ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องราวเกี่ยวกับ “เมืองศรีเทพ” นอกจากงานศิลปกรรมที่ยิ่งใหญ่อย่าง “เขาคลังนอก” และโบราณสถานในบริเวณเมืองใน-เมืองนอกอีกจำนวนมากแล้วนั้น สิ่งที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งที่บอกเล่าเมืองโบราณแห่งนี้ได้ดีมากไม่แพ้กันคือ “จารึกบ้านวังไผ่” ซึ่งมีการอ้างถึงกษัตริย์พระองค์หนึ่งผู้มีนามว่า “พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน”
“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ชวนแกะรอย “เมืองโบราณศรีเทพ” แบบ “ทะลุเพดานความรู้” โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับจารึกโบราณ ที่สะท้อนภาพความเชื่อมโยงระหว่างศรีเทพกับวัฒนธรรมทวารวดี และระหว่างศรีเทพกับวัฒนธรรมเขมรโบราณ
ที่เมืองศรีเทพจะพบเจอจารึกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับระบบการปกครองของกษัตริย์ศรีเทพอยู่ 2 หลัก หลักหนึ่งคือ จารึกศรีเทพ อีกหลักหนึ่งคือ จารึกบ้านวังไผ่ เป็นจารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ศรีเทพได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียมาอย่างเต็มเปี่ยม
โดยจารึกบ้านวังไผ่หลักนี้มีการกล่าวถึงนามของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง แต่ว่านามของกษัตริย์พระองค์นั้นหายไป แต่มาอ้างถึงกษัตริย์อีกองค์หนึ่งก็คือ พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน
การกล่าวถึงพระนามของพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันจึงทำให้ทราบว่า เมืองศรีเทพมีกษัตริย์ปกครองตนเอง และก็มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้อาณาจักรเขมรยุคโบราณก่อนเมืองพระนคร เนื่องจากมีการอ้างอิงว่า พระเจ้าปฤถิวีนทรวรมันมีความยิ่งใหญ่หรือมีพระยศเสมอด้วยพระเจ้าศรีภววรมัน ซึ่งน่าจะหมายถึง พระเจ้าภววรมันที่ 1 ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละ หรืออาณาจักรเขมรยุคโบราณก่อนเมืองพระนครนั่นเอง
ทั้งนี้ รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ให้ข้อมูลว่า สร้อยพระนามที่ใช้คำว่า “วรมัน” นั้น เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของอินเดียภาคใต้ ซึ่งก็เช่นเดียวกับ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ที่ถูกนำมาใช้เป็นภาษาสำหรับบันทึกลงบนจารึกบ้านวังไผ่
โดยเมืองศรีเทพในช่วงเวลาที่ทำจารึกหลักนี้ขึ้นนั้นอาจอยู่ในช่วงที่เป็นวัฒนธรรมแบบทวารวดี นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า ศรีเทพกับอาณาจักรเขมรยุคโบราณก่อนเมืองพระนครเป็นคนละรัฐกัน
จนเมื่อต่อมา อาณาจักรเขมรโบราณได้ย้ายศูนย์กลางมาตั้งที่เมืองพระนคร และขยายอำนาจไปยังบ้านเมืองใกล้เคียง นั่นทำให้วัฒนธรรมเขมรโบราณได้แพร่ขยายเข้ามาครอบคลุม และทับซ้อนในพื้นที่เมืองศรีเทพ
ความสัมพันธ์ระหว่างศรีเทพกับวัฒนธรรมเขมรโบราณที่ปรากฏในจารึกจะมีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง ติดตามรับชมได้ใน SILPA PODCAST ทะลุเพดานความรู้ “เมืองศรีเทพ” EP.3 “ศรีเทพ” ในจารึกโบราณ โลกคู่ขนานอารยธรรมเขมร โดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ
อ่านเพิ่มเติม :
- จาก “ศรีเทพ” สู่ “วิเชียรบุรี” ประวัติศาสตร์พันปีที่เชื่อมโยงถึงกัน
- ศรีเทพแหล่งมรดกโบราณ ได้อิทธิพลทางศิลปะมาจากไหน เป็นรากฐานบรรพชนคนไทยจริงหรือ?
- หลักฐานฟ้อง! ทำไมจึงเชื่อได้ว่า “ศรีเทพ” คือศูนย์กลางทวารวดี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2566