แรงงาน และสหภาพแรงงาน หลังปฏิวัติอุตสาหกรรม

พนักงานในโรงงานผลิตไม้เทนนิส ในประเทศอังกฤษ ภาพถ่ายเมื่อปี 1935 (AFP)

ชนชั้นแรงงานดูจะไม่ได้ประโยชน์มากมายจากการเปลี่ยนเศรษฐกิจเป็นแบบอุตสาหกรรม มีการประเมินว่าผลการผลิตต่อคนงานของบริเตนเพิ่มขึ้น 46% ระหว่างปี 1780-1840 ขณะที่ค่าแรง (หลังปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว) เพิ่มขึ้นเพียง 12% เมื่อพิจารณาสภาพการทำงานที่หนักมากในโรงงานยุคแรกและภาวะขาดสุขอนามัยของเมืองใหญ่ก็นับเป็นการแลกเปลี่ยนที่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าจริงๆ ในช่วง 60 ปี ตั้งแต่ปี 1840-1900 ค่าแรงจริงของบริเตนนำหน้าผลผลิตต่อคนงานไปไกล โดยอย่างแรกเพิ่มแบบก้าวกระโดดไป 123% และอย่างหลังเพิ่มขึ้นเพียง 90% [1]

นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ โรเบิร์ต อัลเลน ได้แนะว่ารูปแบบนี้เกิดขึ้นเพราะกำไรที่สูงในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 ไปเข้ากระเป๋านายทุนโดยไม่กระจายมาสู่คนงาน แต่ต่อมานายทุนก็นำกำไรเหล่านั้นกลับมาลงทุนใหม่ ทำให้มีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและผลักดันค่าแรงจริงให้สูงตามไปด้วย [2] อาจมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีก คนงานสามารถอพยพไปสหรัฐอเมริกาและอาณานิคมของบริเตนที่ค่าแรงจริงสูงกว่า คนงานชาวไอริชทำตัวเป็นแรงงานตามฤดูกาลในไร่นาของบริเตน พวกเขาอพยพมาเป็นจำนวนมากหลังทุพภิกขภัยที่ทำให้ค่าแรงจริงของบริเตนเพิ่มสูงขึ้น และในช่วง 3 ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ธัญพืชราคาถูกจากโลกใหม่ก็ทำให้ราคาอาหารลดลงและส่งเสริมพลังการใช้จ่ายให้มากขึ้นไปอีก

คนงานยังได้ประโยชน์จากสินค้าที่มีให้เลือกหลากหลายขึ้นด้วย โดยเฉพาะในรูปแบบของเสื้อผ้าราคาถูก พวกเขาอาจเดินทางด้วยรถรางราคาถูกในวันหยุดงาน และเมื่อไปเยือนเมืองใหญ่ก็ได้เดินบนถนนที่สว่างไสวด้วยตะเกียงแก๊ส นี่คือมาตรฐานการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นและอาจไม่ปรากฏในตัวเลขสถิติแบบเดิมๆ ยิ่งไปกว่านั้นคือมีคนมากขึ้นที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่โดยไม่ต้องทนทำงานในโรงงาน ข้อมูลจากสำมะโนประชากรบริเตนในปี 1851 เผยว่าในขณะที่มีคนงานในอุตสาหกรรมฝ้ายราว 500,000 คน ก็มีคนที่ทำงานภาคบริการในประเทศ 1 ล้านคน และทำงานภาคเกษตรกรรมอีก 2 ล้านคน [3] เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 19 ก็มีคนงานฝรั่งเศสถึงครึ่งหนึ่งที่ทำงานในไร่นา

ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นจริงในศตวรรษที่ 19 สาเหตุหลักนั้น ดูได้จากค่า GDP ที่สูงขึ้น ซึ่งสื่อว่ามีประชากรส่วนน้อยที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นโดยไม่กดคนที่เหลือในสังคมให้อยู่ในภาวะอดอยาก ความเหลื่อมล้ำพุ่งถึงจุดสูงสุดในบริเตนราวปี 1867 และในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นค่าแรงจริงก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คนงานสามารถไล่ตามทัน [4] ในที่สุดคนส่วนใหญ่ก็ได้ประโยชน์

