เปิดที่มา “หลักสูตร วปอ.” เสริมแกร่งความมั่นคง สร้างเครือข่าย รัฐ-เอกชน-การเมือง 

วปอ. วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
สัญลักษณ์ วปอ. (ภาพจาก เว็บไซต์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร / www.thaindc.org)

หลักสูตร วปอ. ชื่อเต็มว่า “หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร” เป็นหลักสูตรการศึกษาอบรมของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันการศึกษาและการวิจัยระดับสูงของกระทรวงกลาโหม ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2498

ปี 2498 เปิดรับ นักศึกษาหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 1 โดยรับเฉพาะข้าราชการทหารตำรวจที่มียศตั้งแต่พลจัตวาขึ้นไปจากทั้ง 3 เหล่าทัพ กับข้าราชการพลเรือนชั้นพิเศษ และนายตำรวจที่มียศตั้งแต่นายพลตำรวจจัตวาขึ้นไป โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ นักศึกษาทุกคนจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เข้ารับการศึกษา เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นระหว่างทหารและข้าราชพลเรือน หรือระบบราชการ ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศในขณะนั้น

Advertisement

ปี 2510 หลักสูตรเปิดกว้างมากขึ้น โดยขยายให้ผู้บริหารระดับสูงจากรัฐวิสาหกิจต่างๆ เข้าร่วมอบรมในหลักสูตร

ปี 2532 วปอ. เห็นความจำเป็นของการส่งเสริมให้ภาคเอกชน เข้ามาร่วมสร้างความมั่นคงของชาติด้านเศรษฐกิจร่วมกันกับภาครัฐบาล จึงเปิด “หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน (ปรอ.)” จึงผู้บริหารระดับสูงจากธุรกิจเอกชนหลายแห่งมาเป็นศิษย์เก่าของ วปอ.

ปี 2546 พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีความเห็นว่าภาคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จึงเสนอแนะให้ วปอ. เปิดหลักสูตรการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้นักการเมืองได้มีส่วนร่วมเข้ารับการศึกษา จึงได้เปิดการศึกษา “หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐเอกชนและการเมือง (วปม.)” 

ปี 2550 สภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มีมติให้ปิดการศึกษาหลักสูตร วปม. ลง แต่ยังคงให้นักการเมืองสามารถเข้ามาศึกษาร่วมในหลักสูตร ปรอ. ได้ โดยเข้ามาศึกษาในคุณสมบัติของบุคคลทั่วไป เพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายได้เสริมสร้างความมั่นคงร่วมกัน

ปี 2555 สภา วปอ. มีมติให้เปิดการศึกษาหลักสูตร วปม. อีกครั้ง และมีการศึกษาต่อเนื่องมาจนถึง วปม.รุ่นที่ 7 ในปีการศึกษา 2556

ปี 2557 สภา วปอ. ได้มีมติเห็นชอบให้เหลือเพียงหลักสูตรเดียว คือ วปอ. โดยมีการปรับหัวข้อวิชาการหลักสูตรต่างๆ หลักสูตรเดียว เพื่อให้การจัดการศึกษามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและไม่เกิดความแตกต่างกันในแต่ละหลักสูตร 

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรสำหรับผู้บริหารอื่นๆ ที่คล้ายกับ หลักสูตร วปอ. ตัวอย่างเช่น

  1. หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดหลักสูตรเมื่อปี 2539
  2. หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ของสถาบันพระปกเกล้า เปิดหลักสูตรเมื่อปี 2539
  3. หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดหลักสูตรเมื่อปี 2548
  4. หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) ของหอการค้าไทย เปิดหลักสูตรเมื่อปี 2548
  5. หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ของสถาบันการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการ เปิดหลักสูตรเมื่อปี 2552

สมาชิกตระกูลมหาเศรษฐีไทย ที่เคยเข้าหลักสูตรข้างต้น เช่น ตระกูลเจียรวนนท์ ธนินท์ ปรอ. 1, ชัชวาลย์ ปรอ.2 และ วตท.9, ศุภชัย วตท. 10 ฯลฯ ตระกูลสิริวัฒนภักดี ฐาปน บ.ย.ส. 14 และ วตท. 5, ปณต วตท. 9 ฯลฯ ตระกูลปราสาทองโอสถ ปราเสริฐ ปรอ. 1, พุฒิพงศ์ บ.ย.ส. 13 ฯลฯ ตระกูลจิราธิวัฒน์ สุทธิเกียรติ ปรอ. 1, กอบชัย ปรอ. 21, สุทธิธรรม ปรอ. 13, ทศ วตท. 3 ฯลฯ ตระกูลชินวัตร พายัพ ปรอ. 14 และ วตท. 13, เยาวเรศ ปรอ. 17, ยิ่งลักษณ์ วตท. 12 ฯลฯ ตระกูลภิรมย์ภักดี จีรานุช ปรอ. 21 และ วตท. 13, ศุภชัย วปอ. 51, จุตินันท์ วตท. 8 ฯลฯ เป็นต้น

ทว่า หลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูง ที่ผสมผสานผู้เข้าอบรมจากภาครัฐ (ข้าราชพลเรือน, ทหาร, ตำรวจ) ภาคการเมือง และภาคธุรกิจ ประโยชน์ที่เกิดจากการเข้าหลักสูตรนอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างคือ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งที่ทางการและไม่เป็นทางการระหว่างผู้เข้าอบรม และระหว่างรุ่น เกิดเป็น “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง”

เครือข่ายรัฐ-เอกชน-การเมือง เหล่านี้ ก่อให้เกิดผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยได้หลายรูปแบบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

“ความเป็นมา/ประวัติสถาบัน” ใน https://www.thaindc.org/

นวลน้อย ตรีรัตน์ และภาคภูมิ วาณิชกะ. “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษาพิเศษ” ใน, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ “สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่นคงและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฎิรูป” ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พฤศจิกายน 2556.


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2567