ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 นักวิชาการจากสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีประจำมณฑลเหลียวหนิงเปิดเผยว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พวกเขาประสบความสำเร็จทางโบราณคดีครั้งยิ่งใหญ่ หลังค้นพบซากสถาปัตยกรรมชั้นสูง สุสานจักรพรรดิ แห่ง “ราชวงศ์เหลียว”
ภายในงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “โลกนี้รวมเป็นหนึ่ง : พรมแดนจีนโบราณจากมุมมองของประวัติศาสตร์และโบราณคดี” ที่นครเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิงของจีน ไป๋เป่าอวี้ ผู้อำนวยการสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหลียวหนิง กล่าวว่า ทีมขุดค้นพบซากสิ่งก่อสร้างหลังหนึ่งที่ใช้เพื่อการประกอบ “พิธีกรรม” และมี หลางเอวี้ยน (廊院) หรือเรือนระเบียงแนวยาวเป็นส่วนประกอบ ณ ซากสถาปัตยกรรมโบราณแห่งราชวงศ์เหลียวหมู่บ้านซินลี่ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านซินลี่ ตำบลเป่ยเจิ้น เมืองจิ่นโจวของมณฑลเหลียวหนิง
ทั้งยังพบฐานอาคารและท่อระบายน้ำ ที่ค่อย ๆ ลาดชันขึ้นจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตลอดจน ถิงเอวี้ยน (庭院) หรือลานกว้างภายในบ้านด้วย
ที่สำคัญคือ นี่เป็นการค้นพบสถาปัตยกรรมชั้นสูงที่มีการปูหลังคาด้วย “กระเบื้องเคลือบ” ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยเจอมา
นักโบราณคดีพบว่า หากเปรียบเทียบกันแล้ว พื้นที่ขุดค้นหมายเลข 1 ของซากสถาปัตยกรรมโบราณแห่งราชวงศ์เหลียว หมู่บ้านซินลี่ มีรูปแบบและรายละเอียดต่าง ๆ คล้ายคลึงกับ สุสานจักรพรรดิราชวงศ์เหลียว ที่เรียกว่า เหลียวชิ่งหลิง ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน
เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับโบราณวัตถุชั้นสูงระดับราชวงศ์ที่ขุดค้นพบจากที่นี่ ทำให้สามารถระบุได้ว่า อาคารนี้เป็น “ตำหนักบูชา” หน้า สุสานจักรพรรดิ ราชวงศ์เหลียว
นอกจากนี้ รูปแบบของกระเบื้องที่พบ ณ พื้นที่ขุดค้นหมายเลข 1 ยังเป็นแบบเดียวกันกับของสุสานจักรพรรดิราชวงศ์เหลียว ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงสามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าสุสานที่อยู่ใกล้กับแหล่งขุดค้นแห่งนี้เป็นของชนชั้นสูงระดับอ๋องหรือจักรพรรดิ
ไป๋ยังกล่าวด้วยว่า เรือนระเบียงที่มีการปูหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบนั้นถูกใช้เป็นตำหนักบวงสรวงหน้าสุสานจักรพรรดิ โดยสุสานรูปแบบนี้ของราชวงศ์เหลียวได้รับการสืบทอดและพัฒนาในเวลาต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง แสดงให้เห็นว่าอารยธรรมของราชวงศ์เหลียวนั้นมีส่วนสำคัญต่อการก่อตัวของอารยธรรมจีนที่มีลักษณะพหุนิยม
ทั้งนี้ ราชวงศ์เหลียว (ปี 907-1125) ก่อตั้งโดยชนเผ่าชี่ตัน มีสุสานจักรพรรดิที่สำคัญ 5 แห่ง โดยสุสานของเยลี่ว์อาเป่าจี ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เหลียว ตั้งอยู่ในหุบเขาแห่งหนึ่งในตำบลหลินตง เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ห่างจากแหล่งขุดค้นโบราณคดีเมืองหลวงตอนบนแห่งราชวงศ์เหลียวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร
อ่านเพิ่มเติม :
- พบ “หลุมศพ” โบราณกว่า 3,200 หลุม ในสุสานอายุสามพันปี มณฑลชิงไห่
- พบฐาน “พระราชวังโบราณ” อายุกว่า 2,000 ปี ของรัฐฉิน นครซีอัน
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจากรายงานในบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว “จีนเผยการค้นพบ ‘ตำหนักบวงสรวง’ แห่งสุสานจักรพรรดิราชวงศ์เหลียว” เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2566