เมื่อการเปลี่ยนเศรษฐกิจเป็นแบบอุตสาหกรรมไปทั่วโลก คนงานก็รวมตัวกันเพื่อต่อสู้ให้ได้ค่าแรงและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้น ในบริเตนนั้นสมาชิกสหภาพแรงง 674,000 คนในปี 1887 เป็นเกือบ 2 ล้านคนในปี 1905 สวน ฝรั่งเศสก็เพิ่มจาก 139,000 คนในปี 1890 เป็น 614,000 คนในปี 1902 ส่วนในเยอรมนีก็เพิ่มจาก 95,000 คนในปี 1887 เป็น 887,000 คนเมื่อถึงปี 1903 [5]

การปะทะกันระหว่างแรงงานกับธุรกิจอาจรุนแรงมาก ในปี 1892 แอนดรูว์ คาร์เนกี ลดค่าแรงคนงานที่โรงงานเหล็กกล้าของเขาในโฮมสตีด เพนซิลเวเนีย เมื่อคนงานหยุดงานประท้วง พวกเขาโดนกันไม่ให้เข้าโรงงานและมีการจ้างคนอื่นมาแทน เรื่องนี้ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงหยุดงานกับสมาชิกบริษัทรักษาความปลอดภัยพิงเกอร์ตัน ส่งผลให้ฝ่ายแรกเสียชีวิต 9 คนและฝ่ายหลังอีก 7 คน ผู้ว่าการรัฐต้องส่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไป 8,000 นาย เพื่อยุติการประท้วง

ความวุ่นวายของภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่พบบ่อยในยุโรป ด้วยมีคนงานชาวฝรั่งเศสราว 400,000 คนที่ประท้วงหยุดงาน ในปี 1906 เพื่อเรียกร้องให้ปรับชั่วโมงทำงานเป็นวันละ 8 ชั่วโมง ส่วนคนงานเหมืองที่รัวร์ของเยอรมนีก็ก่อความวุ่นวายเป็นประจำในช่วงระหว่างปี 1905-1912 บริเตนเกิดการประท้วงหยุดงานของคนงานรถไฟทั่วประเทศครั้งแรกเมื่อปี 1911 และเกิดการประท้วงของคนงานเหมืองทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในปี 1912 [6]

การประท้วงในอุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภทมีประสิทธิภาพมากเป็นพิเศษเพราะเศรษฐกิจต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมทั้งคู่อย่างมาก หากไม่มีถ่านหินเพื่อสร้างพลังงานให้โรงงานหรือไม่มีรถไฟเพื่อขนส่งสินค้า อุตสาหกรรมอื่นก็ไม่อาจทำงานต่อไปได้เช่นกัน ในช่วงที่คนงานรถไฟประท้วงในปี 1911 วินสตัน เชอร์ชิลล์ ถึงกับต้องส่งกองกำลังเข้าไปในลาเนลลี และมีผู้เสียชีวิต 6 คน นี่เป็นเหตุการณ์ที่นักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานใช้เพื่อโจมตีเขาอยู่นานนับสิบปี

คนงานหญิงยิ่งได้รับการปฏิบัติแย่กว่า คนงานหญิงผู้ผลิตไม้ขีดไฟที่โรงงานไบรอันต์แอนด์เมย์ของบริเตนต้องทำงานตั้งแต่ 08.00 น. ในฤดูหนาว และ 06.30 น. ในฤดูร้อน ไปจนถึง 18.00 น.โดยได้พักเพียง 30 นาทีเพื่อกินอาหารเช้าและอีก 1 ชั่วโมงสำหรับกินอาหารเที่ยง ขณะทำงานต้องยืนทำ และได้ค่าแรงสัปดาห์ละ 4 ชิลลิงเท่านั้น แต่เด็กสาวเหล่านี้อาจโดนปรับถึง 3 เพนนีหากคุยกันหรือไปเข้าห้องน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต [7] ในปี 1911 มีคนงานเสียชีวิต (123 คนเป็นผู้หญิง) ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานไทรแองเกิลเชิร์ตเวสต์ที่นิวยอร์ก เพราะเจ้าของล็อกประตูที่เปิดสู่ปล่องบันไดเพื่อป้องกันขโมยและไม่ให้คนงานแอบพักโดยไม่ได้รับอนุญาต [8]

