เปิดประวัติ “สินค้า” ชื่อเรียกติดปากคนไทย “แม็กซ์ โกเต๊กซ์ ซันไลต์ สก๊อตช์-ไบรต์”

สินค้า โกเต๊กซ์ สก๊อตช์-ไบรต์ ซันไลต์ แม็กซ์ สก๊อตช์-ไบรต์

หลังจากครั้งที่แล้วได้เขียนชื่อ “สินค้า” ที่คนไทยติดปากจนเรียกแทนผลิตภัณฑ์ไป ซึ่งก็มี มาม่า แพมเพิร์ส ซีร็อกซ์ และแฟ้บ (อ่านตอนแรกได้ที่นี่) ครั้งนี้จึงกลับมาอีกครั้ง โดยชื่อที่ยกมาวันนี้ได้แก่ แม็กซ์, โกเต๊กซ์, ซันไลต์ และ สก๊อตช์-ไบรต์

1. แม็กซ์

แม็กซ์ เย็บกระดาษ สินค้า
ภาพ : www.max-ltd.co.jp

บริษัท เอ็มเอเอ็กซ์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1942 เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญและจัดจำหน่ายสิ่งของเครื่องใช้ในสำนักงานมาเป็นระยะเวลานาน สินค้าเริ่มต้นคือ “เครื่องเย็บกระดาษ” ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ในปี 1952 ชื่อว่า “SYC-10” ซึ่งเป็นเครื่องเย็บกระดาษอันเล็กกะทัดรัดเหมือนที่เราใช้ในปัจจุบัน

แม็กซ์ หรือ MAX (ซึ่งจริง ๆ แล้วชื่อบริษัทอ่านว่าเอ็มเอเอ็กซ์ แต่ในที่นี้ขอเขียนว่าแม็กซ์ เพื่อให้ตรงกับความคุ้นชิน) ได้ขยายฐานตลาดของตนเองให้เข้าถึงกลุ่มคนทำงานและสำนักงานมากยิ่งขึ้น โดยพัฒนาเครื่องเย็บกระดาษรูปแบบใหม่ ๆ ออกมา ไม่ได้มีเพียงเครื่องเย็บกระดาษขนาดเล็ก แต่ยังมีเครื่องเย็บขนาดใหญ่ เครื่องเย็บติดผนังด้วยมือ เครื่องยิงตะปู ทั้งยังมุ่งสู่ตลาดเครื่องปรินต์และตัดกระดาษแบบอัตโนมัติ เครื่องปั๊มลม และอีกมากมาย

ด้วยคุณภาพอันดีเยี่ยม อย่างที่แม็กซ์เคลมว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการผลิตตามมาตรฐาน JIS (มาตรฐานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิตภายในประเทศ) ในโรงงานที่ได้รับ ISO9001 และ ISO14001 จึงทำให้ “แม็กซ์” ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม

ก่อนที่ในปี 2005 บริษัท เอ็มเอเอ็กซ์ จำกัด จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยและครองใจคนไทยจนติดปาก และเข้าใจกันไปว่า “แม็กซ์” คือสรรพนามจริง ๆ ของเครื่องเย็บกระดาษ

2. โกเต๊กซ์

Kotex โกเต๊กซ์ สินค้า
ภาพ : Wikimedia Commons

“โกเต๊กซ์” (Kotex) เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยที่แม้ฟังชื่ออาจจะใกล้เคียงกับภาษาจีน แต่ที่จริงแล้ว โกเต๊กซ์มีจุดเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา ภายใต้บริษัท คิมเบอร์ลี่-คล๊าค จุดกำเนิดของมันเกิดขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะนั้นคิมเบอร์ลี่-คล๊าค สามารถคิดค้นเซลลูคอตตอน (Cellucotton) ผ้าที่มีความสามารถในการซึมซับได้ดีกว่าผ้าคอตตอนทั่วไปถึง 5 เท่า พวกเขาจึงตัดสินใจนำสิ่งนี้ไปใช้เป็นผ้าพันแผลให้ทหารบาดเจ็บ

เมื่อสงครามจบลง บริษัทผู้คิดค้นเซลลูคอตตอนก็เริ่มมองหาลู่ทางในการขยายตลาดของสินค้าชิ้นนี้ กระทั่งพบว่าเหล่าพยาบาลสาวต่างใช้ผ้าพันแผลของทหารที่มีส่วนประกอบเป็นสิ่งที่เขาริเริ่มขึ้นมาซับเลือดขณะมีรอบเดือน 

พอได้เห็นเช่นนั้น เขาก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันที จึงคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์มาเรื่อย ๆ กระทั่งเข้าปี 1919 ผ้าอนามัยยี่ห้อโกเต๊กซ์ก็ออกสู่ตลาด

จนในปี 1942 ผลิตภัณฑ์ซับเลือดระดูยี่ห้อ โกเต๊กซ์ ก็เข้ามายังประเทศไทย แม้ในช่วงแรกจะยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะประเทศไทยแต่เดิมมักใช้ผ้าทั่วไปในการซับเลือดประจำเดือน ทั้งโกเต๊กซ์ยังมีขนาดที่ใหญ่และวิธีการใช้ที่ยุ่งยาก ทว่าในเวลาต่อมากลับได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม จนคนในสมัยนั้นเรียกผ้าอนามัยว่า “โกเต๊กซ์” 

