ผู้เขียน | รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ |
---|---|
เผยแพร่ |
100 ปี ประสูติกาล ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล “นักประวัติศาสตร์อาวุโส” กับผลงานด้าน “จารึก”
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีของประเทศไทย หม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา เป็นมารดา หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ประสูติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2466 ซึ่งจะครบรอบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2566 นี้
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงศึกษาและทรงมีผลงานวิชาการด้าน “ประวัติศาสตร์ศิลปะ” ทั้งที่ทรงแปลและทรงเรียบเรียงจำนวนมาก เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะย่ออินเดีย ลังกา ชวา ขอม (ต่อมาได้รวมพิมพ์ในชื่อ ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง : อินเดีย, ลังกา, ชวา, จาม, ขอม, พม่า, ลาว) หนังสือศิลปะอินเดีย หนังสือศิลปะขอม ศิลปะอินโดนีเซีย หนังสือศิลปะลพบุรี ฯลฯ รวมถึงหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะในรูปแบบของหนังสือบันทึกการเดินทาง คือ หนังสือเที่ยวลังกา
อย่างไรก็ตาม นอกจากผลงานด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่กล่าวแล้ว ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ยังได้ทรงนิพนธ์ผลงานด้าน “ประวัติศาสตร์และจารึก” ไว้ด้วย ทำให้ใน พ.ศ. 2535 สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ประกาศเกียรติคุณศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ให้เป็น “นักประวัติศาสตร์อาวุโส” ดีเด่น
บทความที่เผยแพร่ในออนไลน์นี้ ขอกล่าวถึงผลงานนิพนธ์ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ในด้านจารึก เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การศึกษาต่อไป [ส่วนผลงานนิพนธ์ในด้านประวัติศาสตร์ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2566 – กองบก.ศิลปวัฒนธรรม]
ผลงานเกี่ยวกับจารึกศึกษา ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
แม้ว่าศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะมิได้ทรงศึกษาเกี่ยวกับการอ่านจารึกโดยตรง แต่การที่ทรงศึกษางานวิชาการของต่างประเทศทำให้ทรงทราบความก้าวหน้าของการศึกษาจารึกที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยเฉพาะการศึกษาจารึกของนักวิชาการชาวฝรั่งเศส เช่น ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงเห็นว่าบทความจารึกศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยก็มักทรงเลือกนำมาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้นักวิชาการ นักศึกษา ที่สนใจแต่ไม่สามารถเข้าถึงเอกสารวิชาการที่เป็นภาษาตะวันตกได้สามารถรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจารึกเหล่านั้นได้ สำหรับการแปลที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงใช้ในการแปลบทความที่เกี่ยวกับจารึกนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 แบบด้วยกัน ดังนี้
1. การแปลบทความเกี่ยวกับจารึกศึกษาแบบสรุปความ เป็นการแปลที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลโดยสรุปไม่ได้แปลมาโดยละเอียดทั้งหมดของบทความ โดยมุ่งเน้นเนื้อหาสาระใจความเป็นสำคัญ ซึ่งในการแปลลักษณะนี้ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล จะได้ทรงอธิบายไว้ตอนต้น ดังเช่นที่ปรากฏในข้อความตอนต้นของบทความเรื่อง “ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ว่า
“…หลังจากการอภิปรายเรื่อง ‘ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในสมัยโบราณ’ ของชุมนุมนักศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี ณ ท้องพระโรงวังท่าพระ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2509 แล้ว ก็คงจะมีผู้อยากทราบเรื่องราวเกี่ยวกับศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งประเทศกัมพูชากันมากขึ้น ข้าพเจ้าจึงขอย่อใจความจากเรื่องจารึกปราสาทพระขรรค์ในบริเวณเมืองพระนคร (La stèle du Prah Khan d’Angkor) ของศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ตีพิมพ์ในวารสารแห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ (Bulletin de L’Ecole Française d’Extrême-Orient) เล่มที่ 41 ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) มาลงไว้ดังต่อไปนี้…” [1]
การแปลในบทความเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงสรุปความแล้วนำมาเรียบเรียงเป็นภาษาไทยเกือบทั้งหมด ยกเว้นแต่ข้อความที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย จึงได้ทรงแปลเนื้อความทั้งหมด ดังนี้
“…ต่อจากนั้น จารึกปราสาทพระขรรค์ก็กล่าวถึงการก่อสร้างของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ณ ที่อื่น และมีกล่าวพาดพิงมาถึงดินแดนทางภาคกลางของประเทศไทยด้วย ข้าพเจ้าจึงขอแปลคำแปลจารึกของศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ในภาษาฝรั่งเศส ออกเป็นภาษาไทย โดยละเอียด ส่วนข้อความในวงเล็บนั้น เป็นคำอธิบายต่างหาก นอกไปจากข้อความในจารึก…
…ข้าพเจ้าได้แปลคำอ่านจารึกตั้งแต่บทที่ 112-166 โดยละเอียด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายสามารถตัดสินด้วยวิจารณญาณของตนเองว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงแผ่อานุภาพของพระองค์ออกมายังภาคกลางของประเทศไทยหรือไม่…” [2]
จากนั้นจึงเป็นข้อความการแปลแบบสรุปใจความของจารึกโดยแปลมาจากภาษาฝรั่งเศส และได้ทรงนิพนธ์ข้อความตอนท้ายไว้ด้วยว่า
“…ข้าพเจ้าหวังว่า ข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ข้าพเจ้านำมากล่าวไว้อย่างค่อนข้างละเอียดนี้คงจะเป็นเครื่องช่วยให้ตัดสินได้ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งประเทศกัมพูชา ได้ทรงแผ่พระราชอำนาจเข้ามายังภาคกลางของประเทศไทยในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 18 หรือไม่…” [3]
2. การแปลบทความเกี่ยวกับจารึกศึกษาโดยละเอียด เป็นการแปลที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลโดยละเอียดทั้งหมดของบทความ ปรากฏตัวอย่างการแปล เช่น การแปลบทความเรื่อง “จารึกใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแหลมอินโดจีนภาคกลาง” ซึ่งเป็นการแปลบทความของ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
บทความตอนที่ 1 แปลลงนิตยสารศิลปากร ปีที่ 3 เล่มที่ 4 พฤศจิกายน 2502 เป็นการแปลร่วมกับศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ กล่าวถึงจารึกแผ่นทองแดงเมืองอู่ทอง และจารึกหินตั้ง จังหวัดชัยภูมิ[4] ถือเป็นการแปลจารึกแผ่นทองแดงเมืองอู่ทองและจารึกหินตั้ง จังหวัดชัยภูมิเป็นภาษาไทยครั้งแรก โดยมีคำปริวรรตและคำแปลภาษาไทยซึ่งแปลจากภาษาฝรั่งเศส
บทความตอนที่ 2 แปลลงนิตยสารศิลปากร ปีที่ 6 เล่มที่ 1 พฤษภาคม 2505 กล่าวถึงจารึกดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์[5] ถือเป็นการแปลจารึกดงแม่นางเมืองเป็นภาษาไทยครั้งแรก โดยมีคำปริวรรตและคำแปลภาษาไทยซึ่งแปลจากภาษาฝรั่งเศส
นอกจากนี้ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ยังได้ทรงแปลจารึกอื่นๆ พิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารศิลปากรและวารสารของคณะโบราณคดีอีกจำนวนมาก เช่น การแปลจารึกมอญโบราณ การแปลจารึกโวคาญ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่ “จารึก” ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่สำคัญและเป็นการวางรากฐานการศึกษาการอ่านจารึกในประเทศไทยในเวลาต่อมา
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม ร.6 ไม่โปรดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดูข้อมูลจากหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ โอรสองค์เล็ก
- “หมาบ้า” กัดพระธิดากรมพระยาดำรงราชานุภาพ “สิ้นชีพตักษัย” ปฐมบทเกิด “สถานเสาวภา”
- จดหมายกรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงบุตรช่วงถูกคณะราษฎรจับ เตือนรุ่นหลังที่จบนอก
เชิงอรรถ :
[1] หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. “ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7,” ศิลปากร. 10, 2 (กรกฎาคม พ.ศ. 2509): 52.
[2] เรื่องเดียวกัน, น. 56-59.
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 60.
[4] หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และ นายฉ่ำ ทองคำวรรณ. “จารึกใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแหลมอินโดจีนภาคกลาง,” ศิลปากร. 3, 4 (พฤศจิกายน พ.ศ. 2502): 50.
[5] หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. “จารึกใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแหลมอินโดจีนภาคกลาง,” ศิลปากร. 6, 1 (พฤษภาคม พ.ศ. 2505): 39.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566