ชาวนาสมัยสุโขทัย ที่ต้อง “เช่า” ทั้งนา, ควาย และเครื่องมือการเกษตร

ชาวนาสมัยสุโขทัย
ชาวนาและผู้คนในอดีต

ชาวนาสมัยสุโขทัย ที่ต้อง “เช่า” ทั้งนา, ควาย และเครื่องมือการเกษตร

ชาวนาสมัยสุโขทัย ต้องเช่าที่นา, เช่าวัว ควาย, เช่าเครื่องมือการเกษตร เป็นไปได้ว่าจำนวนชาวนาที่ต้องเช่าก็คงไม่น้อยทีเดียว จึงมีการระบุไว้ข้อกฎหมาย ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า “กฎหมายมังรายศาสตร์”

กฎหมายมังรายศาสตร์ มีการบันทึกหลักเกณฑ์ในการเช่าและการชำระค่าเช่าไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่ากับ ชาวนา ผู้เช่า และทางการในการตัดสิน หากเกิดข้อขัดแย้งขึ้น บางส่วนของกฎหมายมังรายศาสตร์กล่าวถึง “หลักเกณฑ์” การเช่า พอสรุปได้ดังนี้

ภาพถ่ายเก่าบรรยากาศการจับปลาใน “ฤดูปลาขึ้น” ที่สุโขทัย

หลักเกณฑ์การเช่านา การเช่านาจ่ายค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก เมื่อนวดข้าวแล้ว ให้คืนข้าวปลูกไปให้ฝ่ายที่ออกข้าวปลูก ข้าวที่เหลือจึงจ่ายให้เจ้าของที่นา และผู้เช่าตามที่ตกลงกัน กรณีการไปทำนาบุคคลอื่น โดยไม่ได้ตกลงเรื่องค่าเช่า ต้องจ่ายค่าเช่านาเมื่อต้นข้าวโตขนาดปูกัดไม่ขาดครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจ่ายเมื่อข้าวสุก

หากมีผู้เช่าใหม่จะมาขอเช่านา ในนาที่มีผู้เช่าเดิมอยู่แล้ว โดยจะจ่ายค่านาให้มากกว่าผู้เช่าคนเดิม ให้ผู้เช่าเดิมมีสิทธิเช่าต่อไปตามราคาเดิม “อย่าปล่อยให้เจ้าของนาตัดสิน ถ้าหากปล่อยไป (ผู้เช่า) ผู้มั่งมีย่อมมาจะขึ้นราคาค่าเช่าแก่เจ้าของนา ถ้าหากชนะก็จะเอานาไปทำ จัดว่าไม่ชอบธรรม”

เจ้าของนาจะเอานาคืนได้ก็ต่อเมื่อ ผู้เช่าจ่ายค่าเช่าไม่ครบ, จ่ายล่าช้า หรือปล่อยที่นาทิ้งร้างบางส่วน หรือทั้งหมด โดยไม่มีเหตุผล และไม่บอกให้เจ้าของนาทราบ หากผู้เช่าเก็บนาไว้จะต้องจ่ายค่าเช่าเป็น 2 เท่า

หากผู้เช่าล้มคันนาเดิมบางส่วน เพื่อให้แปลงนาแต่ละแปลงใหญ่ขึ้น หรือผู้เช่าไปซอยแปลงนาให้เล็กลง เมื่อผู้เช่าเลิกเช่าต่อจะต้องจัดคันนาให้ขนาดของแปลงนาเหมือนเดิม

ส่วน หลักเกณฑ์ในการเช่าวัว, ควาย มีกล่าวไว้ว่า ค่าเช่าวัวที่ฝึกมาดีแล้ว ตัวละ 12 เงิน ส่วนควายจะอยู่ที่ 13 เงิน หากเป็นวัวที่เพิ่งฝึกใหม่ตัวละ 11 เงิน ควายจะอยู่ที่ตัวละ 12 เงิน (ราคาในสมัยพระเจ้ามังราย)

ผู้เช่าวัว, ควาย ต้องรับผิดชอบวัว, ควาย ที่เช่าไปไม่ให้ สูญหาย, ล้มตาย หากวัว, ควายสูญหายเพราะถูกโจรปล้นไปก็ดีหรืออดตาย ให้ผู้เช่าจ่ายค่าตัววัว, ควาย ให้เจ้าของ และยังต้องจ่ายค่าเช่า ตามที่ตกลงกันไว้ด้วย

แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น กรณีที่เช่าไปยังไม่ทันได้ทำนาเลย วัว ควาย เกิดตายด้วยโรค ผู้เช่าไม่ต้องจ่ายค่าเช่า แต่ต้องจ่ายค่าวัว, ควายครึ่งหนึ่งของราคาวัว ควาย นั้น

ที่แปลกคือหากวัว, ควาย ที่เช่าไปป่วย ผู้เช่าต้องบอกเจ้าของวัว, ควาย และทำการรักษา แต่ว่าวัว, ควาย ยังล้มตาย ผู้เช่าไม่ต้องชดใช้ค่าวัว, ควาย ด้วยเหตุผลว่า “มันตายด้วยกรรมของมันเอง แม้มันอยู่กับเจ้าของ ในวันนั้น ก็ย่อมจะตายแล”

การเช่าเครื่องมือการเกษตร ในกฎหมายระบุว่า ผู้ใดเช่า คราด (เผือ), ไถ, พลัว (หลัว), เสียม, จอบ (จก), เกวียน, มีด, หลุก (ระหัดหวิดน้ำ) เครื่องการเกษตรคงมีมากกว่า แต่กฎหมายมิได้ระบุไว้ เพราะเป็นของที่มีค่าไม่มาก เมื่อเอาไปใช้งานไปทำไร่สวนนา รักษาของไม่ดี ทำให้ของเสียหาย ต้องทำหรือหาของมาชดใช้ หรือมิฉะนั้นต้องจ่ายค่าสิ่งของนั้นตามราคาตลาด หากโจรลักไป จับโจรได้ ให้ปรับไหม 9 เท่า

ชาวนาสมัยสุโขทัย หรือยุคอื่นในอดีต ที่ใครอาจคิดกันว่าเป็นคืนวันแสนสุข ทำมาหากินง่ายที่เรียกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เพราะบ้านเมืองมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ประชากรน้อย แต่เอาเข้าจริง พอเป็น “อาชีพ” ไม่มีอะไรง่าย ไม่ว่าช่วงเวลาใด

ภาพเด็กชายขี่ควายที่จังหวัดสุโขทัย ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1936 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2548.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2566