เทศกาลไหว้ “พระจันทร์” ในวันที่มีมนุษย์ไปถึง “ดวงจันทร์”

ขนมไหว้พระจันทร์ เทศกาลไหว้พระจันทร์ ไหว้พระจันทร์
ขนมไหว้พระจันทร์ (photo by cegoh, via pixabay.com)

เทศกาลจีนยุคแรกมีลักษณะเป็นนักขัตฤกษ์ตามฤดูกาล แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (มากกว่าแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคม) เพราะในสังคมเก่านั้น การทำนาทำไร่ คืออาชีพหลักของประชาชน เป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ต้องสอดคล้องกับฤดูกาล การเซ่นสรวงบูชาฟ้า ดิน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ เพื่อขอบคุณธรรมชาติ จึงเกิดเป็นเทศกาลตามลัทธิศาสนาของชุมชน และบางเทศกาลของประเทศ หรือยกระดับเป็นพิธีกรรมของรัฐ ดังนั้น “เทศกาลไหว้พระจันทร์” ก็มีที่มาในลักษณะเดียวกัน

เทศกาลไหว้พระจันทร์ กำหนดตามปฏิทินจันทรคติของจีน คือ วัน 15 ค่ำ เดือน 8 วันนี้เป็นวันหนึ่งพระจันทร์เต็มดวงสวยงามจากมุมองศาที่มองจากเมืองจีน ช่วงเวลานี้มีข้าวเจ้า, ข้าวเหนียวสุก สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงมีข้าวที่จะใช้เซ่นสรวง มีเงินที่จะใช้จับจ่าย มีเวลารื่นเริงนอกจากเซ่นสรวงเทพเจ้าและบรรพชนแล้ว จึงมีกิจกรรมเที่ยวชมจันทร์, เอร็ดอร่อยไปกับ ขนมไหว้พระจันทร์, คนหนุ่มสาวได้พบปะรู้จักกัน, กลับบ้านกินข้าวเย็นพร้อมกับครอบครัว นัยว่าเหมือนดวงจันทร์เต็มดวง ฯลฯ

สมัยราชวงศ์ถัง เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นแค่เทศกาลพื้นบ้านของประชาชนเท่านั้น เมื่อถึง สมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503-1822) จึงมีฐานะเป็นเทศกาลของรัฐ มีการเฉลิมฉลองกันทั้งคืน แต่ความจดจำของเทศกาลไหว้พระจันทร์กลับเป็นตำนาน สมัยราชวงศ์หยวน ซึ่งเป็นสมัยที่ชาวมองโกลปกครองประเทศจีน ที่สอดจดหมายน้อยในไส้ของ “ขนมไหว้พระจันทร์” เพื่อนัดหมายกันต่อสู้กับมองโกลจนได้ชัยชนะ

ยุคสาธารณรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2492 รัฐบาลพรรคคอมนิวนิสต์ กำหนดวันหยุดราชการใหม่ มีเพียง “ตรุษจีน” เท่านั้นที่เป็นวันหยุดราชการ ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2550 รัฐบาลออกประกาศเรื่อง “วันหยุดเทศกาลและวันหยุดราชการ” ว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป ให้เทศกาลตรุษจีนเป็นวันหยุดยาว 7 วัน เทศกาลเช็งเม้ง, เทศกาลบะจ่าง, และเทศกาลไหว้พระจันทร์ หยุดเทศกาลละ 1 วัน

ที่ประเทศจีนไหว้นอกจากตรุษจีนแล้ว รองลงมาก็คือไหว้พระจันทร์ที่เป็นเทศกาลคึกคักไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลฮกเกี้ยน ตั้งแต่ฉวนโจว ลงมาถึงเซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) และจางโจว

เพราะรัฐบาลจีนพยายามใช้เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นสื่อในการสื่อสารไปยังชาวไต้หวัน ซึ่งอยู่บนแผ่นดินตรงข้าม ให้กลับมาร่วมชาติจีน ร่วมภาษาฮกเกี้ยน เสมือนสมาชิกในบ้านที่กลับมาพร้อมหน้าในเทศกาลไหว้พระจันทร์

สำหรับลูกหลานจีนโพ้นทะเลในไทย อดีตที่ผ่านมาเมื่อ 40-50 ปีก่อน เทศกาลไหว้พระจันทร์มีกิจกรรมหนึ่งสำหรับผู้หญิง เรียกว่า “ง๊วยเนี้ยหวย” ที่ชักชวนผู้หญิงในชุมชนเก็บเงินกันคนละเล็กละน้อยแต่ละเดือน เมื่อถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ก็จะนำเงินก้อนนี้ไปซื้อของให้ตามที่สมาชิกทุกคนที่ร่วมออมเงินตกลงกัน (คล้ายกับการเล่นแชร์ แต่ไม่มีดอก และไม่มีแข่งกันเปียทุกๆ เดือน) เช่น เครื่องสำอาง, เสื้อผ้า, ผลไม้, ขนม ฯลฯ ขึ้นกับเงินที่รวบรวมได้มากน้อยเพียงใด

ปัจจุบัน เทศกาลไหว้พระจันทร์ถูกลดบทบาทลงไปพอสมควร เทศกาลจีนที่ยังคงให้ความสำคัญ และมีการเซ่นไหว้ ในหลายๆ ครอบครัว หลายชุมชน เหลือเพียง ตรุษจีน, เช็งเม้ง และสารทจีน เป็นหลัก

เทศกาลไหว้พระจันทร์ในวันนี้ ที่ดูเหมือนจะหมดเสน่ห์ สิ้นมนต์ขลังนั้น ไม่ใช่เพราะมนุษย์หลายสัญชาติสามารถเดินทางออกนอกโลกไปเหยียบดวงจันทร์ได้ แต่เพราะวิถีชีวิตที่ห่างไกลจากสังคมเกษตรกรรม และธรรมชาติ ที่เป็นจุดตั้งต้นของเทศกาล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2562