6 ตุลาในมุมนิธิ เอียวศรีวงศ์-ธงชัย วินิจจะกูล อดีตที่เผยอัปลักษณ์ 5 อย่างของสังคมไทย

6 ตุลาคม 2519 นักศึกษา ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ล้อมปราบ
เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา AFP PHOTO / AFP FILES

สำรวจ 6 ตุลา ในมุมมอง นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ธงชัย วินิจจะกูล กับอดีตที่เผยอัปลักษณ์ 5 อย่างของสังคมไทย

ภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดความตื่นตัวทางการเมืองในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาประชาชน มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคม อันเนื่องมาจากอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมหลายประการ

ความดุเดือดของการปะทะทางความคิดด้านการเมืองในสังคมไทยสั่งสมมายาวนานตลอด กระทั่งชนวนเหตุมาจุดขึ้นอีกจากการเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่สร้างความไม่พอใจให้กับนักศึกษาประชาชน องค์ประกอบและสถานการณ์หลายอย่างทำให้บรรยากาศบานปลาย

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือวันที่เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจตระเวนชายแดนและลูกเสือชาวบ้านเป็นแกนนำ ได้ใช้กำลังเข้าทารุณกรรมและสังหารชีวิตของนักศึกษาอย่างไร้ปราณี ด้วยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 ราย (บางแหล่งอ้างถึงหลักร้อยราย)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ธงชัย วินิจจะกูล สองนักวิชาการ แสดงความเห็นในบทความในหนังสือ 20 ปี 6 ตุลา (ตุลากาล) โดย นิธิ กล่าวว่า “…จนถึงทุกวันนี้ ผมก็เข้าใจว่าสังคมไทยโดยรวมก็ไม่ได้มีปัญญางอกงามอะไรขึ้นมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลามากไปกว่าเมื่อ พ.ศ. 2519 มากนักอยู่นั่นเอง เพราะนักปราชญ์ท่านก็ยังรักษาท่าทีสุขุมอย่างเลือดเย็นของท่านไว้ด้วยคําเตือนว่า ‘มีประโยชน์อะไรที่จะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ’ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘อย่าเรียนรู้’ เป็นอันว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นอีกเหตุการณ์ใหญ่หนึ่งในอดีตของไทยที่ถูกทําหรือรักษา ‘ความไร้ความหมาย’ เอา ไว้สืบไป

ผมไม่คิดว่าผมสามารถสลัดความโง่เขลาเบาปัญญาของตนเองใน พ.ศ. 2519 ไปได้ อีกทั้งไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม จากสังคมที่ถูกวางเงื่อนไขให้ลืม 6 ตุลาเสียอีก ในปัจจุบันมี พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสําหรับเหตุการณ์ในวันนั้นออกมาแล้ว แม้ในครั้งที่ออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็มีผู้คัดค้านว่า เหตุใดจึงนิรโทษกรรมแก่นักศึกษาซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ในเมื่อจุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีมือเปื้อนเลือดเท่านั้น

ซึ่งทําให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันนั้นไม่เปิดเผยในชั้นการสอบสวนหรือชั้นศาลจนถึงทุกวันนี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็ไม่เป็นผลให้มีผู้เล่าความจริงเพิ่มขึ้นนอกจาก ‘เหยื่อ’ ซึ่งรู้ข้อเท็จจริงเพียงครึ่งเดียว… ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ 6 ตุลาของสังคมเป็นเรื่องมีประโยชน์ อีกทั้งยังหลบเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย แม้ไม่มีใครต้องมาชดใช้การกระทําของตนในวันนั้นกับกฎหมายอีกแล้ว แต่ทุกคนยังเป็นหนี้ที่ต้องให้สังคมได้เรียนรู้ ไม่ควรที่จะปกปิดหรือพยายามกลบเกลื่อน เพราะนั่นคือการไม่ยอมคืนบทเรียนแก่สังคมไทยนั่นเอง”

