“วิหคฮุสซาร์” ทหารม้าติดปีก เทวทูตมรณะแห่งกองทัพโปแลนด์

ทหารม้า วิหคฮุสซาร์ ติด ปีก แห่ง โปแลนด์ จู่โจม ศัตรู
ทหารม้า วิหคฮุสซาร์ จู่โจมศัตรู, ผลงาน Antoni Piotrowski (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่ชุดเกราะติดปีกอันวิจิตรงดงามและแสนยานุภาพด้านการรบของ “ทหารม้า” แห่ง “โปแลนด์” สร้างชื่อเสียงและความพรั่นพรึงแก่คู่สงคราม การได้ยลโฉมนักรบในเครื่องแบบแวววับ ห่มหนังเสือ และมีปีกคู่ขนาดใหญ่อยู่บนหลัง ควบม้าเข้าสู่สนามรบอย่างสง่างาม คงชวนให้รู้สึกเหมือนพวกเขาหลุดออกมาจากเทพนิยายปกรณัมเลยทีเดียว “ปีก” ดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของยุทธวิธีที่ได้ผลอย่างดีเยี่ยม แม้พวกเขาจะไม่ถูกพูดถึงบ่อยเท่านักรบไวกิ้งหรือเหล่าซามูไร แต่หน่วย “วิหคฮุสซาร์” (Winged Hussars) คือหนึ่งในนักรบที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

“วิหคฮุสซาร์” คือใคร?

“วิหคฮุสซาร์” เป็นหน่วยทหารม้าที่ถือกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เดิมพวกเขาคือนักรบจากคาบสมุทรบอลข่านที่ถูกเนรเทศ จึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกองทหารรับจ้างอยู่ในราชอาณาจักรโปแลนด์ 

ค.ศ. 1503 ราชสำนักโปแลนด์อนุมัติการบรรจุนักรบฮุสซาร์หน่วยแรกไว้ภายใต้สังกัด 3 กองธงของกองทัพราชอาณาจักรโปแลนด์ และพัฒนาหน่วยนี้จากทหารม้าเบาเป็นทหารม้าจู่โจมหุ้มเกราะหนัก การสนับสนุนจากขุนนางโปแลนด์ผู้มั่งคั่งทำให้หน่วยฮุสซาร์กลายเป็นหน่วยทหารชั้นยอด พวกเขามีหอกยาวเป็นอาวุธหลัก และเริ่มนำเกราะโลหะหนาเตอะมาสวมในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา

พวกฮุสซาร์ยังถือหอกสั้นแบบดั้งเดิมที่เบาและทนทานกว่า ดาบ กระบี่ และปืนพกอีกชุด บ้างก็พกดาบคมเดียว (backswords) คอนเซอร์ (koncerz) ขวาน หรือกระบอง ติดตัวไปด้วย ด้วยเกราะป้องกันอันแน่นหนา หอกยาวทรงพลัง และอาวุธระยะประชิดครบมือ หน่วยฮุสซาร์แทบจะเป็นนักรบบนหลังม้าที่ไร้เทียมทานในยุคนั้น

กลยุทธ์ข่มขวัญศัตรูของหน่วยฮุสซาร์

ทีเด็ดของพวกวิหคฮุสซาร์คือการโจมตี เมื่อทหารม้าเหล่านี้เริ่มจู่โจม พวกเขาจะเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียง และไล่ระดับความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะพุ่งเข้าใส่ศัตรูดุจสายฟ้า แต่ละหน่วยคือ ทหารม้า หลายร้อยนายที่เป็นเหมือนแนวกำแพงหอกยาวอันน่าสะพรึงกลัว พร้อมทะลวงผ่านทุกแนวรับ และไม่อาจถูกเจาะทำลายได้ มีบันทึกอ้างว่า หอกของพวกวิหคฮุสซาร์สามารถเสียบทะลุทหารรัสเซียถึง 5 คนในคราวเดียว

ในฐานะทหารม้าจู่โจม วิหคฮุสซาร์ไม่เพียงต้องเชี่ยวชาญกลยุทธ์การต่อสู้เท่านั้น รูปลักษณ์ภายนอกของพวกเขามีบทบาทสำคัญในการสร้างความหวาดกลัวให้ศัตรูจากทั่วทั้งสมรภูมิรบอีกด้วย ตั้งแต่หอกยาวประดับธงที่โดดเด่น มองเห็นได้จากระยะไกล แต่กลวงและเป็นโลหะตรงปลาย เพราะจะใช้เฉพาะการโจมตีระลอกแรกเท่านั้น

