ประวัติศาสตร์ความลําเค็ญของชาวนา หัวเมืองที่ราบสูงโคราช

ภาพประกอบเนื้อหา - การทำนาที่ร้อยเอ็ด (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เรื่องประวัติศาสตร์ความทุกข์ยากลําเค็ญของ “ชาวนา” จากหัวเมืองแถบที่ราบสูง “โคราช” นี้เป็นการสรุปเนื้อหาจากบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์ความลำเค็ญของชาวนา บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2540) ของ ชุมพล แนวจำปา ดังนี้

โดย “บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน” นั้นหมายถึงบริเวณเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นน้อยใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “มณฑลลาวกลาง” และ “มณฑลนครราชสีมา” ตามลำดับ มีที่ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำมูลและสาขา โดยมีนครราชสีมาเป็นศูนย์กลาง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นครราชสีมาและเมืองขึ้นน้อยใหญ่จัดเป็นหัวเมืองชั้นใน โดยเป็นตัวแทนของกรุงเทพฯ ในการเข้าจัดการปกครองหัวเมืองในบริเวณที่ราบสูงโคราช (ที่อดีตเรียกว่า “หัวเมืองลาว”)

Advertisement

ดังนั้นเจ้าเมืองโคราชจึงเป็นเจ้าเมืองที่ได้รับความไว้ใจมากที่สุดเมืองหนึ่ง

เมืองโคราชนอกจากจะเป็นศูนย์บัญชาการทางการเมืองของกรุงเทพฯ ในภูมิภาคแล้ว ยังเป็นแหล่งชุมนุมของพ่อค้าชาวจีนมากที่สุดของภูมิภาคด้วย เป็นจุดส่งผ่านของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม จากกรุงเทพฯ ไปสู่หัวเมืองในบริเวณที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะเมื่อมีทางรถไฟสายนครราชสีมา (พ.ศ. 2443) ทำให้การเดินทาง และขนส่งสินค้า ระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองบริเวณที่ราบสูงสะดวกขึ้น

ส่วน “ชาวนา” ซึ่งเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม เป็นผู้เสียส่วย เป็นผู้เสียค่านาเป็นแรงงาน และเป็นที่มาของรายได้ที่สำคัญของรัฐสยาม ดังนั้นการเข้าใจประวัติศาสตร์ “ชาวนา” ย่อมนำไปสู่การเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมโดยส่วนรวม

จากหลักฐานที่พอจะหาได้นั้น อาจสรุปปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ชาวนาเดือดร้อนและส่งผลต่อการผลิตของชาวนาได้ดังนี้ 1. ภาระในการเสียส่วยและค่านา 2. ภาระในการถูกเกณฑ์จากรัฐ 3. ความขาดแคลนอันเนื่องมาจากธรรมชาติ

1. ภาระในการเสียส่วยและค่านา

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา รัฐบาลพอใจที่จะเก็บส่วยและค่านาเป็นตัวเงินมากกว่าที่จะเก็บเป็นสิ่งของหรือข้าว อันเนื่องมาจากการขยายตัวทางการค้าขายกับต่างประเทศ และความต้องการใช้จ่ายเงินภายในประเทศด้านอื่นๆ เช่น การสงครามทางด้านญวนและเขมร การศาสนา เป็นต้น

สมัยรัชกาลที่ 4 การขยายตัวทางเศรษฐกิจภายหลังเบาริ่งยิ่งทำให้ความต้องการเงินตราของรัฐบาลมีมากขึ้น การเปลี่ยนส่วยและค่านาจากรูปสิ่งของมาเป็นตัวเงินนี้ได้ส่งผลให้ชาวนา ต้องหันไปทำการผลิตเพื่อขายให้ได้เงินเสียส่วยและค่านา

นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมานั้น มีหลักฐานว่าส่วยที่ส่งไปจากบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนนั้นล้วนส่งเป็นตัวเงินทั้งสิ้น [1] สำหรับค่านานั้น นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เลิกเรียกหางข้าวค่านา หรือบังคับจัดซื้อแก่นาทุกประเภท แต่เรียกเป็นตัวเงินแทน ในอัตราไร่ละสลึงเฟื้องทั้งสิ้น [2]