นักศึกษา-ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ขณะที่ ธงชัย กล่าวว่า “เรามักเอาคํากล่าวหาว่า ฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือกวนน้ำให้ขุ่นมาใช้กันพร่ำเพรื่อเพื่อปิดกั้นปัญญาของเราเอง… หลายคนย้อนทบทวนชีวิตและประสบการณ์ของตนในขบวนนักศึกษา กระทั่งยอมรับว่า ความคิดอุดมคติสังคมนิยมที่ก่อตัวมาตั้งแต่ก่อน 6 ตุลา 2519 มีส่วนให้คนคิดและมีกิจกรรมทางการเมืองอันนําไปสู่การเผชิญหน้ากับรัฐอย่างแหลมคม

กล่าวอย่างง่าย ๆ คือ ความรุนแรงและการสูญเสียที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความคิดและการเมืองของขบวนนักศึกษาเอง เป็นผลมาจากความหลงใหลเชื่อมั่นในสังคมนิยมและ พคท. …เป็นเรื่องตลกเศร้า ๆ หรือเปล่าที่สังคมนี้จะรําลึกถึงโศกนาฏกรรม โดยไม่คิดจะแตะต้องอาชญากรรมและอาชญากรที่เป็นต้นเหตุ? หรือสังคมไทยจะยอมรับไหมหากมีการตอกย้ำว่าอะไรคืออาชญากรรมโดยไม่แตะต้องอาชญากร…

เจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหารและตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับกุมนักศึกษา-ประชาชนกว่า 3,000 คน ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เคยคิดไหมว่าความสมานฉันท์สามัคคีของคนในชาติแบบนี้มีอันตรายเหลือเกิน สิ่งที่ถูกความสมานฉันท์สังหารสนิทคือบรรทัดฐานศีลธรรมทางการเมือง การรําลึกความเจ็บปวดโดยไม่กระทําให้กระจ่างว่าอาชญากรรมคืออะไร เป็นแค่ครึ่งทางของการสกัดกั้นมิให้อาชญากรรมนั้นเกิดขึ้นอีก รําลึก 20 ปี 6 ตุลา ดูเหมือนจะทําได้อย่างมากแค่ครึ่งทางแค่นี้…

เพราะอดีตอย่าง 6 ตุลา 2519 ยังค้างคาอยู่ในใจทุกฝ่ายว่าจะเรียกผู้เสียชีวิตในวันนั้นว่าเป็นอะไรดี ศัตรูของชาติหรือวีรชนประชาธิปไตย? หรือเป็นเพียงเหยื่อที่น่าสงสาร…”

ธงชัยสรุปว่า “6 ตุลา 19 คืออดีตที่เปิดเผยอัปลักษณ์ของสังคมไทย 5 ประการสําคัญ ซึ่งตรงข้ามกับเอกลักษณ์ไทยที่มักเชิดชูกันทั้งหลาย ได้แก่

1. อาชญากรรมของรัฐที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของตนเองในความขัดแย้งทางการเมือง
2. การกําจัดและสังหารความคิดที่แตกต่างด้วยความรุนแรง
3. ความขัดแย้งแตกต่างฝังลึกในสังคมที่ไม่รู้จักตัวเอง โหยหาความสามัคคีจนไม่รู้จักจัดการกับความขัดแย้งอย่างเหมาะสม
4. การทําลายความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันของคู่ขัดแย้งจนนําไปสู่ความหฤโหดเกินคาดหมาย
5. ความไร้น้ำใจในสังคมไทยที่ไม่รู้จักการเยียวยาผู้รับเคราะห์จากโศกนาฏกรรม หวังแต่จะอาศัยความเงียบบรรเทาความเจ็บปวดของผู้เสียหาย”

ธงชัยแสดงความเห็นว่าอาชญากรรมที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่อาชญากรรมที่ใช้วิธีหฤโหดผิดมนุษยธรรม แต่คืออาชญากรรมที่ทําลายล้างมนุษย์ด้วยกันในนามของเหตุผล และสรุปว่า “6 ตุลาคม 2519 ปราบทั้งคอมมิวนิสต์และปราบชีวิตที่กล้าฝัน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วีณา โดมพนาดร. (2539, ตุลาคม). รอยระลึก… 20 ปี 6 ตุลา เปลื้องเปลือยสังคมไทย แผ่นดินที่ความจริงคว้างหาย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 17 (ฉบับที่ 12) : หน้า 196-202.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2562