สารทไทย-ไหว้พระจันทร์ ขนมดัง เทศกาลเหงา

ขนมไหว้พระจันทร์ "ขนม" ที่เป็นที่รู้จักมากกว่าเทศกาลไหว้พระจันทร์ (ภาพจาพ www.wikimedia.org)

หากถามว่า “สารทไทย” เป็นประเพณีอะไร? ตรงกับวันไหน? มีใครตอบได้บ้าง ยิ่งเป็นคนในเมืองคงยากขึ้นมากอีกนิด ลองหันไปพึ่งสารานุกรมออนไลน์อย่าง “วิกิพีเดีย” ถ้าพิมพ์คำว่า “วันสารทไทย”, “เทศกาลสารทไทย” ก็ไม่มีคำตอบให้  แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น “กระยาสารท”  มีคำอธิบายพร้อมภาพประกอบสี่สี

เช่นเดียวกันกับ “ไหว้พระจันทร์” ถ้าถามลูกหลานจีนในไทย หรือคนที่ญาติเป็นจีนว่าเมื่อไหร่ คืออะไร บางคนอาจตอบไม่ได้ แต่ถ้าถามถึง “ขนมไหว้จันทร์” มีหลายคนบอกได้ว่าร้านไหนอร่อย

ขนมทั้ง ๒ ชนิดต่างเป็นขนมประจำเทศกาลเหมือนกัน และขนมมีชื่อเสียงดังเกินตัวเทศกาลเหมือนกันทั้งคู่  ขณะที่เทศกาลทั้ง ๒ ต่างก็อยู่ในช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร

กระยาสารท ขนมประจำเทศกาลสารทไทย (ภาพจาก www.wikipedia.com)

สารทไทยเป็นงานบุญเดือน ๑๐ ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (ตามปฏิทินจันทรคติของไทย) เป็นงานบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับ สารท เป็นภาษาสันสกฤต (เขียน “ศารท”) แปลว่า ฤดูกาล ซึ่งมีการเก็บข้าว ถั่ว งา ฯลฯ ใหม่ๆ มาทำของกิน เช่น ข้าวทิพย์, กระยาสารท ซึ่งเป็นข้าวอย่างหนึ่งในพิธีพราหมณ์แต่เมื่อมาถึงเมืองไทย กระยาสารทกลายเป็นขนมตามฤดูกาลไป

วรรณกรรมสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา อย่าง “ทวาทศมาศ” กล่าวถึง “พิธีสารท” ว่าเป็นการทำบุญเลี้ยงพระด้วยถั่วงา และข้าวกวนด้วยน้ำอ้อย น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง เรียกกันสืบถึงปัจจุบันว่า “กระยาสารท”

ส่วนไหว้พระจันทร์ตรงกับวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (ตามปฏิทินจันทรคติจีน) ซึ่งเป็นฤดูใบไม้ร่วง ที่ผลผลิตทางเกษตรได้แก่ ข้าวเหนียว และข้าวเจ้าสุกพอดี จึงใช้เซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ และพระจันทร์ซึ่งเป็นเทพประจำธรรมชาติ  โดยในช่วงเวลานี้ดวงจันทร์สวยงามที่สุดและท้องฟ้าโปร่ง

เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑-๑๔๕๐) เมื่อถึงสมัยราชวงศ์หยวนก็มีตำนานว่าคนจีนสอดหนังสือนัดล่มล้างมองโกลในขนมไหว้พระจันทร์ที่เล่าสืบกันมา

ในปี ๒๕๖๓ นี้ สารทไทยตรงกับวันที่ 17 กันยายน ไหว้พระจันทร์ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคมที่กำลังจะมาถึง ที่หลายคนอาจหลงลืม หรือไม่ได้สนใจ

นี่ก็คงเป็นผลสืบเนื่องหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากสังคมเกษตร เป็นสังคมเมือง


ข้อมูลจาก

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. มติชน, ๒๕๕๗

ปรานี วงษ์เทศ. ประเพณี ๑๒ เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน. มติชน, ๒๕๔๘


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 3 ตุลาคม พ.ศ.2560