การเสียส่วยและค่านาเป็นตัวเงินแทนสิ่งของและข้าวนั้นส่งผลต่อชาวนาอย่างน้อย 2 ประการคือ 1. เป็นการดึงให้ชาวนาต้องการผลิตเพื่อตลาดมากขึ้น เพื่อให้ได้เงินเพียงพอที่จะเสียส่วยและค่านา 2. ชาวนาย่อมได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองในภาวะปกตินั้นมีส่วนเกินจากการบริโภคในครอบครัวไม่มากนัก ยิ่งชาวนาต้องผลิตสิ่งของเพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนมาเป็นตัวเงินด้วยแล้วก็นับว่าเป็นความลำบากอย่างยิ่งของชาวนา ดังนั้น ก่อนการเข้าจัดการปกครองของกรุงเทพฯ ทุกๆ หัวเมืองในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนมีการค้างเงินส่วยที่จะต้องส่งลงไปกรุงเทพฯ โดยแต่ละเมืองค้างเงินส่วยจำนวนหลายๆ [3]

แม้สาเหตุการค้างเงินส่วยนั้นส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเจ้าหน้าที่ในหัวเมืองเหล่านั้นก็ตาม แต่สาเหตุที่เกิดจากความขัดสนเดือดร้อนของชาวนาเองก็น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน มีบางครั้งที่ชาวนาไม่ยอมเสียค่านา เช่นที่เมืองรัตนบุรีอันเป็นหัวเมืองบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน เมื่อเจ้าหน้าที่ไปเก็บค่านา ในปี พ.ศ. 2426 หลังจากที่ออกเดินประเมินนาของราษฎรเสร็จสิ้นแล้ว จึงให้เจ้าเมือง อำเภอ กํานัน ไล่เจ้าของนามาเสียค่านาตามจำนวนมากและน้อย ปรากฏว่าเจ้าของนาพากันอพยพครอบครัวหนี ทิ้งภูมิลำเนาไปอาศัยอยู่เมืองสุรินทร์บ้าง บ้านหนองสนมบ้าง เป็นจำนวน 158 คน เนื้อนา 1,499 ไร่เศษ คิดเป็นเงิน 635 บาท 2 สลึง [4]

การเสียส่วยและค่านานี้เป็นภาวะจำยอมที่ไพร่ทั้งหลายจะต้องเสีย เพราะมิเช่นนั้นก็จะถูกเกณฑ์ไปใช้งานหลวงซึ่งจะทำให้ไพร่ได้รับความลำบากมาก และต้องเสียเวลาทำมาหากิน วิธีการที่ไพร่ใช้แก้ปัญหา เมื่อประสบกับการกดขี่หรือขูดรีดจนไม่สามารถทนได้นั้นคือ

1.1 การเปลี่ยนมูลนายใหม่

ปัญหาการแย่งชิงตัวเลกกันระหว่างมูลนายต่างๆ นั้นปรากฏอยู่เสมอก่อนการยกเลิกระบบไพร่ ความหละหลวมของระบบไพร่ดังกล่าวเปิดโอกาสให้ไพร่ที่ไม่พอใจมูลนายสามารถหลบไปอาศัยอยู่กับมูลนายใหม่ได้ อย่างเช่นกรณีไพร่หลวงประเสริฐสุวรรณกับขุนชำนาญสุนทร นายกองส่วยทองแจ้งว่าเลกไพร่หลวงส่วยทองซึ่งเป็นไพร่ของหลวงประเสริฐสุวรรณ 3 คน และไพร่ของขุนชำนาญสุนทร 4 คนได้หนีไปอยู่กับหลวงเพชรสงคราม รวม 7 คน [5]

1.2 การขายตัวลงเป็นทาส

ภาระของชาวนาในการเสียส่วยและส่งของเพื่อที่จะไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานในแต่ละปีนับเป็นภาระที่หนักมาก การแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของไพร่เมื่อถูกกดดันมากๆ ก็คือการขายตัวลงเป็นทาส ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น คือเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตราสำหรับใช้ในคราวจำเป็น

