ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
นี่คือการค้นพบเหยื่อจากเหตุ “ฆาตกรรม” ที่เก่าแก่ที่สุด หรืออาจเรียกว่าเก่าสุดในบรรดาที่เคยค้นพบหรือเก็บข้อมูลมา เห็นได้จากกะโหลก “มนุษย์โบราณ” อายุ 430,000 ปี ซึ่งถูกค้นพบในถ้ำของสเปน พร้อมหลักฐานเป็นร่องรอยที่บ่งชี้ว่าผู้สร้างรอยดังกล่าวมุ่งหมายเอาชีวิตเจ้าของกะโหลกนี้!
“ความรุนแรง” เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมมนุษย์ และอาจเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติหรือสัญชาตญาณของมนุษย์มานานแล้วด้วย ไม่ใช่หลักร้อยหรือพันปี แต่เป็นแสนปีเลยทีเดียว ประจักษ์พยานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าวซ่อนอยู่ใต้ดินของถ้ำแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของสเปน นั่นคือ กะโหลกศีรษะมนุษย์ที่เก่าแก่ถึง 430,000 ปี พร้อมรอยแผลที่คาดว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเจ้าตัว ที่สำคัญรอยนี้เกิดจากอาวุธทื่อ ๆ ของใครบางคนที่จงใจทำร้ายเขา
เจ้าของกะโหลกนี้ อาจเป็น “เหยื่อฆาตกรรม” รายแรกของโลก!?
เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวอันมืดมนเข้าด้วยกัน ทีมนักโบราณคดีและนักวิจัยนานาชาติพยายามรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับซาก มนุษย์โบราณ ตระกูล โฮมินิน (Hominin) รหัส “Cranium 17” หรือกะโหลกหมายเลข 17 ซึ่งถูกค้นพบในสภาพแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ถึง 52 ชิ้น ฝังอยู่ลึกลงไปในชั้นดินเหนียวของหลุมแห่งหนึ่งภายในถ้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา อาตาปูเอร์กา (Atapuerca) ณ จุดที่ถูกขนานนามว่า “Sima de los Huesos” แปลตรงตัวว่า “หลุมฝังกระดูก”
การค้นพบหลุมฝังกระดูก เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1984 นักสำรวจพบซากของเหล่า นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthals) มนุษย์ยุคหินยุคแรก ๆ อย่างน้อย 28 ร่าง จากสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง (Middle Pleistocene) คือช่วงเวลาระหว่าง 781,000-126,000 ปีก่อน หลุมนี้อยู่ลึกลงไปจากพื้นถ้ำถึง 40 ฟุต หรือราว 12 เมตร นักวิจัยไม่แน่ใจว่าศพของพวกเขามาอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร เพียงตั้งข้อสันนิษฐานว่า ซากมนุษย์โบราณน่าจะถูกนำมาฝัง (หรือทิ้ง) รวมกันจากความตั้งใจของ “คนเป็น”
เดิมทีข้อมูลเกี่ยวกับกะโหลกหมายเลข 17 มีน้อยมาก ผู้ศึกษาไม่รู้แม้กระทั่งเพศเจ้าของกะโหลกใบนี้ แต่เพราะความโดดเด่นกว่าซากอื่น ๆ ทั้งหมดที่พบในหลุม โดยเฉพาะรู 2 รูที่ชัดเจนบริเวณหน้าผากเหนือเบ้าตาซ้ายเล็กน้อย ทำให้นักวิทยาศาสตร์นำมาศึกษาจนสามารถระบุได้ว่า บุคคลนี้เสียชีวิตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
จากการประเมินเบื้องต้น รูดังกล่าวเป็นผลจากการถูกทุบด้วยของแข็ง (ที่ไม่คมนัก) อย่างรุนแรง หากเหตุการณ์เป็นตามนี้ เจ้าของกะโหลกย่อมบาดเจ็บอย่างหนักถึงขั้นเสียชีวิตในไม่ช้าหลังจากนั้น ทีมนักวิจัยนำกะโหลกหมายเลข 17 มาวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ พวกเขาสร้างกะโหลกศีรษะจำลอง 3 มิติ ตรวจดูมุมแตกหักและวิถีกระแทกที่ทำให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์นั้นขึ้น รวมถึงประเมินรูปแบบรอยแตกว่าเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเสียชีวิต
พวกเขายังศึกษาเพิ่มว่า เจ้าของกะโหลกได้รับการรักษาหรือปฐมพยาบาลหลังเกิดรอยหรือไม่ ซึ่งจะช่วยบอกระดับความรุนแรงของบาดแผลได้
ปรากฏว่า ทีมนักวิจัยไม่พบหลักฐานการรักษาใด ๆ บนกะโหลกหมายเลข 17 และซากดังกล่าวไม่ได้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมจากการชันสูตรหรือกระทำการใด ๆ กับศพในภายหลัง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “เหยื่อ” น่าจะเสียชีวิตจากการกระแทกอย่างรุนแรงในครั้งนั้น นอกจากนี้ การทุบอาจไม่ใช่อุบัติเหตุ เพราะอุบัติเหตุมักเกิดกับด้านข้าง หรือด้านหลังศีรษะ ส่วนความรุนแรงโดยเจตนามักจะพุ่งเป้าไปที่ใบหน้า
ตำแหน่งบาดแผลฝั่งซ้ายของใบหน้ายังทำให้เราสืบได้อีกว่า เหยื่ออาจถูกทำร้ายจากคนถนัดขวา การศึกษาที่ผ่านมายังบ่งชี้ด้วยว่าโฮมินินส่วนใหญ่ที่พบในหลุมฝังกระดูกเป็นคนถนัดขวากันทั้งนั้น…
ที่สำคัญคือ “รู” หรือรอยแผลทั้ง 2 เกิดจาหกเครื่องมือเดียวกัน แต่มาจากมุมแตกต่างกัน แปลว่าผู้ก่อเหตุบรรจงทุบซ้ำ ๆ ถึงสองครั้ง นี่คือการ “เจตนาฆ่า” ชัด ๆ !
นักวิจัยจึงให้ข้อสรุปว่า เจ้าของกะโหลกศีรษะถูก “ฆาตกรรม” (ชมภาพจำลองและงานวิจัย ‘กะโหลกหมายเลข 17’ คลิก)
แม้โครงกระดูกโบราณที่ผ่านการตรวจสอบและศึกษากันมา จะทำให้เราพบหลักฐานการกินเนื้อคนและการบาดเจ็บจากการต่อสู้ แต่ยังไม่มีการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเหตุฆาตกรรมที่เก่าแก่ขนาดนี้มาก่อน กะโหลกหมายเลข 17 จึงถือเป็นเคสคดีฆาตกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในหมู่มนุษย์โบราณตระกูลโฮโมนิน
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า “ฆาตกร” คือผู้ที่นำศพมาทิ้งในหลุมหรือไม่ หรือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายถูกนำไปประกอบพิธีกรรมบางอย่างก่อนเคลื่อนย้ายมายังหลุม และหากโครงกระดูกของคนอื่น ๆ ในหลุมไม่ใช่เหยื่อเหตุสังหาร หรือเสียชีวิตจากการพลัดตกลงไปไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุหรือการจงใจ ดูเหมือนว่าพวกเขาทั้งหมดจะถูกนำมาไว้ใน “หลุมฝังกระดูก” โดยเจตนา ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงพัฒนาการของพิธีศพที่เก่าแก่ที่สุดของ “มนุษย์โบราณ” ในทวีปยุโรป
อ่านเพิ่มเติม :
- กรณีสวรรคต ของรัชกาลที่ 2 ที่เล่าลือกันว่า “ฆาตกรรม”
- 4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน (+1) กับวิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง โดยรัฐตำรวจของคณะรัฐประหาร
อ้างอิง :
Rachel Nuwer, Smithsonian Magazine. Investigating the Case of the Earliest Known Murder Victim. May 27, 2015. From https://www.smithsonianmag.com/science-nature/investigating-case-earliest-known-murder-victim-180955409/
Erika Engelhaupt, National Geographic. World’s Oldest Murder Mystery Was 430,000 Years in the Making. May 29, 2015. From https://www.nationalgeographic.com/science/article/worlds-oldest-murder-mystery-was-430000-years-in-the-making
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2566