ชุดเกราะมนุษย์อันวิจิตรบรรจงมักตกแต่งด้วยสีแดงและสีทอง บ่งบอกถึงความกล้าหาญและหรูหรา ทำจากเหล็กกล้าน้ำหนักเบา สามารถปกป้องพวกเขาและมีน้ำหนักเบาพอที่จะทำให้ม้าสามารถพุ่งเข้าหาศัตรูด้วยความเร็วได้ เกราะเหล็กของหน่วยฮุสซาร์จะคล้ายคลึงกับเกราะอัศวินยุโรปยุคกลางมาก ๆ คือมีทั้งส่วนที่ครอบลำตัว ส่วนป้องกันไหล่-ลำแขน พร้อมหมวกและรองเท้าบูทเหล็ก

ทหารม้า วิหคฮุสซาร์ ติด ปีก แห่ง โปแลนด์
หน่วยฮุสซาร์ ที่ป้อมปราการ Chocim ในปี 1621, ผลงาน Wojciech Kossak (ภาพจาก National Museum in Warsaw)

ส่วนสำคัญและเอกลักษณ์ที่มีประโยชน์มากเกินกว่าเพียงเพื่อความสวยงามคือ “ปีก” หนึ่งคู่ ที่วางตำแหน่งตรงหลังชุดเกราะนักรบให้ดูเหมือนงอกออกจากหลังของพวกเขา มันทำจากขนนกนักล่า และจะส่งเสียงดังตอนควบม้า จนทำให้ม้าของศัตรูตกใจจนสติหลุด ทั้งโครงสร้างขนาดใหญ่ของมันยังทำให้นักรบบนหลังม้าเหล่านี้ดูตัวใหญ่ผิดปกติ และน่าเกรงขามยิ่งขึ้น ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของทั้งคนและม้าฝ่ายศัตรูด้วย และประโยชน์ที่มองข้ามไม่ได้อีกประการคือ ปีกคู่นี้สามารถป้องกันเจ้าของที่สวมมันจากการโจมตีจากด้านหลังได้ด้วย (ในระดับหนึ่ง)

ในปี 1575 เอียโรนิโม ลิปโปมาโน่ (Hieronimo Lippomano) ชาวเวนิส เขียนถึงประสบการณ์ที่ได้พบเห็นนักรบวิหคฮุสซาร์ว่า “เมื่อเกิดสงคราม (กองทัพ) โปแลนด์จะทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ เพื่อให้ดูเหมือนพวกเขามีจำนวนมากกว่าที่เป็นอยู่จริง เพื่อขู่ศัตรูให้หวาดกลัว พวกเขาจะประดับม้าศึกด้วยขนนก ติดปีกนกอินทรีกับตัว แล้วห่มหนังเสือดาวหรือหนังหมีไว้บนไหล่”

ตั้งแต่ยุทธการที่ลูบิสเซโว (Lubiszewo) ปี 1577 ถึงการปิดล้อมกรุงเวียนนาปี 1683 หน่วยฮุสซาร์นำชัยชนะมาสู่ โปแลนด์ มากกว่า 16 ครั้ง นี่คือ “ยุคทอง” ของกองม้าหน่วยนี้ กล่าวได้ว่ากรุงเวียนนารอดพ้นจากเงื้อมมือของจักรวรรดิออตโตมัน เพราะพวกเขาเป็นส่วนสำคัญ หนึ่งในสงครามที่สร้างชื่อเสียงให้หน่วยฮุสซาร์อย่างมากคือ ยุทธการคลูชิโน (Battle of Klushino) ปี 1610 เพราะกองทัพรัสเซียที่มีมากกว่านักรบโปแลนด์ถึง 5 ต่อ 1 ต้องพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย เพราะเหล่า “วิหคฮุสซาร์” เป็นกำลังสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

https://www.warhistoryonline.com/medieval/winged-hussars.html

https://www.military.com/off-duty/2020/06/09/5-reasons-winged-hussars-are-among-greatest-fighters-of-all-time.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2566