ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“สุชีลา ตันชัยนันท์” นักศึกษาผู้เรียกร้องสิทธิสตรี กับความรุนแรงบนรถเมล์ใน “6 ตุลา”
สุชีลา ตันชัยนันท์ คืออดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม สนับสนุนสิทธิสตรี และหนึ่งในผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ “6 ตุลา” ที่ถูกคุมขังในคุกเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี
สุชีลาเกิดในครอบครัวเป็นชนชั้นกลางเชื้อสายจีน เธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2516 ซึ่งเป็นเวลาที่ขบวนการนักศึกษาเริ่มมีบทบาททางสังคมและการเมืองอย่างเด่นชัด โดยสุชีลาเข้าร่วมชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน ปี 2516 จากกรณีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้คัดชื่อนักศึกษาออก 9 คน แต่สุชีลาไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมประท้วงแต่อย่างใด
ในเดือนตุลาคม ปี 2516 ซึ่งอยู่ในช่วงการสอบ สุชีลาเดินทางมามหาวิทยาลัยเพื่อมาสอบตามปกติ แต่มีประกาศงดการสอบ เธอกับเพื่อน ๆ ก็ได้เป็นนักศึกษากลุ่มแรก ๆ ที่ไปฟังการอภิปรายของ “เสกสรรค์ ประเสิรฐกุล” แล้วเข้าร่วมต่อสู้กับนักศึกษาเป็นครั้งคราว หลังผ่านเหตุการณ์ “14 ตุลา” สุชีลาจึงค่อย ๆ เริ่มมีบทบาทในขบวนการนักศึกษามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นสมาชิก “กลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์”
ในปี 2515 ได้มีการตั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ขึ้นเป็นกลุ่มอิสระ เช่นเดียวกับกลุ่มสภาหน้าโดม โดยกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายในสังคม ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การจัดกลุ่มศึกษาปัญหาการทำแท้ง ปัญหาโสเภณี รณรงค์ต่อต้านการประกวดนางสาวไทยในงานวชิราวุธานุสรณ์ การเข้าร่วมสัมนาค่ายอาสาพัฒนาชนบททั่วประเทศ ที่ขอนแก่น และเชียงใหม่ ฯลฯ
เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้สุชีลาได้หันมาให้ความสนใจเรื่องสิทธิสตรี เนื่องมาจากเคยทำกิจกรรมร่วมกับโสเภณีจนทำให้เปลี่ยนความคิด สุชีลาเล่าว่า ในตอนที่เธอจัดโครงการสอนหนังสือให้ผู้หญิงโสเภณีบ้านปากเกร็ด เธอยังมีทัศนคติแบ่งผู้หญิงดีและเลวอยู่อย่างหนักแน่น และรู้สึกว่าไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนเหล่านั้น กลัวว่าหากที่บ้านทราบจะถูกดุ
แต่เมื่อสุชีลาได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ชีวิตของผู้หญิงโสเภณีด้วยตนเอง ความคิดของเธอจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไป จนในที่สุดจึงเปลี่ยนความคิด และได้ข้อสรุปว่า “โสเภณี คือ การเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงรูปแบบหนึ่ง ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ผู้หญิงโสเภณีจึงมีรากเหง้ามาจากระบบทาสในสังคมไทย”
สุชีลาจึงเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเพื่อสิทธิสตรีมากยิ่งขึ้น เธอมีแนวคิดว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงนั้นสอดคล้องกับการกดขี่ทางชนชั้น ที่ชนชั้นปกครองผู้กดขี่กระทำกับประชาชนของตน ในสังคมนั้น ผู้หญิงจึงถูกกดขี่ถึงสองชั้น คือ การกดขี่ทางชนชั้น และการกดขี่ทางเพศ
ในปี 2517 สุชีลาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานของกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ ปีต่อมากลุ่มนักศึกษาหญิงจากหลายสถาบันการศึกษารวมกลุ่มกันโดยมีสุชีลาเป็นผู้ประสานงาน ร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสิทธิสตรี เช่น รณรงค์ให้ผู้หญิงไทยตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนต่อประเทศชาติ, ตีพิมพ์บทความเผยแพร่แนวคิดการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีหลายผลงาน และเข้าร่วมการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่กรรมกรหญิง เป็นต้น
