สระแก้ว และ หนองสาลิกา จุดแวะพักในเส้นทางอานามสยามยุทธ์

แผนที่แสดงตำแหน่งหนองสาลิกา ในแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “แผนที่เขมรในนี้ ฉบับที่ ๗” (ภาพจาก Royal Siamese Maps : War and Trade in Nineteenth Century Thailand, Bangkok : River Books, 2006.)

สระแก้ว-สระขวัญ เป็นชื่อสระน้ำโบราณซึ่งปัจจุบันอยู่ในสวนสาธารณะสระแก้ว-สระขวัญ เขตอำเภอเมืองสระแก้ว เรียกว่า “สระแก้ว-สระขวัญ” ถือกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเป็นแหล่งโบราณสถานราวพุทธศตวรรษที่ 17-18

สระแก้ว-สระขวัญ ปรากฏหลักฐานในตำนานของท้องถิ่นที่กล่าวว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จฯ กลับจากเมืองเสียมราบเพื่อปราบการจลาจลในกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2325 ใช้เส้นทางเข้ามาทางด่านพระจารึก ครั้นเสด็จฯ ผ่านที่สระแก้ว-สระขวัญ ได้ทรงทำพิธีสระสรงสนานที่สระแก้วเพื่อสวัสดิมงคล แล้วเดินทัพไปที่ปราจีนบุรี ตัดทุ่งแสนแสบ ไปยังกรุงธนบุรี

เรื่องราวเกี่ยวกับ “สระแก้ว” ตามเรื่องเล่าท้องถิ่นตอนนี้ สอดคล้องกับ “พระราชพงศาวดารคำฉันท์ เฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ภาค 3” ซึ่งกล่าวถึงเส้นทางการเสด็จฯ กลับจากเมืองเสียมราบของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อเสด็จฯ มาถึง “สระแก้ว” ไว้อย่างละเอียด ว่า

…๏ ถัดถึงสระแก้วด่านดิน   ด่านท่าธานินทร์   ทางน่านธารน้ำจันทรบุรี

ไหลมาแม่น้ำเมืองมี   นามขานคดี   นครนายกยืนนาน

กองทัพค่ามคลองคันสถาน   อาบกินสำราญ   ทุกหมู่และหมวดหมายกอง

ขึ้นทุ่งปราสาททั้งผอง   เห็นถิ่นฐานปอง   มาทำเปนที่สถานเวียง

ครั้งคราวเบาราณลือเสียง   มีกระษัตริย์กรุงเกรียง   กิติยศระบือลือชา

จัดสร้างเปนปราสาทมา   คิดอยู่ไม่ถา   วรแล้วก็ร้างโรยไป

เหลือแต่ฐานทำทนไผท   แท่นที่ประทับใน   ณ กลางปราสาทสร้างดี

สิลาแลงแท่งเดียวดูสี   แดงคงทนทวี   อยู่ได้นานนับนิรันดร

ถัดถึงทุ่งประพาศภูธร   ทุ่งใหญ่ไกลนคร   สำหรับประพาศพฤกษา

มีสระสนานโตโอฬาร์   จตุรัสคณะนา   ในสิบห้าเส้นเปนประมาณ

รุกขาขึ้นรอบริมธาร   ที่รื่นสำราญ   สำหรับประเวศวนารมย์”[1]

หลักฐานที่น่าสนใจในพระราชพงศาวดารคำฉันท์นี้ คือการกล่าวถึง “สระแก้ว” ไว้อย่างละเอียด สอดคล้องกับเรื่องเล่าของท้องถิ่น มีการกล่าวถึงกลุ่มโบราณสถาน รวมทั้งยังกล่าวถึงว่าสระแก้วมีฐานะเป็น “ด่าน” ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานในที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ยุทธศาสตร์สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ไม่ได้กล่าวถึง “สระแก้ว” ไว้ หรือแม้แต่ในแผนที่ “เขมรในนี้” ซึ่งเป็นแผนที่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่ได้กล่าวถึงสระแก้วเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ชื่อ “สระแก้ว” ยังเป็นที่รับรู้กันต่อมา และใช้เป็นจุดแวะพักระหว่างการเดินทางในเส้นทางไทย-กัมพูชา ดังเช่นที่ปรากฏใน “เรื่องการเดินทาง คราวไปราชการปักปันเขตแดนสยามกับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2450” ของ พระยาภักดีภูธร (ชื่อ ภักดีกุล) ซึ่งกล่าวถึงการเดินทางจากเมืองกบินทร์บุรีมายังห้วยพะตง (แควพระปรง) แล้วเดินทางไปยังสระแก้ว ว่า

วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 เวลาเช้า ย่ำรุ่งแล้ว 58 นาที ออกเดินเกวียนพาหนะจากศลาบ้านห้วยแดง (คลองบ้านแดง) เดินตามทางตัดใหม่ ถึงกระนั้นก็ยังติดบ้างไม่มากนัก เวลาเที่ยง 4 นาทีถึงโคกสะกากล (ดอนนกขุนทอง) กลางป่าแดงไม่มีหมู่บ้านเรือนอะไร มีแต่ลำน้ำอาไศรยได้ดี พักร้อนพอหายเหนื่อยแล้ว เวลาบ่าย 2 โมง 24 นาที ออกเดินทางต่อไป เวลาบ่าย 3 โมง 45 นาที ถึงตำบลสระแก้ว (ไม่เห็นมีสระอะไรที่ไหนมีแต่หนองน้ำสอาดดี) และมีศาลาที่พักอาไศรยดีมีโรงตำหรวจภูธร มีหมู่บ้าน มีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ชายป่า และตำบลนั้นต่อมาเปนทุ่งโล่ง จำเภาะเปนเนินดอนอยู่แต่ที่หย่อมนั้น นอกนั้นเปนน้ำ และนาโดยมาก บางทีจะเห็นเปนสระแก้วกระมังจึงมีนามดังนั้น)”[2]

แสดงให้เห็นว่า “สระแก้ว” เป็นชื่อสถานที่ซึ่งรับรู้กันสืบมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนได้นำมาใช้เป็นชื่อจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน

หนองสาลิกา หนองน้ำสำคัญตั้งแต่โบราณ ก่อนที่จะถึงด่านพระจารึก

หนองสาลิกา

หนองสาลิกา เป็นชื่อหนองน้ำสำคัญตั้งแต่โบราณ ปรากฏหลักฐานในแผนที่เดินทัพสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับที่ 7 “เขมรในนี้”[3] และแผนที่ฉบับที่ 8 แผนที่ทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นแผนที่แสดงเส้นทางเดินทัพจากกรุงเทพฯ ไปยังกัมพูชา ได้แสดงตำแหน่งที่ตั้งของ “หนองสารลิกา” ไว้อย่างชัดเจน ว่าเป็นหนองน้ำใหญ่ก่อนที่จะถึง “พระจาฤก” หรือ “ด่านพระจารึก”

ปัจจุบันหนองสาลิกาตั้งอยู่ในเขตค่ายทหารไพรีระย่อเดช เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ และมีศาลเจ้าแม่สาลิกาตั้งอยู่ภายในค่ายไพรีระย่อเดชอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จากหลักฐานต่างๆ แสดงให้เห็นว่า หนองสาลิกาเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง จึงปรากฏหลักฐานในแผนที่เส้นทางเดินทัพสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นจุดพักสำคัญ เพราะมีหนองน้ำก่อนที่จะเดินทางถึง “ด่านพระจารึก” ต่อไป


เชิงอรรถ

[1] พระนิมิตอักษร พุทธ์นนทกระกูล เสนาลักษณ์ กรมพระอาลักษณ์. พระราชพงศาวดารคำฉันท์ เฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรวม 3 ภาค. (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2555), น. 59-60.

[2] พระยาภักดีภูธร (ชื่น ภักดีกุล). เรื่องการเดินทาง คราวไปราชการปักปันเขตแดนสยามกับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2450. น. 16-17.

[3] Santanee Phasuk and Philip Stott. Royal Siamese Maps : War and Trade in Nineteenth Century Thailand. pp. 114-115, 124-125.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2561