ไทยเกือบต้องเป็น “รัฐในอารักขา” ของอังกฤษ หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น เชลยศึกชาวออสเตรเลีย เชลยศึกชาวดัตช์ ใน ค่ายญี่ปุ่น รัฐในอารักขา
เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรในค่ายญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากคนไทย ได้บอกเล่าเรื่องราวนี้แก่สาธารณะ และในชั้นศาล ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยรอดจากการเป็น “รัฐในอารักขา” ของอังกฤษ (ภาพจากหนังสือ ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระ เกี่ยวกับเมืองไทย สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา)

เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้กองทัพสัมพันธมิตร (14 สิงหาคม พ.ศ. 2488) ไทย ก็อยู่ในฝ่ายผู้แพ้เช่นกัน และเกือบต้องเป็น “รัฐในอารักขา” ของ อังกฤษ 

หลังรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน ผู้บัญชาการทหารสัมพันธมิตรในเอเชียอาคเนย์ ส่งกองพลอินเดียที่ 7 จำนวน 17,000 คน มาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทยและบีบให้ไทยเซ็น “ข้อตกลงสมบูรณ์” แบบเร่งด่วน เพราะตราบใดที่ไทยยังไม่เซ็น สถานะสงครามกับไทยและอังกฤษกับเครือจักรภพก็ยังอยู่

ทำให้อังกฤษยังไม่เปิดสถานทูตในไทย ยังไม่ยอมคืนทองและเงินปอนด์ (มูลค่าขณะนั้นประมาณ 265 ล้านบาท) ที่อังกฤษอายัดไว้ที่ลอนดอน, ไทยต้องเลี้ยงดูเสียค่าใช้จ่ายทั้งทหารกองพลที่ 7 และเชลยศึก (ทหารญี่ปุ่นราว 1.2 แสนคน) จนกว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะปลดอาวุธและส่งทหารญี่ปุ่นกลับไปหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ ที่ไทยต้องดูแลทั้งทหารสัมพันธมิตร ทหารญี่ปุ่น และเชลยที่ญี่ปุ่นจับไว้

มีการเจรจาระหว่างไทย-อังกฤษ หลายครั้งกว่าจะตกลงกันได้

ด้วยอังกฤษเรียกร้องและปรับโทษไทยค่อนข้างรุนแรง เช่น ในร่างสัญญาครั้งหนึ่ง อังกฤษจะให้ยุบองค์กรทางทหาร ทางการเมือง ที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อสัมพันธมิตร จะเข้าปกครอง จะควบคุมเรือสินค้าไทย การฝึกทหาร ฯลฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วนั่นเท่ากับไทยหมดเอกราชอธิปไตยทันที

หรือในการเจรจาอีกครั้งหนึ่งที่กำหนดว่า ไทยต้องให้ข้าวสาร 1.5 ล้านตัน แก่อังกฤษ (มูลค่าขณะนั้น 2,500 ล้านบาท โดยจำนวนดังกล่าว เท่ากับปริมาณข้าวที่ไทยผลิต 1 ปี) ไทยต้องจ่ายความเสียหายของฝ่ายอังกฤษในระหว่างสงคราม ต้องเลี้ยงเชลยศึกและทหารสัมพันธมิตรในไทย

จนไทยต้องล็อบบี้ให้สหรัฐช่วย การลงนามจึงเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 ที่สิงคโปร์ ผู้แทนไทยกับอังกฤษก็ลงนาม ข้อตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย ซึ่งมีทั้งหมด 24 ข้อ ซึ่งมีสาระสรุปได้ดังนี้

  1. ยกเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ
  2. ไทยคืนทรัพย์สินของอังกฤษหรือจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สิน สิทธิ ผลประโยชน์สัมปทานต่างๆ ในไทย ที่เสียหายในระหว่างสงคราม รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ที่ค้าง และเงินบำนาญของข้าราชการอังกฤษที่ค้าง
  3. ไทยจะไม่ขุดคลองตัดแหลมทอง (คอคอดกระ) ถ้าอังกฤษไม่ยินยอม
  4. ห้ามไทยส่งออกข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก จนถึง 1 กันยายน 2490
  5. ไทยจะมอบข้าวสาร 1.5 ล้านตัน แก่อังกฤษ โดยไม่คิดมูลค่า (ราคาข้าวขณะนั้นตันละ 28 ปอนด์ ปอนด์ละ 60 บาท หรือประมาณ 2,520 ล้านบาท)
  6. ไทยจะร่วมกับอังกฤษ อินเดีย เกี่ยวกับการร่วมบำรุงรักษาที่ฝังศพเชลยฝ่ายสัมพันธมิตร
  7. อังกฤษและอินเดียจะสนับสนุนไทยให้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ
  8. ทรัพย์สินของญี่ปุ่นและของศัตรูอื่น (หมายถึงเยอรมนี) ยกให้ฝ่ายสัมพันธมิตร
  9. ไทยร่วมมือจับกุมอาชญากรสงครามให้ฝ่ายสัมพันธมิตร
  10. กองทหารสัมพันธมิตรได้รับความคุ้มครองทางการศาล
  11. ให้ความสะดวกทุกอย่างแก่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในไทยโดยไม่คิดมูลค่า (ทั้งค่าอาหาร ที่พัก การเดินทาง การขนส่ง)
  12. ไทยจะถอนเจ้าหน้าที่พลเรือนและทหารที่อยู่ในดินแดนอังกฤษที่ไทยยึดครอง (หมายถึง 4 รัฐมลายู  (รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี, ปะลิส) เชียงตุง และเมืองพาน) และคืนทรัพย์สินที่ฝ่ายไทยเอาไปจากดินแดนเหล่านี้
  13. อังกฤษจะเลิกอายัดทรัพย์สินของไทยที่อยู่ในอังกฤษระหว่างสงคราม
  14. ไทยจะปฏิบัติตามกฎบัตร มติของสหประชาชาติ และคณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม
  15. ไทยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยดีบุกหรือยาง

แม้ ไทย กับ อังกฤษ จะเลิกสถานะสงครามต่อกันแล้ว แต่ปัญหาบางข้อยังไม่ยุติ

เพราะยังมีหลายประเด็นที่ต้องเจรจากันต่อ เช่น ค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกิจการของอังกฤษในไทยระหว่างสงคราม เช่น เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดถูกเหมืองแร่ โรงเลื่อย คลังน้ำมัน และบริษัทอังกฤษ เดิมฝ่ายไทยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำ หากสุดท้ายก็ตกลงมอบเงิน 5.2 ล้านปอนด์ (มูลค่าขณะนั้นราว 313 ล้านบาท) ให้อังกฤษไปตกลงกับภาคเอกชนอังกฤษเอง เรื่องจึงยุติ

ส่วนเหตุที่อังกฤษยกเลิกสถานะสงครามกับไทยและไม่ยึดไทยเป็น รัฐในอารักขา นั้นพอสรุปได้ดังนี้

1. การรีบประกาศสันติภาพของไทย (ประกาศในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หลังสงครามยุติเพียง 2 วัน) ประกาศโดย ดร. ปรีดี พนมยงค์ ในพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 8 เพื่อให้ชาวไทยและชาวโลกทราบว่า ไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย เพราะฝืนเจตจำนงของชาวไทยและผิดรัฐธรรมนูญ (ด้วยมีผู้ลงนามแทนพระเจ้าแผ่นดิน คือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียง 2 คน แต่ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ได้ลงนาม)

พร้อมจะคืนดินแดนที่ไทยครอบครองให้อังกฤษ (ได้แก่ รัฐกลันตัน, ตรังกานู, ไทรบุรี, ปะลิส, เชียงตุง และเมืองพาน) ไทยจะยกเลิกกฎหมายใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐ อังกฤษ และเครือจักรภพโดยเร็ว ยอมชดใช้ค่าเสียหายโดยชอบธรรม และจะปฏิบัติตามข้อตกลงของสหประชาชาติ

2. ผู้แทนลับของไทย ที่ไปล็อบบี้กับสหรัฐ (พฤษภาคม 2488 – 31 มกราคม 2489) ซึ่งอังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส เกรงใจสหรัฐ เพราะระหว่างสงครามสหรัฐได้ช่วยเหลือประเทศทั้งสองเป็นอันมาก เช่น ให้อังกฤษเช่า-ยืมเรือพิฆาต 50 ลำ ไปสู้กับฝ่ายเยอรมนี เมื่อสหรัฐประกาศสงครามกับญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี ยังช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรให้รถถัง เครื่องบิน เรือรบ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อสหรัฐทักท้วงเรื่องข้อตกลงสมบูรณ์แบบ อังกฤษก็ยอมผ่อนปรนท่าที

3. ไทยทำคุณไถ่โทษต่ออังกฤษ เช่น รีบคืนดินแดน 6 แห่งให้ โดยที่อังกฤษไม่ได้เรียกร้อง, ยอมบริจาคข้าวสาร 240, 000 ตัน (มูลค่าขณะนั้น 480 ล้านบาท) ให้สหประชาชาติโดยผ่านอังกฤษ ไปช่วยอาณานิคมที่กำลังอดอยากเดือดร้อนมาก อันเนื่องมาจากสงคราม ฯลฯ

4. ผลงานของเสรีไทย 80,000 คน ที่ช่วยส่งข้อมูลทางการทหารของญี่ปุ่นไปให้สัมพันธมิตร และเตรียมพร้อมจะลุกฮือโจมตีญี่ปุ่น

5. การช่วยเหลือของคนไทยต่อเชลยศึกและกรรมกรที่มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ เชลยศึกมีทั้งเชลยที่ญี่ปุ่นจับมาจากสิงคโปร์ ชวา ฯลฯ ที่ทุกข์ทรมานมากจากงานและโรคภัย แต่ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค หากมีบันทึกคำให้การของเชลยศึกในศาลอาชญากรสงคราม ปรากฏเรื่องความเมตตาของคนไทยที่ช่วยเหลือเชลยศึก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอังกฤษ ออสเตรเลีย ดัตช์ นิวซีแลนด์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สัมพันธมิตรซาบซึ้ง ไม่อยากลงโทษไทยอย่างที่อังกฤษต้องการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ศ. สุวิทย์ ธีรศาศวัต. “สงครามมหาเอเชียบูรพา ไทยรอดจากการยึดครองของญี่ปุ่น แต่เกือบเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2566