แต่ทาสเหล่านี้ก็หาโอกาสที่จะเป็นอิสระด้วยวิธีการต่างๆ บางครั้ง เมื่อหมดหนทางที่จะไถ่ถอนตัวเองจริงๆ พวกทาสบางคนก็ใช้วิธีหลบหนีนายเงิน เช่น ขุนตรีฤาเดช จับตัว “อีตุ่น” ทาสของจีนทองดีซึ่งเดินทางโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ทรงตัดสินให้ส่งตัวอีตุ่นให้ขุนตรีฤาเดชใช้งานเหมือนทาสเป็นเวลา 3 วัน แล้วจึงส่งตัวอีตุ่นให้นายเงินไป [6]

1.3 การหลบหนี

นอกจากการแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนมูลนายและการขายตัวลงเป็นทาสแล้ว การแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการหลบหนีไปซ่อนอยู่ตามป่า เช่น อ้ายแก้ว ถูกจับตัวส่งมาว่าซุ่มซ่อนนอนอยู่ในป่าริมมูล สอบสวนให้การว่าเดิมบ้านอยู่หัวแรด บ้านเมืองเกิดความอดอยากไม่มีเงินจะซื้อ จึงพาบุตรภรรยาไปหามันหากลอยที่ในดง พบขุนด่านจึงจับตัวส่งเข้ามา [7] กรณีของอ้ายแก้ว เป็นตัวอย่างหนึ่งของระบบเงินตราที่เข้าไปกระทบต่อการดำรงชีวิตของไพร่ส่วนหนึ่ง การที่อ้ายแก้วให้การว่าเกิดความอดอยากไม่มีเงินจะซื้อนั้นหมายถึงการไม่มีเงินจะเสียให้กับรัฐ ประกอบกับความล้มเหลวในการผลิต จึงตัดสินใจใช้วิธีการหลบหนี้ เป็นการแก้ปัญหา

1.4 การลักขโมย เพื่อเลี้ยงตัวเอง

การลักขโมยดังกล่าวมิใช่การประพฤติเยี่ยงโจรที่ยึดการลักขโมยเป็นอาชีพ แต่เป็นการขโมยเพื่อให้ตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในยามขาดแคลน ดังเช่นที่พบคือ ขโมยขนุนและกล้วย ให้การสารภาพ จำไว้ในราชการ 3 เดือน, ขโมยเกี่ยวข้าวในนาคนอื่น 2 ฟ้อน ให้การสารภาพ จำไว้ใช้ราชการ 2 เดือน, ขโมยข้าวเปลือก 1 ถัง ให้การสารภาพ จำไว้ใช้ราชการ 2 เดือน, ขโมยข้าวกล้าในนา 30 กำ ให้การสารภาพ จำไว้ใช้ราชการ 3 เดือน, ขโมยข้าว 2 ถัง ปลาร้า 1 ไห เป็นต้น [8]

2. ภาระในการถูกเกณฑ์จากรัฐ

การเกณฑ์แรงงานคนและการเกณฑ์ที่เป็นทรัพย์สิ่งของตลอดจนสัตว์พาหนะ ไพร่ในแต่ละหัวเมืองมีภาระหนักเบาในการถูกเกณฑ์แรงงานไม่เท่ากัน ไพร่ที่อยู่หัวเมืองใกล้เคียงกับเมืองหลวงหรือในหัวเมืองชั้นนอกที่ไม่ห่างไกลนักจะได้รับการเกณฑ์แรงงานมากกว่าไพร่ในหัวเมืองที่ห่างไกล ไพร่จึงนิยมที่จะอพยพไปอยู่เมืองที่อยู่ไกลๆ เพื่อให้รอดพ้นจากการเกณฑ์แรงงาน

สำหรับไพร่ในหัวเมืองบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนคือหัวเมืองที่ขึ้นกับเมืองนครราชสีมานั้น จะถูกเกณฑ์แรงงานตลอดจนทรัพย์สิ่งของหนักกว่าหัวเมืองอื่นๆ ในบริเวณที่ราบสูงของสยามขณะนั้น สาเหตุเนื่องมาจากหัวเมืองในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนอยู่ใกล้กรุงเทพฯ สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนเป็นศูนย์กลางของการติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองต่างๆ ในบริเวณที่ราบสูงของสยามทั้งหมด

