิยมของคุณแม่ทั้งหลาย 

การบริการทำคลอดของป่อเต็กตึ๊งเวลานั้นได้รับความนิยมและแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2482 มีผู้มาใช้บริการถึง 1,200 คน แต่ส่วนใหญ่เป็นการคลอดที่บ้าน เพราะสถานที่ให้บริการจำกัดและคับแคบ ทั้งยังเป็นศาลเจ้าอีกด้วย มีผู้มาใช้บริการทำคลอดในสถานที่เพียง 10% เท่านั้น

อุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จึงคิดขยับขยายออกไปเช่าบ้านแถวพลับพลาไชย  ตั้งขึ้นเป็นโรงพยาบาลขนาด 25 เตียง และบริการรักษาพยาบาลอื่นๆ เพิ่มเติม โดยให้ชื่อว่า “โรงพยาบาลหัวเฉียว” (หัวเฉียว-เป็นภาษาจีนกลาง, ฮั่วเคี้ยว-เป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าจีนโพ้นทะเล) ก่อนจะขยายเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

นรุตม์. “คือพ่อพระ คือผู้ให้… อุเทน เตชะไพบูลย์” หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานดินฝังศพนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ณ สุสานตระกูลเตชะไพบูลย์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551.

กรรณิการ์ ตันประเสริฐ และคณะ. ป่อเต็กตึ้ง บนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2567