ความเข้มแข็งที่เพิ่มขึ้นของสหภาพแรงงานในยุโรปทำให้รัฐบาลเป็นกังวล พวกเขากลัวว่าสหภาพแรงงานอาจกลายเป็นฐานสำหรับการเคลื่อนไหวเชิงปฏิวัติในวงกว้าง เรื่องนี้อาจไปกระตุ้นให้รัฐบาลบางแห่งมีนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวมากขึ้นและใช้แนวคิดชาตินิยมเป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของคนงานจากปัญหาเศรษฐกิจ หากนั่นคือเป้าหมายของรัฐบาลก็คงเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ความโกลาหลช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เกิดการปฏิวัติจริงๆ ในรัสเซีย รวมถึงการโค่นล้มของสถาบันกษัตริย์ในประเทศอื่นด้วย แต่คำถามที่กว้างกว่านั้นคือทำไมคำทำนายของมาร์กซ์เรื่องการปฏิวัติที่เลี่ยงไม่ได้จึงไม่กลายเป็นจริง

คำตอบคือประโยชน์ของการเปลี่ยนเศรษฐกิจเป็นแบบอุตสาหกรรมนั้นชัดเจนเพียงพอแล้วในสายตาคนส่วนใหญ่เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 19 หลักๆ แล้วผลผลิตจากภาคเกษตรกรรมเพิ่มตามจำนวนประชากร ทำให้คนงานในโรงงานไม่อดอยาก การสำรวจผลผลิตเกษตรกรรมใน 25 ประเทศเผยว่ามันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวระหว่างปี 1870-1913 [9] ทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสเพิ่มการใช้งานเครื่องจักรอย่างเครื่องนวดข้าวและเครื่องเก็บเกี่ยวตอนปลายศตวรรษที่ 19 ในขณะที่รัสเซียปลูกธัญพืชเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าระหว่างทศวรรษ 1860 ถึงปี 1914 [10]

รัฐบาลยังเสนอสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากแนวคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ บิสมาร์กริเริ่มการประกันสุขภาพ การประกันอุบัติเหตุ และเงินบำนาญในเยอรมนี ช่วงทศวรรรษ 1880 ฝรั่งเศสใช้นโยบายประกันสุขภาพและสวัสดิภาพดูแลเด็กในทศวรรษ 1890 และ 1900 ส่วนบริเตนก็เสนอเงินบำนาญและการประกันว่างงานในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20

ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 อายุคาดเฉลี่ยนั้นเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย เหตุผลหนึ่งคือนักวิทยาศาสตร์ได้คิดทฤษฎีที่ว่าโรคเกิดจากเชื้อโรคขึ้นมาและตระหนักถึงผลกระทบที่น่ากลัวของภาวะขาดสุขอนามัย แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าทฤษฎีเหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับ ในปี 1847 อิกนาซ เซ็มเมิลไวส์ (Ignaz Semmelweis) สูติแพทย์ชาวฮังการี ระบุได้อย่างถูกต้องว่าการติดเชื้อระหว่างคลอดเกิดจากแพทย์ และยืนยันให้เพื่อนร่วมงานของเขาล้างมือทุกครั้ง แต่ถึงนั่นจะทำให้อัตราการเสียชีวิตของคุณแม่มือใหม่ลดลงอย่างมาก [11]

