ความเป็นมาของ “เทศกาลไหว้พระจันทร์” ทำไมต้องไหว้พระจันทร์?

พ่อครัว ร้านอาหารจีน ตัดแบ่ง ขนมไหว้พระจันทร์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ระหว่าง เทศกาลไหว้พระจันทร์ ในเมือง โยโกฮามะ ย่านไชนาทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2006
พ่อครัวร้านอาหารจีนตัดแบ่งขนมไหว้พระจันทร์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ระหว่างเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในเมืองโยโกฮามะ ย่านไชนาทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2006 (AFP PHOTO/YOSHIKAZU TSUNO)

เทศกาลไหว้พระจันทร์ มีชื่อทางการภาษาจีนว่าจงชิวเจี๋ยหรือตงชิวโจ็ยะ” ในภาษาแต้จิ๋ว หมายถึง กึ่งกลางฤดูสารท ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนแปดของปฏิทินจีน จึงเรียกกันว่าเทศกาล “ปาเย่ว์ปั้น” แปลว่า “กลางเดือนแปด” หรือ “ปาเย่ว์เจี๋ย” หรือ “เทศกาลเดือนแปด” ด้วย

เมื่อถึงวันเทศกาล ทุกคนจะกลับไปรวมตัวกันที่บ้าน โดยมีกิจกรรมสำคัญคือการไหว้พระจันทร์ เทศกาลนี้จึงมีชื่อที่นิยมเรียกอีกว่า “เย่ว์เจี๋ย, เทศกาลพระจันทร์” และ “ไป้เย่ว์เจี๋ย, เทศกาลไหว้พระจันทร์” ซึ่งถือเป็นเทศกาลใหญ่อันดับสองรองจากตรุษจีน สำหรับชาวจีนในแทบทุกถิ่น

Advertisement
แม่ค้า แผงลอย ชาวเวียดนาม ขายของเล่น ในช่วง เทศกาลไหว้พระจันทร์ ใน กรุงฮานอย ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2016
แม่ค้าแผงลอยชาวเวียดนามขายของเล่นในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ในกรุงฮานอย ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2016 (AFP PHOTO / HOANG DINH NAM)

ความเป็นมาของ เทศกาลไหว้พระจันทร์ นั้น อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีจีนกล่าวว่า มีที่มาจากประเพณีไหว้พระจันทร์ และประเพณีเซ่นสรวงทางการเกษตรประจำฤดูสารทของจีนโบราณ

เหตุที่ชาวจีนเลือกไหว้พระจันทร์ในปักษ์ชิวเฟิน เพราะปักษ์ลี่ชิวต้องเอาผลผลิตแรกได้ไปบูชาบรรพชนเสียก่อน (เป็นที่มาของเทศกาลสารทจีน) และคืนจงชิวกลางเดือนแปดยังเป็นคืนที่จันทร์แจ่มกระจ่างงามเหนือเพ็ญเดือนใดอีกด้วย

นอกจากนี้ ชาวจีนยังมีเรื่องเล่าถึงตำนานอันเป็นที่มาของเทศกาลว่า ในอดีตกาล ราชาโฮ่วอี้ มีชายานามว่า ฉางเอ๋อร์ ครั้งหนึ่งมีพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 10 ดวง เดือดร้อนชาวโลกเป็นอันมาก ราชาโฮ่วอี้จึงขึ้นไปบนยอดเขาคุนหลุน แล้วใช้ธนูยิงอาทิตย์ดับไป 9 ดวง ทำให้ได้รับการแซ่ซ้อง มีผู้คนมาขอเรียนวิชาธนูมากมาย รวมถึง เฝิงเหมิง ผู้มีจิตใจชั่วร้ายด้วย

ภาพเขียน “ฉางเอ๋อร์” เทพีแห่งดวงจันทร์
ภาพเขียน “ฉางเอ๋อร์” เทพีแห่งดวงจันทร์ โดย Ren Shuai Ying (1955)

ต่อมาโฮ่วอี้ได้ยาอายุวัฒนะจากผู้วิเศษท่านหนึ่ง เฝิงเหมิงรู้เข้าจึงฉวยโอกาสที่โฮ่วอี้ไม่อยู่บุกชิงยาจากฉางเอ๋อร์ เธอจึงกินยานั้นเสียเอง ก่อนล่องลอยไปถึงดวงจันทร์ กลายเป็นเทพีสถิตบนดวงจันทร์ไป โฮ่วอี้กลับมากำจัดเฝิงเหมิงแล้วเศร้าโศกคิดถึงฉางเอ๋อร์ พอดีเป็นวันเพ็ญเดือนแปด จันทร์งามกระจ่าง โฮ่วอี้จึงจัดเครื่องเซ่นบูชาพระจันทร์รำลึกถึงฉางเอ๋อร์