ปี 2518 เมื่อหมดวาระจากตำแหน่งประธานกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ สุชีลาได้เข้าร่วมกับ “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” รับผิดชอบงานด้านวิเทศสัมพันธ์ และยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานักศึกษาจากพรรคพลังธรรม ซึ่งมี “ธงชัย วินิจจะกูล” เป็นประธานสภานักศึกษา ปีถัดมา สุชีลายังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการฝ่ายสังคมและการศึกษา ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แต่งานหลักยังเป็นวิเทศสัมพันธ์ สุชีลาเล่าว่า ระยะเวลานี้ทำงานหนักขึ้น บางครั้งประชุมหามรุ่งหามค่ำกว่าจะเสร็จก็เป็นเวลาตีสี่ แล้วต้องแยกย้ายกันไปแจ้งมติการประชุมกับกลุ่มอิสระต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ได้เข้าเรียนบ้าง ไม่ได้เข้าเรียนบ้าง
จนเมื่อถึงเหตุการณ์ “6 ตุลา” สุชีลาเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ถูกเจ้าหน้าที่ล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “…การที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ตั้งแต่เริ่มต้น มันทำให้ผู้เขียนมองเห็นว่า สังคมไทยในขณะนั้นเต็มไปด้วยความป่าเถื่อนโหดร้ายยิ่งกว่าสงครามเสียอีก… เหตุการณ์ 6 ตุลา สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่ของรัฐปีนรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าไปล้อมยิงนักศึกษาราวกับว่าพวกเราไม่ใช่คน ภาพในวีดีโอที่มีการเผยแพร่ออกมาจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนก็นอนยิงในขณะที่สูบบุหรี่อย่างอารมณ์ดี เหมือนนายพรานที่กำลังอยู่ระหว่างการล่าสัตว์ และเลือกยิงเอาตามใจชอบ จะล่าตัวไหนก็ได้ทั้งตัวผู้ตัวเมีย
โดยใช้ผ้ายันต์ผืนเดียวเท่านั้นคือ ‘เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ ซึ่งผ้ายันต์ผืนนั้น ทำให้ทุกคนอยู่เหนือกฎหมาย สามารถทำร้ายนักศึกษาที่มีแต่สองมือเปล่าได้ แล้วอะไรคือการทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างที่กล่าวอ้าง
การปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วยิงกราดเข้ามาทุกทิศทาง โดยที่เรามีเพียงสองมือเปล่า แล้วจะให้พวกเราหนีไปทางไหน ในขณะที่เราพยายามอ้อนวอน พยายามติดต่อกับคนข้างนอกว่าเราไม่มีอาวุธ เราจะเข้าไปเจรจายุติการชุมนุม เพราะเราไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อสู้ได้ แต่การพยายามร้องขอของพวกเราไม่เป็นผลเลย
ผู้เขียนมาทราบภายหลังจากบันทึกการประชุมของคณะรัฐมนตรีว่า ในช่วงนั้นก็มีความพยายามจากฝ่ายรัฐที่จะยุติความรุนแรง โดยมีข้อเสนอให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ก็มีการคัดค้านจากคนของพรรคการเมืองบางพรรคในขณะนั้น ตัวแทนของพรรคการเมืองเหล่านี้ได้เสนอความเห็นขัดแย้งว่า ไม่สามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้ เพราะถ้าประกาศภาวะฉุกเฉินลูกเสือชาวบ้านจะชุมนุมไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถฆ่านักศึกษาได้…”
หลังการปราบปรามยุติลงในช่วงสายของวันที่ 9 ตุลาคม ปี 2519 สุชีลาถูกเจ้าหน้าที่จับกุม นำตัวขึ้นรถเมล์ไปคุมขังยังเรือนจำชั่วคราวที่บางเขน ขณะอยู่บนรถเมล์ก็ได้เกิดเรื่องน่าขมขื่นขึ้น สุชีลาได้บรรยายเหตุการณ์นั้นว่า
“ผู้เขียนถูกต้อนให้ขึ้นรถเมล์สาย 53 ซึ่งถูกดัดแปลงให้เป็นรถขนนักศึกษาประชาชนที่ถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์… รถเมล์โดยสารถูกแปรสภาพให้เป็นรถรับส่งผู้รอดชีวิตจากการถูกสังหารหมู่ เคลื่อนตัวไปช้า ๆ พาผู้โดยสารจำเป็นทั้งชายและหญิงวางมือประสานกันไว้บนศีรษะ วิ่งวนรอบสนามหลวงก่อนที่จะตรงไปยังถนนราชดำเนิน กระเป๋ารถเมล์ทั้งสี่คนขยับปืนเอ็ม 16 ไปมาแทนกระบอกตั๋ว