ในปี 1854 จอห์น สโนว์ (John Snow) แพทย์ผู้เขียนเกี่ยวกับการแพร่หลายเชื้ออหิวาตกโรค ก็ประสบความสำเร็จในการตามหาแหล่งที่มาของโรคไปจนถึงปั๊มน้ำในลอนดอน เมื่อนำปั๊มออกไปก็ทำให้การเกิดอหิวาตกโรคลดลง [12] ในช่วงระหว่างปี 1859-1870 ทีมที่นำโดยโจเซฟ บาซัลเจตต์ (Joseph Bazalgette) ได้สร้างเครือข่ายท่อระบายน้ำใต้ลอนดอนที่ยาวถึง 550 ไมล์ (885 กิโลเมตร) และเชื่อมโยงกับเครือข่ายใหญ่ที่มีความยาวทั้งหมด 13,000 ไมล์ (21,000 กิโลเมตร) แผนนี้เคยโดนรัฐสภาปัดตกถึง 5 ครั้ง และเพิ่งได้รับอนุมัติหลังเกิดเหตุกลิ่นเหม็นรุนแรง (Great Stink)

ในปี 1858 เมื่อม่านของสภาสามัญชนต้องเคลือบปูนขาวเพื่อลดกลิ่น [13] เริ่มมีการสร้างระบบท่อระบายน้ำในเมืองต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาช่วงปลายทศวรรษ 1850 และในเยอรมนีกับฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 1860 ระบบท่อระบายน้ำของแฟรงก์เฟิร์ตลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้รากสาดน้อยจาก 80 คนต่อประชากร 10,000 คนในปี 1868 ให้เหลือเพียง 10 คนต่อประชากร 10,000 คนในปี 1883 [14]

นอกจากคนงานจะมีสุขภาพดีขึ้นแล้ว พวกเขายังมีการศึกษามากขึ้นด้วย ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 รัฐบาลก็ริเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กเล็ก มีรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือบางรัฐในสหรัฐอเมริกาที่เด็กทุกคนได้เข้าเรียนหมดเมื่อถึงปี 1840 และเมื่อถึงปี 1850 ก็มีเด็กผิวขาวชาวอเมริกันอายุ 5-14 ปี จำนวน 61% ได้เรียนหนังสือ ประเทศเดียวที่มีอัตราการเรียนหนังสือสูงกว่านี้คือปรัสเซียซึ่งเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กหลังการพ่ายแพ้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ในสงครามนโปเลียน เมื่อถึงปี 1850 ก็มีอัตราการเข้าเรียน 73% ในขณะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษอยู่ที่ราว 50% [15]

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญอีกประการคือการถือกำเนิดของชนชั้นกลาง ในนอร์เวย์นั้นสัดส่วนของแรงงานที่ทำงานแบบมืออาชีพเพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 1815 เป็น 22% ในปี 1914 จำนวนเสมียนในอังกฤษและเวลส์เพิ่มจาก 129,000 คนในปี 187 เป็น 461,000 คนในปี 1901 [16] นอกจากเสมียนแล้ว เศรษฐกิจใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้นยังทำให้ทนายความและวิศวกรเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก ฟิลิป ค็อกแกน-เขียน, พลอยแสง เอกญาติ-แปล, เปิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหมื่นปี, สนพ.มติชน ตุลาคม 2565


เชิงอรรถ :

[1] Robert C. Allen, “Engels’ pause: technical change, capital accumulation and inequality in the British industrial revolution”, Explorations in Economic History, Vol.46, no 4, October 2009

[2] Ibid.

[3] Cannadine, Victorious Century, op. cit.

[4] Milanovic, Global Inquality, op.cit.

[5] William A. Pelz, A People’s History of Modern Europe

[6] Evans, The Pursuit of Power, op. cit.

[7] Simon Heffer, The Age of Decadence: Britain 1880 to 1914

[8] Donkin, Blood, Sweat & Tears, op. cit.

[9] Giovanni Federico, “Growth, specialization, and organization of world agriculture”, The Cambridge History of Capitalism, Volume 2, op. cit.

[10] Evans, The Pursuit of Power, op. cit.

[11] แหล่งที่มาhttp://broughttolife.sciencemuseum.org.uk/broughttolife/people/ignazsemmelweis

[12] แหล่งที่มา http://www.bbc.co.uk/history/historic figures/snow_ john.shtml

[13] “Subterranean dreams”, The Economist, July 16th 2013

[14] Evans, The Pursuit of Power, op. cit.

[15] Sun Go and Peter Lindert, “The curious dawn of American public schools”, NBER working paper 1335

[16] Evans, The Pursuit of Power, op. cit.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2565