2.1 การเกณฑ์ในราชการสงคราม

เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะภาวะสงครามหรือการกบฏต่างๆ ในบริเวณหัวเมืองลาว ไพร่บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนจะถูกเกณฑ์ในราชการสงครามทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น

ในศึกฮ่อ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418 เมื่อกรุงเทพฯ ทราบข่าวศึกฮ่อทางชายแดนด้านหนองคายนั้น เมืองนครราชสีมาได้รับคำสั่งให้เกณฑ์คนเตรียมพร้อมไว้เผื่อฮ่อจะยกมาตีด้านหนองคายและโพนพิสัย ให้พระยานครราชสีมาเบิกเงินต่อเสนาเมืองนครราชสีมาซื้อข้าวใส่ฉางขึ้นไว้ให้พอจับจ่ายราชการ และโปรดฯ ให้เกณฑ์คนตามระทาง ทั้งนายและไพร่กองละ 10 คนต่อทาง 1 วัน ตั้งแต่เมืองนครราชสีมาลงไปจนถึงเขตแดนเมืองสระบุรี [9]

ครั้นเมื่อภาวะสงครามตึงเครียดมากขึ้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์กองทัพเมืองนครราชสีมา 5,000 คน พร้อมเครื่องศาสตราวุธและกระสุนดินดำให้พร้อมเสร็จ แล้วให้พระยานครราชสีมารีบยกขึ้นไปเมืองหนองคายให้ทันท่วงที แล้วให้พระยาปลัด พระบรมราชบรรหารผู้อยู่รักษาเมือง เกณฑ์ไพร่และเครื่องศาสตราวุธกระสุนดินดำเตรียมไว้กับบ้านเมือง [10] กองทัพของเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นยกขึ้นไปถึงหนองคาย ในการทำสงครามกับฮ่อครั้งนั้น ปรากฏว่าไพร่ของกองทัพเมืองนครราชสีมา ก็ถูกยิงตายไปหลายคน

ถึงกระนั้นในปี พ.ศ. 2426 เจ้าเมืองนครราชสีมาก็ยังถูกตำหนิจากทางกรุงเทพฯ ว่าละเลยในราชการทัพ ไม่เจ็บร้อนด้วยราชการแผ่นดิน และให้พระยานครราชสีมาแต่งกรมการออกตรวจข้าวในแขวงเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นว่ามีอยู่มากน้อยเท่าใด ให้เกณฑ์ขอแรงลงไปรับราชการในกองทัพครั้งนี้ให้สิ้นเชิง ให้ได้จำนวนช้าง 200 เชือก ม้า 200 ตัว และเกณฑ์ไพร่พล เครื่องศาสตราวุธ ฯลฯ แล้วเร่งรีบมีใบบอกแต่งกรมการคุมช้างและหมอควาญ สำหรับช้างลงไปให้ถึงเมืองสระบุรีในเดือน 12 ขึ้น 2-3 ค่ำ ให้ทันกำหนดให้ได้

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งเป็นกรณีพิพาททางชายแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ซึ่งนำไปสู่การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมิได้ยืดเยื้อกินเวลานาน และก็ไม่ถึงกับใช้กำลังทหารเข้ารบพุ่งเหมือนกับคราวศึกฮ่อ

กรณีพิพาทครั้งนั้นนครราชสีมาได้กลายเป็นฐานกำลังสำหรับเตรียมพร้อมที่จะส่งไปป้องกันฝรั่งเศส ทางชายแดนด้านหนองคายลงมาจนถึงอุบลฯ มีการตระเตรียมกำลังคนและเสบียงอาหารไว้เป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีการปรับปรุงเมืองนครราชสีมาให้เป็นเมืองยุทธศาสตร์สำหรับป้องกันฝรั่งเศสหากมีการรุกเข้ามา การเตรียมการดังกล่าวได้มีการเกณฑ์แรงงานและทรัพย์สินจากราษฎรในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งไปมณฑลลาวพวนที่หนองคาย และมณฑลลาวกาวที่อุบลฯ และไพร่ที่เหลือก็ต้องเตรียมพร้อมอยู่ที่นครราชสีมา บรรดาพ่อค้าชาวจีนที่อยู่ในเมืองนครราชสีมา ก็ได้เรี่ยไรเงินช่วยราชการในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ร่วม 62 คน เป็นเงิน 4,465 บาท [11]