3. ซันไลต์

ซันไลต์ สบู่ สินค้า
ภาพ : www.unilever.com

หากจะพูดว่า “ซันไลต์” (Sunlight) เปรียบเสมือนรางวัลที่สวรรค์ส่งมาให้คนที่ไม่ชอบทำความสะอาดก็คงไม่ผิดเพี้ยนไปนัก เพราะเหตุผลสำคัญของการเกิดผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า “ซันไลต์” คือทำอย่างไรก็ได้ให้การทำความสะอาดเป็นเรื่องง่ายและไม่ลำบากอีกต่อไป

จุดเริ่มต้นของ “ซันไลต์” ต้องย้อนไปเมื่อ 125 ปีก่อน หรือ ค.ศ. 1898 หลังจาก วิลเลี่ยม เฮสเกธ ลีเวอร์ (William hesketh Lever) ได้เห็นปัญหาในการทำความสะอาดถ้วยชามซึ่งมีความยากลำบากมาก จึงเริ่มเสาะหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้การล้างชามนั้นง่ายขึ้น ในที่สุดเขาก็สามารถผลิต “สบู่ซันไลต์” ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการทุ่นแรงของเหล่าแม่บ้านในสมัยนั้นได้

ปี 1933 บริษัท ยูนิลีเวอร์ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย พร้อมนำความสะดวกสบายเข้ามา หนึ่งในนั้นคือ “สบู่ซันไลต์” ที่ช่วยให้ถ้วยชามสะอาดหมดจด ตอนแรกคนไทยยังไม่เปิดใจรับมากนัก เพรายังชินกับการใช้พืชสมุนไพรขัดภาชนะ ทว่าเมื่อได้ลองใช้งานกลับรู้สึกว่าใช้ง่าย สะอาด รวดเร็วทันใจ ก่อนที่บริษัทจะเริ่มพัฒนาจากสบู่ไปเป็นชนิดน้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

ตั้งแต่นั้นมา “ซันไลต์” ก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์คู่คนไทย และใช้ชื่อของสินค้าชิ้นนี้เรียกแทนน้ำยาล้างจานทุกชนิด

4. สก๊อตช์-ไบรต์

scotch-brite สก๊อตช์-ไบรต์
ภาพ : www.scotch-brite.com.au

ใครจะรู้เล่าว่า “สก๊อตช์-ไบรต์” (Scotch-Brite®) ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะมีจุดเริ่มต้นมาจาก “ริบบิ้น” ที่ใช้ห่อของขวัญ

“สก๊อตช์-ไบรต์” เป็นหนึ่งในสินค้าของบริษัท 3M บริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาในตลาดมากมาย เช่น เทปหรืออุปกรณ์ทำความสะอาดต่าง ๆ สก๊อตช์-ไบรต์เกิดขึ้นมาช่วงปลายปี 1950 ต้นเหตุที่ทำให้เกิดสินค้าชนิดนี้ เกิดจาก “ริบบิ้นห่อของขวัญ” ซึ่งขณะนั้นทาง 3M กำลังลุยธุรกิจนี้อย่างเต็มกำลัง โดยคิดจะบุกตลาดนี้ด้วยริบบิ้นผ้าสปันบอนด์เนื้อสากที่มีส่วนประกอบหลักเป็นอะลูมิเนียมออกไซด์ เพื่อให้ลูกค้าผูกง่ายขึ้น ทว่าริบบิ้นชนิดนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีต้นสูง ทำให้ราคาแพง 

ต่อมาบริษัท 3M จึงนำเส้นใยสัมผัสสากนี้มาแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ชื่อว่า “สก๊อตช์-ไบรต์” ด้วยเส้นใยที่ค่อนข้างสากจึงทำให้มันมีคุณสมบัติในการขัดพื้นผิวและกำจัดสิ่งสกปรกออกจากถ้วยชามและเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีความแปลกใหม่ เริ่มกระจายเข้าไปในตลาด และได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น 

ปี 1962 สก๊อตช์-ไบรต์ ได้เข้ามาในไทย และได้รับความนิยมอย่างมาก อาจเพราะเมื่อคนไทยลองใช้แล้วได้ผลดีเกินคาด คราบสกปรกที่ติดอยู่บนภาชนะต่าง ๆ หายไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มันค่อย ๆ เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น

จนวันนี้ “สก๊อตช์-ไบรต์” ก็ยังเป็นผลิตภัณฑ์ขัดทำความสะอาดที่ได้รับความไว้วางใจจากคนไทยเรื่อยมา 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.max-ltd.co.jp/en/about/company/business/office.html

https://www.maxasiasg.com/about-us.html

https://data.creden.co/company/general/0135548008110

https://www.wha-industrialestate.com/jp/media-activities/news/customer-news/2149/max-thailand-purchases-30-rai-in-hemaraj-esie

https://www.silpa-mag.com/history/article_42842

https://www.longtunman.com/9386

https://www.unilever.com/news/news-search/2023/behind-the-brand-sunlight-unilevers-139year-old-blockbuster-brand/

https://www.longtunman.com/3630

https://www.3m.com.au/3M/en_AU/company-au/news-releases/full-story/?storyid=3823f393-4ba7-4ac3-a9db-f6d9fb2763fe

https://www.scotch-brite.com.au/3M/en_AU/scotch-brite-au/brite-ideas/our-story/

https://www.etalon-refinish.com/2020/06/25/history-of-generic-names-in-the-automotive-refinishing-industry/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 2566