“สระแก้ว” จากอำเภอ สู่จังหวัด พื้นที่นี้เป็นอะไร เกี่ยวกับใครมาก่อน

ปราสาทสด๊กก๊อกธม ปราสาทหิน สระแก้ว
ปราสาทสด๊กก๊อกธม ต. โคกสูง อ. โคกสูง จ. สระแก้ว (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

อำเภอ “สระแก้ว” จังหวัดปราจีนบุรี ยกฐานะเป็น “จังหวัด” สระแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2536 แต่ก่อนหน้านั้นพื้นที่ที่เรียกว่า จังหวัดสระแก้ว มีใครเข้ามาตั้งถิ่นฐาน มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในสระแก้ว พอสรุปได้ดังนี้

หลัง พ.ศ. 1000 บริเวณจังหวัดสระแก้ว มีชุมชนหนาแน่นขึ้นกว่ายุคก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ 2 แห่ง คือ ที่ลุ่มต้นน้ำพระปรง อำเภอเมือง กับอำเภอวัฒนานคร แล้วกระจายถึงบริเวณต้นน้ำห้วยพรมโหด 

หลัง พ.ศ. 1500 สระแก้วมีศูนย์กลางสำคัญอยู่บริเวณที่มีปราสาทสด๊กก๊อกธม (อำเภอโคกสูง) แล้วจะเชื่อมโยงเกี่ยวดองเครือญาติต่าง ๆ เช่น เกี่ยวดองถึงเขตที่มีปราสาทเขาน้อย (อำเภออรัญประเทศ) นอกจากนี้ยังเกี่ยวดองกับเมืองมโหสถ (อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี) ที่รุ่งเรืองจากการค้าโลก แล้วเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ “ขอม” ทั้งเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเมืองพระนครที่ทะเลสาบ (กัมพูชา)

หลัง พ.ศ. 1700 บริเวณปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกงเป็นที่ดอนมากขึ้น จากทะเลโคลนตมที่ทับถม ส่งผลให้เส้นทางคมนาคมออกอ่าวไทยติดขัด เมืองมโหสถ (ปราจีนบุรี) เมืองรพรถ (ชลบุรี) ที่เคยเป็น “เมืองท่า” ริมทะเล บนเส้นทางการค้าโลกให้กับบ้านเมืองทางสระแก้ว เพื่อผ่านไปเมืองพระนครที่ทะเลสาบเสียมเรียบ ต้องร่วงโรยรกร้าง กลายเป็นป่าดง

หลัง พ.ศ. 1900 สระแก้วเป็นส่วนหนึ่งของเมืองปราจีนบุรี เมื่อแรกมีชื่อเมืองปราจีนบุรี อยู่ในบทพระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง อยู่ในกลุ่มบ้านเมืองลุ่มน้ำบางปะกงอีก 2 เมือง คือ เมืองฉะเชิงเทรา เมืองนครนายก แต่ยังไม่มีชื่อ สระแก้ว

พ.ศ. 2125 หลังเสร็จศึกไล่พม่าออกไปเมืองกาญจนบุรีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชบัญชา สั่งพระยานครนายก, พระยาปราจีน, พระยาวิเศษเมืองฉะเชิงเทรา, พระสระบุรี รวม 4 หัวเมือง ให้พระยานครนายกเป็นแม่กองใหญ่ คุมพลหมื่นหนึ่ง ออกไปตั้งค่ายขุดคู ปลูกยุ้งฉาง ถ่ายลำเลียงไว้ “ตำบลทำนบ” (เชื่อกันว่า ปัจจุบันคือ บริเวณอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว) เตรียมไว้ทำศึกเมืองละแวก (กัมพูชา) ใน พ.ศ. 2126

หลัง พ.ศ. 2300 สระแก้วเป็นดินแดนชายขอบทั้งของกรุงศรีอยุธยา และกัมพูชา มีชาวเขมร, ลาว, ญวน ฯลฯ เข้ามาตั้งหลักแหล่งผสมผสานอยู่ด้วยกัน แล้ว “ขี่เรือไปค้า ขี่ม้าไปขาย” ถึงบ้านเมืองทางลุ่มน้ำบางปะกง ดังมีชื่อ “ท่าเขมร” อยู่บนแม่น้ำปราจีนบุรี (ต้นน้ำบางปะกง) แสดงว่า มีชาวเขมรล่องเรือขนสินค้าไปขาย จนได้ชื่อเรียกอย่างนั้น

พ.ศ. 2323 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยาจักรี (เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ต่อไปคือ รัชกาลที่ 1) ยกทัพไปตีกรุงกัมพูชา ขณะสงครามติดพันในกัมพูชา ก็มีรายงานว่ากรุงธนบุรีมีจลาจล เจ้าพระยาจักรีให้ยกทัพมาปราบจลาจล มีความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า “แล้วยกช้างม้ารี้พลคนประมาณห้าพันเศษ ดำเนินทัพมาทางด่านพระจารึกมาถึงเมืองปราจีน แล้วข้ามแม่น้ำเมืองปราจีน เมืองนครนายก ตัดมาลงท้องทุ่งแสนแสบ” จากกรุงกัมพูชามาทางด่านพระจารึก (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสระแก้ว) ถึงเมืองปราจีนบุรี เจ้าพระยาจักรีต้องผ่านพื้นที่สระแก้วไปสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไม่มีบันทึกว่า ผ่านตรงไหนของจังหวัดสระแก้ว

พ.ศ. 2369 ลาว, เขมร และกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายเผ่า ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งหลักแหล่งทางลุ่มน้ำบางปะกง ด้วยเหตุผลทางการสงครามกับลาว, เขมร และญวน เมื่อมีผู้คนมากขึ้น รัชกาลที่ 3 โปรดให้ยกบ้านขึ้นเป็นเมือง จึงมีลาว, เขมร มาอยู่ในพื้นที่สระแก้ว

หลัง พ.ศ. 2400 สระแก้วอยู่ในเขตเมืองปราจีนบุรี เดิมเรียก “ด่านพระปรง” มาแต่ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ. 2446 เมืองปราจีนบุรี แบ่งการปกครองเป็น 5 อำเภอ กับ 3 สาขาอำเภอ คือ 1. อำเภอเมือง 2. อำเภอบ้านสร้าง 3. อำเภอศรีมหาโพธิ แยกสาขาอำเภออีก 1 สาขา คือ ท่าประชุม 4. อำเภอกบินทร์บุรี แยกสาขาอำเภออีก 2 สาขา คือ วัฒนานคร และสระแก้ว 5. อำเภอประจันตคาม

พ.ศ. 2482 ลาว, เขมร, ญวน, จีน, ย้อ ฯลฯ เขตสระแก้ว และบริเวณต่อเนื่อง กลายเป็นคนไทยหมดทุกคน เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย

พ.ศ. 2536 เนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรี เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดน มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีประชากรมาก เพื่อประโยชน์ด้านการปกครอง, การรักษาความมั่นคง และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงให้แยกอำเภอสระแก้ว, อำเภอคลองหาด, อำเภอตาพระยา, อำเภอวังน้ำเย็น, อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ ออกจากการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี รวมตั้งขึ้นเป็น “จังหวัดสระแก้ว” และเปลี่ยนชื่ออำเภอสระแก้ว เป็นอำเภอเมืองสระแก้ว โดยจังหวัดสระแก้วมีพื้นที่ในเขตปกครองประมาณ 7,195 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,496,961 ไร่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดสระแก้ว ลุ่มน้ำบางปะกง สุดพรมแดนตะวันออก. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว. พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2551.


เผยพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2566