รถถังไทเกอร์ “รถถังที่น่ากลัวที่สุด” ในสงครามโลกครั้งที่ 2

รถถัง สงครามโลกครั้งที่ 2 รถถังไทเกอร์
รถถังไทเกอร์ รถถังที่น่ากลัวที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก "100 สิ่งสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2" สนพ.มติชน)

รถถังไทเกอร์ ได้ชื่อว่า “รถถังที่น่ากลัวที่สุด” ใน สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในปี 1941 ฮิตเลอร์ออกคำสั่งเร่งการผลิตมันเพื่อตอบโต้รถถังหนักของรัสเซีย รถถังสัญชาติเยอรมนี รุ่นนี้มีพลประจำรถ 5 นาย คือ ผู้บัญชาการ, พลขับ, พลยิง, พลบรรจุ และเจ้าหน้าที่วิทยุ

ความแข็งแกร่งของ “รถถังไทเกอร์” มีหลายจุด เช่น เกราะด้านหน้ามีความหนา 100 มม. หรือเกือบ 4 นิ้ว วิ่งได้ไกลราว 190 กิโลเมตร ขึ้นกับสภาพภูมิประเทศและการสู้รบ แม้จะสามารถวิ่งเร็วที่สุดเพียง 37 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ด้วยการโฆษณาจากฝ่ายรัฐบาลเยอรมนี จึงสร้างชื่อเสียงที่น่าเกรงขามให้มันได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

ที่สำคัญคือ การติดตั้งอาวุธที่น่ากลัว คือ ปืน 88 มม. 1 กระบอก จำนวน 80 นัด ที่สามารถโจมตีทหารประจำรถถังฝ่ายตรงข้ามได้อย่างน่าสะพรึงกลัว และปืนกล 7.92 มม. อีก 2 กระบอก รถถังไทเกอร์ยังไม่สะดุ้งสะเทือนกับการทำลายล้างใดของอีกฝ่าย ยกเว้นเพียง “ปืนต่อสู้รถถัง 17 ปอนด์ของอังกฤษ” ที่รถถังอังกฤษเองก็มีเพียงไม่กี่คันที่ติดตั้งปืนแบบนี้

นั่นทำให้เกิดความกลัวรถถังไทเกอร์ในเหล่าทหารอเมริกันและอังกฤษ และเรียกอาการดังกล่าวว่า “ไทเกอร์ โฟเบีย-โรคกลัวรถถังไทเกอร์” กล่าวกันว่า ต้องใช้รถถังเชอร์แมนของอเมริกาถึง 5 คัน จึงจะสามารถทำลายรถถังไทเกอร์ที่ถูกต้อนให้จนมุมได้ แต่ก็ต้องแลกมันกับรถถังเชอร์แมนถึง 4 คัน

ในสมรภูมิที่หมู่บ้านวิลเยร์ส-โบกาจ เมืองนอร์มังดี (13 มิถุนายน 1944) คือ ตัวอย่างที่แสดงแสนยานุภาพของรถถังไทเกอร์จากกองร้อยยานเกราะที่ 2 แห่งกองพันยานเกราะที่ 101 ของเอสเอส (Waffen SS) เมื่อมันสามารถทำลายรถหุ้มเกราะ 119 คัน

ที่นั่น รถถังไทเกอร์ จำนวน 5 คันเผชิญกับศัตรูอย่าง “ปืนต่อสู้รถถัง 17 ปอนด์ของอังกฤษ” ในที่สุดรถถังไทเกอร์คันหนึ่งก็ถูกน็อก แต่รถถังไทเกอร์อีก 4 คันที่เหลือก็ไม่ทำให้เสียชื่อ พวกมันสามารถโค่นกองพลยานเกราะที่ 7 ของอังกฤษ ที่ได้ชื่อว่า “หนูทะเลทราย” ลงอย่างราบคาบ ด้วยการทำลายรถยานเกราะของอังกฤษ 60 คัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก พลตรีจูลเจียนทอมป์สัน และ ดร. แอลแลน อาร์. มิลเลตต์-เขียน, นงนุช สิงหเดชะ-แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566