“สุวรรณภูมิ” สนามบินที่ต้องรอเกือบครึ่งศตวรรษถึงจะได้ใช้

ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ สนามบิน
ท่าอากาศยานสุวรรภูมิ (ภาพจาก www.matichon.co.th)

สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินที่ต้องรอเกือบครึ่งศตวรรษถึงจะได้ใช้

สนามบินสุวรรณภูมิ มีชื่อทางการว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” และชื่อเล่นว่า “สนามบินหนองงูเห่า” เป็นโครงการก่อสร้างระดับชาติ และมีจุดมุ่งหมายให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กว่าจะใช้บริการได้ ก็ต้องรอคอยยาวนานเกือบ 50 ปี จึงแล้วเสร็จ

ทำไมจึงใช้เวลานานถึงเพียงนั้น ก็ต้องมาดูลำดับเหตุการณ์การก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนี้

Advertisement

พ.ศ. 2503 รัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าจ้าง บริษัทลิชฟิลด์แห่งสหรัฐอเมริกา ศึกษาวางผังเมืองสำหรับจังหวัดพระนคร ผลการศึกษาเสนอให้มีการพัฒนาสนามบินพาณิชย์แยกเป็นสัดส่วนจากสนามบินดอนเมือง โดยเสนอให้ท่าอากาศยานแห่งใหม่อยู่ทางทิศตะวันออก เพื่อให้มีระยะห่างและเหมาะสมกับการขึ้น-ลง จึงเสนอพื้นที่ ต. ดอกไม้ ต. หนองบอน ซึ่งอยู่ห่างใจกลางพระนคร 17 กิโลเมตร

แบบแปลนสถานที่ต่าง ๆ ในสนามบินหนองงูเห่า หรือภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น สนามบินสุวรรณภูมิ

พ.ศ. 2504 กรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ทำการสำรวจศึกษาระบุว่า ที่บริษัทลิชฟิลด์ฯ เสนอ ใกล้ดอนเมืองมากเกินไป จึงได้สำรวจพื้นที่ใหม่ และเห็นว่า บริเวณ “หนองงูเห่า” พื้นที่ ต. บางโฉลง, ต. ราชาเทวะ, ต. หนองปรือ ใน อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ มีความเหมาะสมกว่า ซึ่งรัฐบาลก็เห็นชอบ 

พ.ศ. 2506 รัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ให้สัมปทานแก่ บริษัทนอร์ททรอปแห่งสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ทันก่อสร้างก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา จนสัมปทานถูกยกเลิก

ระหว่าง พ.ศ. 2506-2516 รัฐบาล จอมพล ถนอม มอบหมายให้ กรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม จัดหาที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้ โดยมีการจัดซื้อเวนคืน และใช้ที่สาธารณประโยชน์ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่

พ.ศ. 2520 รัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ว่าจ้างบริษัท TAMS (Tippens Abbott  McCarthy Station) เพื่อศึกษาก่อนการลงทุน โดยพิจารณาคัดเลือกสถานที่อื่นๆ ที่เหมาะสม อีก 7 แห่ง คือ อ. ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี, อ. ไทรย้อย จ. นนทบุรี, บริเวณสนามดอนเมืองปัจจุบัน, เขตหนองจอก, หนองงูเห่า จ. สมุทรปราการ, อ. บางบ่อ จ. สมุทรปราการ และ อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ โดยผลสรุปในปี 2521 พื้นที่หนองงูเห่า ยังคงเหมาะสมที่สุด

พ.ศ. 2523 รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีมติ ครม. 21 ตุลาคม 2523 ให้กลับมาก่อสร้างที่หนองงูเห่า โดยให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการสำรวจศึกษาและเตรียมงานก่อสร้าง

พ.ศ. 2526 รัฐบาล พลเอก เปรม อนุมัติว่าจ้าง บริษัท NACO (Netherland Airport Consultants B.V.) ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทของท่าอากาศยานแห่งใหม่ ระหว่างนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เริ่มจากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลก จึงปรับเปลี่ยนแผนก่อสร้างสนามบินที่หนองงูเห่า มาเป็นการขยายท่าอากาศยานดอนเมืองไปทางตะวันตกแทน

พ.ศ. 2529 ครม. เห็นชอบให้ขยายสนามบินดอนเมืองไปทางตะวันตก เพื่อใช้เป็นท่าอากาศยานกรุงเทพต่อไป ส่วนพื้นที่หนองงูเห่า ให้กระทรวงคมนาคมทำการศึกษาพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์อื่นที่เหมาะสม

พ.ศ. 2533 รัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา Louis Berger International INC จำกัด ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทท่าอากาศยาน เพื่อใช้ประโยชน์เป็นแนวทางการพัฒนาระยะยาว ผลสรุปได้ว่า ท่าอากาศยานกรุงเทพจะถึงจุดอิ่มตัวในปี 2543 หากไม่มีท่าอากาศยานแห่งใหม่ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคมพิจารณาถึงความจำเป็นต้องเร่งรัดการพิจารณาทบทวนโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2

พ.ศ. 2534 รัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน มีมติให้สร้างท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 หนองงูเห่า โดยให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงทุน

พ.ศ. 2539 มีการจัดตั้งบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) เป้าหมายคือ การสร้างท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 รับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปี และเปิดบริการในปี 2543

พ.ศ. 2540 รัฐบาล นายชวน หลีกภัย เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ส่งผลกระทบกับหลายประเทศในภูมิภาค ในส่วนโครงการสนามบินหนองงูเห่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปรับลดโครงการฯ ให้รับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคน/ปี วงเงินลงทุน 68,832,734 ล้านบาท และให้แล้วเสร็จในปี 2546

พ.ศ. 2543 วันที่ 29 กันยายน รัชกาลที่ 9 พระราชทานนาม “สุวรรณภูมิ” แทนชื่อ “หนองงูเห่า” เดิม

พ.ศ. 2549 รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเปิดบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน หลังจากได้รับพระราชทานนาม 5 ปี

สนามบินสุวรรณภูมิ
ภาพโดย Markus Winkler จาก Pixabay

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ประวีน ฉิมตะวัน. สนามบินสุวรรณภูมิกับความสามารถในการเป็น Aviation Hub ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, รายงานวิชาการส่วนบุคคล หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2548.

วรรณา ธนัญชัยวัฒนา. “ผนวก ก ความเป็นมาของโครงการสนามบินหนองงูเห่า” ใน, กลยุทธการใช้สื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์การพัฒนาโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพฯ : ศึกษาเฉพาะกรณีสนามบินหนองงูเห่า วิทยานิพนธ์วารสารศาสตรมหาบัณฑิต (สื่อสารมวลชน) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2537.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2566