2.2 การเกณฑ์ในราชการเร่งด่วนอื่นๆ

แม้แต่ในยามสงบ ชาวนาที่เคราะห์ร้ายบางคนก็อาจถูกเรียกให้ไปทำงานนอกเหนืองานปกติได้ เช่น พ.ศ. 2356 รัฐบาลเรียกเกณฑ์ไพร่จำนวนมากจาก โคราช เวียงจันท์ ฯลฯ เพื่อไปขุดดินเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำเจ้าพระยาที่อ่างทอง แต่โครงการนี้ล้มเหลว [12]

หรือใน พ.ศ. 2411 ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 4 ได้มีการเตรียมงานพระเมรุและมีการเกณฑ์ไพร่เป็นจำนวนมากเพื่อชักลากเสาพระเมรุ มีคำสั่งให้เมืองนครราชสีมาเกณฑ์คนไปช่วยด้วย จำนวนไพร่เมืองนครราชสีมาตามบัญชี 1,000 คน มีคำสั่งใหพระยานครราชสีมาบังคับให้สิ้นจำนวนคน ให้เลกคงเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นผลัดเปลี่ยนกันลงไปทำพระเมรุ ณ กรุงเทพฯ เดือนละ 1,000 คน ให้พระยานครราชสีมาคิดผลัดเปลี่ยนรายเดือนไว้ให้พร้อม [13]

หรือ พ.ศ. 2414 ที่มีการสร้างป้อมเมืองปราจีนบุรี ไพร่หัวเมืองบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนก็ได้รับการเกณฑ์เช่นเคย โดยให้เกณฑ์ทั้งเลกคงเมือง และไพร่สมที่สังกัดตามมูลนายต่างๆ เพื่อลงไปสร้างกำแพงเมืองปราจีนบุรี 4 เดือน เดือนละ 500 คน ถ้าตัวเลกผู้ใดไม่ลงไปทำการก็ให้คิดค่าแรงเดือนหนึ่งคนละ 4 บาท เพื่อจ้างจีนก่อกำแพงต่อไป [14]

3. ความขาดแคลนอันเนื่องมาจากธรรมชาติ

สภาพภูมิศาสตร์ที่ลักษณะโครงสร้างของดินเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ ทำให้บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนและที่ราบสูงส่วนอื่นๆ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกอยู่เสมอ ความจริงแล้วฝนตกในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนในแต่ละปีโดยเฉลี่ยนั้นมีปริมาณที่มากพอสมควรทีเดียว ดังนั้นน้ำฝนที่ตกลงมากจึงซึมลงสู้ใต้ผิวดินเร็ว และส่วนที่เหลือก็จะไหลบ่าไปอย่างรวดเร็ว ถ้าฝนทิ้งช่วงห่างกันจะทำให้น้ำที่ใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอ ด้วยในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนนั้นอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

ตัวย่างเช่น พ.ศ. 2427 เกิดความอดอยากอันเนื่องจากความแห้งแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนบน แขวงเมืองนครราชสีมา ชาวนาในที่ลุ่มทำนาได้ผล 1 ส่วน ไม่ได้ผล 10 ส่วน ชาวนาในที่ดอนไม่ได้ตกกล้า ราคาข้าวเปลือกแพงถึงเกวียนละ 80-120 บาท แต่ชาวนาขัดสนไม่มีเงินจะซื้อข้าวยังชีพ จนเกิดการอพยพครอบครัวทิ้งภูมิลำเนา ไปอาศัยทำมาหากินในเขตแขวงเมืองลาวเมืองเขมร หรือลงไปอยู่ตามแขวงเมืองสระบุรีกรุงเก่าก็มี [15]