บางตำนานเล่าต่างออกไปว่า หลังโฮ่วอี้ได้ยาอายุวัฒนะมาก็กลายเป็นคนชั่วร้าย เบียดเบียนข่มเหงประชาชน ฉางเอ๋อร์กลัวชาวบ้านจะเดือดร้อนหากโฮ่วอี้เป็นอมตะ จึงชิงกินยาอายุวัฒนะเสียเอง แล้วลอยไปอยู่บนดวงจันทร์ ผู้คนจึงรำลึกถึงความดีงามของเธอด้วยการไหว้พระจันทร์ กลางเดือนแปด สืบมา

ส่วนขนมไหว้พระจันทร์อันเป็นขนมประจำเทศกาลนั้น ภาษาจีนเรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง” เย่ คือ พระจันทร์ ส่วนปิ่ง หมายถึงของกินทรงแบน ปิ้ง ย่าง เผา อบ ลักษณะสำคัญอยู่ที่ทรงต้องแบนเป็นวงกลมรี หรือเป็นเหลี่ยมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นก้อนกลม ซึ่งคนไทยแปลชื่อขนมนี้ตามโอกาสที่ใช้ว่า ขนมไหว้พระจันทร์

ตำนานเกี่ยวกับขนมไหว้พระจันทร์มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งแม่ทัพหลี่จิ้งชนะศึกกลับมาเฝ้าพระเจ้าถังเกาจู่ (ครองราชย์ พ.ศ. 1161-1169) ในท้องพระโรงยามราตรีคืนเพ็ญ พอดีมีพ่อค้าชาวทิเบตนำขนมปิ่งมีลวดลายสวยงามมาถวาย พระองค์ทรงโสมนัสแล้วชี้ไปที่เดือนเพ็ญว่า ต้องชวนพระจันทร์ชิมขนมนี้ด้วย แล้วแบ่งขนมนั้นพระราชทานขุนนางทุกคน จึงเกิดประเพณีกินขนมพระจันทร์คืนเดือนแปดตั้งแต่นั้นมา

การแห่มังกร ระหว่าง การฉลอง เทศกาลไหว้พระจันทร์ ในฮ่องกง
การแห่มังกรระหว่างการฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ในฮ่องกง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2014 (AFP PHOTO / XAUME OLLEROS)

อีกตำนานที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นเรื่องเล่าที่อ้างว่า เกิดสมัยราชวงศ์หยวนของชาวมองโกล ซึ่งรับเอาประเพณีนี้ไปจากชาวจีน ครั้งหนึ่งผู้นำต่อต้านมองโกลหวังรวบรวมกำลังชาวจีนขึ้นสู้ราชวงศ์ต่างเผ่า จึงคิดอุบายเขียนข้อความนัดหมายใส่กระดาษซ่อนไว้ในขนมไหว้พระจันทร์ แจกจ่ายไปในหมู่ชาวจีน ถึงค่ำวันจงชิว หลังกินขนมไหว้พระจันทร์แล้ว ทุกครอบครัวจึงคว้าอาวุธที่หาได้จับผู้คุมชาวมองโกลมาสังหาร และสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนได้สำเร็จ

สำหรับ เทศกาลไหว้พระจันทร์ ในเมืองไทย ซึ่งมีชุมชนชาวจีนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ปัจจุบันได้ซบเซาลงมาก อาจารย์ถาวร ชี้ว่า เป็นเพราะผู้หญิงที่มาจากเมืองจีนเหลือน้อยลง ลูกสาวจีนยุคใหม่ก็มีวิถีชีวิต ค่านิยมเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม พระจันทร์ด้อยความสำคัญลง จึงมีคนไหว้เทศกาลนี้น้อย แม้แต่ในย่านสำเพ็งเยาวราช การไหว้ก็รวบรัดลง เหลือเฉพาะไหว้พระจันทร์ตอนค่ำ จากที่แต่เดิมนิยมไหว้กัน 3 เวลา (เช้า-สาย-กลางคืน)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“เทศกาลไหว้พระจันทร์ : ความกลมเกลียวของชาติ-ครอบครัว”. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้. ถาวร สิกขโกศล. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2559