ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ไทย มีกฎหมายเกี่ยวกับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” (บ้างเรียก ค่าแรงขั้นต่ำ) ตั้งแต่ปี 2499 เพื่อให้ แรงงาน หรือลูกจ้างสามารถต่อรองค่าแรงกับนายจ้าง ผ่านกลไกของสหภาพแรงงาน
พ.ศ. 2508 ผู้ใช้แรงงานมีการรวมตัวกันนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการให้เกิดคามเป็นธรรม โดยมีการยกระดับและความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีการตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ในภาครัฐ
พ.ศ. 2515 มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 (ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515) ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และกำหนดคณะกรรมการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
พ.ศ. 2516 มีการกำหนด “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ใช้ครั้งแรก มีผลบังคับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2516 กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 12 บาท (หรือเดือนละ 312 บาท) มีพื้นที่บังคับใช้ใน 4 จังหวัด ได้ แก่ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, นนทบุรี และปทุมธานี สำหรับแรงงานไร้ฝีมือในทุกอุตสาหกรรม ไม่นับรวมในภาคเกษตรกรรม
พ.ศ. 2517 ประกาศพื้นที่บังคับใช้ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร และนครปฐม และกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 20 บาท
พ.ศ. 2518 รัฐบาลบรรจุนโยบายแรงงานเข้าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 เพื่อสร้างงานและความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ในปีเดียวกันนี้ได้มีการออก พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างงาน, การระงับข้อพิพาทแรงงาน, การนัดหยุดงาน, คณะกรรมการลูกจ้าง ฯลฯ
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ, นโยบายการเมือง และอำนาจต่อรองของขบวนการแรงงานในแต่ละช่วงเวลา
พ.ศ. 2540 ไทย เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน จนต้องขอรับการช่วยเหลือด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF: International Monetary Fund) ซึ่งหนังสือแจ้งความจำนงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ส่งให้ IMF ส่วนหนึ่งระบุเกี่ยวกับนโยบายค่าจ้างแรงงานว่า
“เพื่อลดผลกระทบต่อราคาอันอาจจะเกิดขึ้นจากการอ่อนลงของค่าเงินบาท ทางการจะเข้มงวดในการปรับเงินเดือนภาครัฐโดยให้มีการปรับเพิ่มได้ไม่เกินอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่านั้น และต้องดูแลให้การปรับเงินเดือนและค่าจ้างของภาคเอกชนให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน…”
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ตกลงไว้กับธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB: Asia Development Bank) เกี่ยวกับกรอบนโยบายด้านตลาดแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่มีเงื่อนไขว่าจะไม่มีการเพิ่มค่าจ้างแรงงานเพื่อส่งความสามารถในการแข่งขันของตลาดแรงงาน จึงมีการตรึงอัตรา “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ถึง 3 ปี (มกราคม 2541-ธันวาคม 2543) เพื่อควบคุมต้นทุนแรงงานให้กับสถานประกอบการต่างๆ ได้ฟื้นตัวหลังวิกฤต
พ.ศ. 2544 มีการกระจายอำนาจ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไปในระดับจังหวัด โดยตั้งคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมในจังหวัดตนเอง และแบ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำออกเป็น 3 อัตรา ดังนี้
- ค่าจ้าง 165 บาท/วัน มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ และภูเก็ต
- ค่าจ้าง 143 บาท/วัน มี 6 จังหวัด คือ ชลบุรี, เชียงใหม่, นครราชสีมา, พังงา, ระนอง และสระบุรี
- ค่าจ้าง 133 บาท/วัน ในจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ
พ.ศ. 2555 รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศนโยบายค่าแรงงานวันละ 300 บาท นำไปสู่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดในอัตราร้อยละ 39.5 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ส่งผลให้กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ และภูเก็ต มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ส่วนจังหวัดอื่นๆ ปรับขึ้นในอัตราที่ต่างกันไป แต่ไม่ถึง 300 บาท
พ.ศ. 2556 วันที่ 1 มกราคม ปรับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” อัตราเดียวกันทั่วประเทศเป็นครั้งแรก คือ 300 บาท/วัน
พ.ศ. 2560 ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่อีกครั้ง เป็น 4 อัตรา คือ 310 บาท, 308 บาท, 305 บาท และ 300 บาท ดังนี้
- ค่าจ้าง 310 บาท/วัน มี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ และภูเก็ต
- ค่าจ้าง 308 บาท/วัน มี 13 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, เชียงใหม่, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, ระยอง, สงขลา, สระบุรี และสุราษฎร์ธานี
- ค่าจ้าง 305 บาท/วัน มี 49 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, จันทบุรี, ชัยนาท, ชัยภูมิ, เชียงราย, ตราด, ตาก, นครนายก, นครพนม, นครสวรรค์, น่าน, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พะเยา,พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, แพร่, มหาสารคาม, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, ลำพูน, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สตูล, สมุทรสงคราม, สระแก้ว, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี และอุบลราชธานี
- ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ในจังหวัดที่เหลือ
พ.ศ. 2565 มีมติการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี แบ่งเป็น 9 อัตรา คือ 354 บาท, 353 บาท, 345 บาท, 343 บาท, 340 บาท, 338 บาท, 335 บาท, 332 บาท และ 328 บาท ดังนี้
- ค่าจ้าง 354 บาท/วัน มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต
- ค่าจ้าง 353 บาท/วัน มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- ค่าจ้าง 345 บาท/วัน มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
- ค่าจ้าง 343 บาท/วัน มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
- ค่าจ้าง 340 บาท/วัน มี 14 จังหวัด คือ กระบี่, ขอนแก่น, เชียงใหม่, ตราด, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, พังงา, ลพบุรี, สงขลา, สระบุรี, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, หนองคาย, และอุบลราชธานี
- ค่าจ้าง 338 บาท/วัน มี 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์, จันทบุรี, นครนายก, มุกดาหาร, สกลนคร และสมุทรสงคราม
- ค่าจ้าง 335 บาท/วัน มี 19 จังหวัด คือ กาญจนบุรี, ชัยนาท, นครพนม, นครสวรรค์, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พะเยา, พัทลุง, เพชรบุรี, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, สระแก้ว, สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์
- ค่าจ้าง 332 บาท/วัน มี 22 จังหวัด คือ กำแพงเพชร, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงราย, ตรัง, ตาก, นครศรีธรรมราช, พิจิตร, แพร่, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, ราชบุรี, ลำปาง, ลำพูน, ศรีสะเกษ, สตูล, สิงห์บุรี, สุโขทัย หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ และอุทัยธานี
- ค่าจ้าง 328 บาท/วัน มี 5 จังหวัด คือ นราธิวาส, น่าน, ยะลา, ปัตตานี และอุดรธานี
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. รายการศึกษาฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาวิจัยค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรม, สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน สิงหาคม 2547
เชษฐา ทองยิ่ง. ค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยและอาเซียน : ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายแรงงาน. web.parliament.go.th
https://www.thailabourmuseum.org
ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 221 ง วันที่ 19 กันยายน 2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2566