หรือความอดอยากใน พ.ศ. 2432-2433 ที่มิได้เดือดร้อนเฉพาะชาวนาธรรมดาเท่านั้น นักโทษที่อยู่ในตะรางยิ่งอดอยากมากถึงขาดอดข้าวตากไปก็มีมาก

“…ในตารางเมืองนครราชสีมาเห็นคนโทษซูบผอมอดอยากล้มตายอยู่เนื่องๆ…เมืองนคราชสีมานี้เป็นธรรมเนียมมาแต่เดิม คนโทษที่มีญาติๆ ก็ส่งให้รับประทาน ที่ไม่มีญาติต้องเที่ยวขอรับพระราชทานเลี้ยงชีวิต หาได้จ่ายเข้าหลวงคงเมืองให้รับพระราชทานเหมือนกับเมื่องอื่นๆ ไม่…แลในปีรัตนโกสินทร์ศก 108, 109 (พ.ศ. 2432-2433) นั้นฝนแล้ง ราษฎรทำนาหาเต็มภาคภูมิไม่ เข้าแพง คนโทษเที่ยวขอรับพระราชทานก็ขัดสนหาพอรับประทานไม่…” [16]

นั่นคือตัวอย่างความลำเค็ญของชาวนาพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนบนอันเนื่องจากภาระการเสียส่วย, การถูกเกณฑ์แรงงาน และความขาดแคลนอันเนื่องมาจากธรรมชาติ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หจช., ร.5 เอกสารเย็บเล่มกรมมหาดไทย จ.ศ. 1229-1230 เล่ม 1 เรื่องเมืองนครราชสีมาตอบส่วยน้ำรัก

[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์, วัฒนธรรมกฏุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525), หน้า 101-102.

[3] หจช., ร.5 เอกสารเย็บเล่มกรมมหาดไทย จ.ศ. 1231 เล่ม 2 เรื่องเมืองนครราชสีมาตอบส่งเงินแทนทองคําส่วย.

[4] หจช., ร.5 ม.2.12 ก/4 ใบบอกเมืองนครราชสีมา (มีนาคม ร.ศ. 103-ธันวาคม ร.ศ. 105).

[5] หจช., ร.5 ม.46/1 หนังสือราชการกรมมหาดไทย บอกข้าหลวงเมืองนครราชสีมา, วันที่ 13 เมษายน ร.ศ. 111.

[6] เรื่องเดียวกัน

[7] เรื่องเดียวกัน

[8] เรื่องเดียวกัน

[9] หจช., ร.5 เอกสารเย็บเล่มกรมมหาดไทย จ.ศ. 1237 เรื่องเมืองนครราชสีมาให้เบิกเงินเสนาจัดซื้อเข้าขึ้นฉาง

[10] เล่มเดียวกัน

[11] หจช., ร.5 ม.46/7 เรื่องกรมหมื่นสรรพสิทธิ์ เสด็จขึ้นไปเมืองนครราชสีมา ศก 112, วันที่ 15 กรกฎาคม ร.ศ. 112.

[12] เดวิด บรูส จอห์นสตัน, สังคมชนบทและเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับข้าวในประเทศไทย ค.ศ. 1880-1930. (เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2528), หน้า 8 (ม.ป.ท.)

[13] หจช. ร.5 เอกสารเย็บเล่มกรมมหาดไทย จ.ศ. 1229-1230 เรื่องเมืองนครราชสีมา เกณฑ์เลกลากเสาพระเมรุ จ.ศ. 1230.

[14] หจช., ร.5 เอกสารเย็บเล่มกรมมหาดไทย จ.ศ. 1232 เรื่องเมืองนครราชสีมาเกณฑ์เลกลง มาทําป้อมเมืองปราจีนบุรี

[15] หจช., ร.5 ม.2.12 ก/4 ใบบอกเมืองนครราชสีมา, จ.ศ. 1247.

[16] หจช., ร.5 ม.2.12 ก/1 ใบบอกเมืองนครราชสีมา, ร.ศ. 109.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2565