“มึงหรือวะอีคอมฯ” ความรุนแรงบนรถเมล์สาย 53 ใน “6 ตุลา”

รถเมล์ 6 ตุลา เจ้าหน้าที่ กวาดต้อน นักศึกษา ประชาชน คน ขึ้นรถ

ภาพถ่ายนักศึกษาประชาชนหมอบลงกับพื้นสนามหญ้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน “6 ตุลา” มุมหนึ่งอาจสื่อได้ว่าเหตุการณ์ได้สงบลงแล้ว แม้จะดูเป็นอย่างนั้น แต่ “ความรุนแรง” หาได้ยุติด้วยไม่ พลันที่นักศึกษาประชาชนลุกขึ้นจากสนาม ถูกต้อนขึ้นรถโดยสาร โดยเฉพาะบน “รถเมล์สาย 53” ก็เกิดเหตุการณ์ความโหดร้ายทารุณโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

เรื่องนี้บันทึกโดย สุชีลา ตันชัยนันท์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ “6 ตุลา” ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ “6 ตุลา”

ในช่วงสายของวันที่ 9 ตุลาคม ปี 2519 สุชีลาถูกเจ้าหน้าที่จับกุม นำตัวขึ้นรถเมล์ไปคุมขังยังเรือนจำชั่วคราวที่บางเขน ขณะอยู่บนรถเมล์ก็บังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงบน “รถเมล์สาย 53” ดังที่สุชีลาได้บรรยายไว้ดังนี้

“…ผู้เขียนถูกต้อนให้ขึ้นรถเมล์สาย 53 ซึ่งถูกดัดแปลงให้เป็นรถขนนักศึกษาประชาชนที่ถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…รถเมล์โดยสารถูกแปรสภาพให้เป็นรถรับส่งผู้รอดชีวิตจากการถูกสังหารหมู่ เคลื่อนตัวไปช้า ๆ พาผู้โดยสารจำเป็นทั้งชายและหญิงวางมือประสานกันไว้บนศีรษะ วิ่งวนรอบสนามหลวงก่อนที่จะตรงไปยังถนนราชดำเนิน กระเป๋ารถเมล์ทั้งสี่คนขยับปืนเอ็ม 16 ไปมาแทนกระบอกตั๋ว

เสียงพานท้ายปืนกระทบหัวของผู้โดยสารในรถดังอยู่ไม่ขาดระยะ ‘เอาแม่งไว้ทำไม ไอ้พวกขายชาติ น่าจะยิงให้ตายห่าให้หมด’ รถอ้อมมาถึงหน้ากระทรวงยุติธรรม และชะลอความเร็วลงจนหยุดนิ่งอยู่กับที่ คนกลุ่มหนึ่งวิ่งกรูกันขึ้นมาบนรถ รอยเลือดและคราบน้ำมันบนฝ่ามือยังหมาด ๆ จากการเผาผู้คนทั้งเป็น เสียงตีนหนัก ๆ ประเคนไปบนเนื้อตัวของผู้คนบนรถ เสียงคำรามและเสียงพานท้ายปืนดังขึ้นอีกหลาย ๆ ครั้งติด ๆ กัน

เหตุการณ์ “6 ตุลา” ภาพจาก บันทึก 6 ตุลา

‘ไอ้สัตว์ มึงหรือวะอีคอมฯ นมมึงเหมือนคนเขาไหมวะ’ หญิงสาวเบือนหน้าหนีขณะที่ถอยตัวให้ห่างจากหน้าต่างรถ แต่มันยังช้ากว่ามือของเหล่าสัตว์ป่าที่เอื้อมเข้ามาขยำและบีบเค้นตรงหน้าอกของเธอ น้ำตาอุ่น ๆ ไหลเป็นทางยาวอาบแก้มทั้งสองข้างของผู้เขียน นี่มันทำราวกับเราเป็นเชลยศึกในสงคราม ไม่มีเวลาใดอีกแล้วที่เราต้องอยู่ในสภาพที่ขมขื่นและถูกรังแกหนักหนาเท่านี้…”

เจ้าหน้าที่รัฐนำตัวนักศึกษาประชาชนที่ตกเป็น “ผู้ต้องหา” มายังโรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน และคุมตัวไว้ยังตึกหลังหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นเรือนจำชั่วคราว เต็มไปด้วยผู้ต้องหาเกือบ 3,000 คน ส่วนสุชีลาถูกคุมขังอยู่ห้องริมสุดกับผู้หญิงอีกราว 200 คน

สุชีลาเล่าถึงเรือนจำชั่วคราวแห่งนั้นว่า “…อยู่ที่โรงยิมเนเซียมแห่งนี้ผู้เขียนมักนอนไม่ค่อยหลับ เสียงเจ้าเครื่องบินยักษ์ที่บินผ่านไปมาเหนือท้องฟ้าโรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขนส่งเสียงคำรามจนแสบแก้วหู ถ้าเป็นเมื่อก่อนเสียงหึ่ง ๆ ของเครื่องบินคงไม่สามารถทำให้ผู้เขียนถึงกับผวาลุกขึ้นนั่งเพื่อเตรียมหาที่กำบังกระสุนปืน…” 

ต่อมา เจ้าหน้าที่รัฐได้ย้ายผู้ต้องหาไปขังที่ทัณฑสถานหญิงลาดยาว กลางดึกในคืนย้ายตัวนั้น สุชีลาบรรยายบรรยากาศว่า คล้ายกับอยู่ในค่ายกักกันเชลยศึกในภาพยนตร์ เธอเดินฝ่าความมืดมิดและแนวลวดหนามที่ถูกขึงอยู่เต็มไปหมดเพื่อไปขึ้นรถทหารที่จอดเรียงรายอยู่นับ 20 คัน

สุชีลาคิดว่า เวลานั้นคงไม่มีโอกาสรอดเสียแล้ว ทหารอาจพาไปยิงทิ้งที่ไหนสักแห่ง แต่สุชีลาก็พยายามทำใจเข้มแข็งไว้ จนเมื่อเดินเข้ามาใกล้รถก็ได้พบเพื่อน 3 คนที่นั่งรออยู่ก่อนแล้ว คือ ชวลิต วินิจจะกูล, อรรถการ อุปถัมภากุล และคงศักดิ์ อาษาภักดิ์ ทุกคนส่งเสียงต้อนรับ จนทำให้ตำรวจหมั่นไส้แล้วพูดว่า “จะตายอยู่แล้วยังทำหน้าระรื่นอีก”

สุชีลาพร้อมกับผู้ต้องหารวม 18 คน ถูกคุมขังในคุกเป็นเวลาเกือบ 2 ปี กระทั่งถูกปล่อยตัวเมื่อมีการ “นิรโทษกรรม” ในปี 2521

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุชีลา ตันชัยนันท์. (2546). เปิดบันทึก นักโทษหญิง 6 ตุลา. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2566