เสียงพานท้ายปืนกระทบหัวของผู้โดยสารในรถดังอยู่ไม่ขาดระยะ ‘เอาแม่งไว้ทำไม ไอ้พวกขายชาติ น่าจะยิงให้ตายห่าให้หมด’ รถอ้อมมาถึงหน้ากระทรวงยุติธรรม และชะลอความเร็วลงจนหยุดนิ่งอยู่กับที่ คนกลุ่มหนึ่งวิ่งกรูกันขึ้นมาบนรถ รอยเลือดและคราบน้ำมันบนฝ่ามือยังหมาด ๆ จากการเผาผู้คนทั้งเป็น เสียงตีนหนัก ๆ ประเคนไปบนเนื้อตัวของผู้คนบนรถ เสียงคำรามและเสียงพานท้ายปืนดังขึ้นอีกหลาย ๆ ครั้งติด ๆ กัน
‘ไอ้สัตว์ มึงหรือวะอีคอมฯ นมมึงเหมือนคนเขาไหมวะ’ หญิงสาวเบือนหน้าหนีขณะที่ถอยตัวให้ห่างจากหน้าต่างรถ แต่มันยังช้ากว่ามือของเหล่าสัตว์ป่าที่เอื้อมเข้ามาขยำและบีบเค้นตรงหน้าอกของเธอ น้ำตาอุ่น ๆ ไหลเป็นทางยาวอาบแก้มทั้งสองข้างของผู้เขียน นี่มันทำราวกับเราเป็นเชลยศึกในสงคราม ไม่มีเวลาใดอีกแล้วที่เราต้องอยู่ในสภาพที่ขมขื่นและถูกรังแกหนักหนาเท่านี้…”
จากนั้น เจ้าหน้าที่นำ “ผู้ต้องหา” มายังโรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน และคุมตัวไว้ยังตึกหลังหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นเรือนจำชั่วคราว เต็มไปด้วยผู้ต้องหาเกือบ 3,000 คน ส่วนสุชีลาถูกคุมขังอยู่ห้องริมสุดกับผู้หญิงอีกราว 200 คน ต่อมา ในวันที่ 8 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ย้ายผู้ต้องหาหญิงทั้งหมดลงไปที่โรงยิมเนเซียม ขณะที่ด้านนอกยังเต็มไปด้วยประชาชนที่มาเยี่ยมและรอประกันตัวผู้ต้องหา ครอบครัวของสุชีลาพยายามยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากสุชีลามีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ถูกอายัติตัว
สุชีลาเล่าว่า “…อยู่ที่โรงยิมเนเซียมแห่งนี้ผู้เขียนมักนอนไม่ค่อยหลับ เสียงเจ้าเครื่องบินยักษ์ที่บินผ่านไปมาเหนือท้องฟ้าโรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขนส่งเสียงคำรามจนแสบแก้วหู ถ้าเป็นเมื่อก่อนเสียงหึ่ง ๆ ของเครื่องบินคงไม่สามารถทำให้ผู้เขียนถึงกับผวาลุกขึ้นนั่งเพื่อเตรียมหาที่กำบังกระสุนปืน…”
การสอบสวนในช่วงเวลานี้ เจ้าหน้าที่พยายามชักจูงสุชีลาให้เชื่อว่า นักศึกษาถูกหลอกลวงเนื่องจากแกนนำนักศึกษามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง รวมทั้งพยายามให้สุชีลายอมรับว่า นึกศึกษาเคยผ่านการอมรมใช้อาวุธสงครามมาแล้ว แต่สุชีลาให้การปฏิเสธทั้งหมด โดยมองว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่กำลังทำอยู่นี้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามนักศึกษาและประชาชน
ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้ย้ายผู้ต้องหาไปขังที่ทัณฑสถานหญิงลาดยาว กลางดึกในคืนย้ายตัวนั้น สุชีลาบรรยายบรรยากาศว่า คล้ายกับอยู่ในค่ายกักกันเชลยศึกในภาพยนตร์ เธอเดินฝ่าความมืดมิดและแนวลวดหนามที่ถูกขึงอยู่เต็มไปหมดเพื่อไปขึ้นรถทหารที่จอดเรียงรายอยู่นับ 20 คัน สุชีลาคิดว่า เวลานั้นคงไม่มีโอกาสรอดเสียแล้ว คิดว่าทหารอาจพาไปยิงทิ้งที่ไหนสักแห่ง แต่ก็พยายามทำใจเข้มแข็งไว้ จนเมื่อเดินเข้ามาใกล้รถก็ได้พบเพื่อน 3 คนที่นั่งรออยู่ก่อนแล้ว คือ ชวลิต วินิจจะกูล, อรรถการ อุปถัมภากุล และคงศักดิ์ อาษาภักดิ์ ทุกคนส่งเสียงต้อนรับ จนทำให้ตำรวจหมั่นไส้แล้วพูดว่า “จะตายอยู่แล้วยังทำหน้าระรื่นอีก”
สุชีลาพร้อมกับผู้ต้องหารวม 18 คน ถูกคุมขังในคุกเป็นเวลาเกือบ 2 ปี กระทั่งถูกปล่อยตัวเมื่อมีการ “นิรโทษกรรม” ในปี 2521
อ่านเพิ่มเติม :
- 6 ตุลาคม 2519: เจ้าหน้าที่รัฐ “สังหารหมู่” นักศึกษากลางธรรมศาสตร์, ทหารฉวยโอกาสยึดอำนาจ
- 6 ตุลาในมุมนิธิ เอียวศรีวงศ์-ธงชัย วินิจจะกูล อดีตที่เผยอัปลักษณ์ 5 อย่างของสังคมไทย
- สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้รายงาน “6 ตุลา 19” ให้โลกรู้ความจริงก่อนถูกปลด-ล้มละลาย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุชีลา ตันชัยนันท์. (2546). เปิดบันทึก นักโทษหญิง 6 ตุลา. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2563