7 สิ่งมหัศจรรย์จาก “วิวัฒนาการ” ที่สัตว์ยังมี แต่ “มนุษย์” ไม่ใช้แล้ว มีอะไรบ้าง?

วิวัฒนาการ ของ มนุษย์
(ภาพโดย Macrovector ใน Freepik)

สิ่งมีชีวิตล้วนมี “วิวัฒนาการ” ให้ตัวเองอยู่รอดบนโลก “มนุษย์” ก็เช่นกัน มีวิวัฒนาการด้านร่างกายและการรับรู้ มีบางสิ่งเพิ่มขึ้นมาเพื่อตอบสนองกับธรรมชาติ ขณะที่บางสิ่งก็ค่อย ๆ ลดบทบาทลง แต่ใช่ว่าจะหายไปเหมือนตากะพริบ เพราะมันยังซุกซ่อนอยู่ในร่างกายของเรา ว่ากันว่ามีมากกว่า 100 สิ่งเลยด้วยซ้ำ แต่จะขอยกมาให้อ่าน 7 อย่างที่น่าสนใจ 

1. Palmar Grasp Reflex หรือ ปฏิกิริยาการกำมือ

ปฏิกิริยานี้มักพบในทารกอายุ 2-3 เดือน หลังจากลืมตาดูโลก เมื่อคุณแม่หรือผู้คนที่มาเยี่ยมเยียนเริ่มสอดนิ้วเข้าไปในอุ้งมือเด็ก เด็กจะมีท่าทีตอบรับด้วยการกำมือกลับ และถ้าหากว่าดึงนิ้วขึ้นมาจะเห็นว่าเหมือนเราดึงร่างน้อย ๆ ขึ้นมาด้วย ปฏิกิริยาการตอบโต้นี้เชื่อว่าเป็นร่องรอยด้านวิวัฒนาการหลงเหลือ เพราะการกระทำนี้คล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลิง โดยลิงแรกเกิดนั้นจะมีความสามารถในการยึด เกาะ หรือจับขนของแม่ไว้ เพื่อไม่ให้ห่างกายผู้ให้กำเนิด 

2. หาง

คาดกันว่าสมัยก่อนมนุษย์มีหางเหมือนกับสัตว์หลายชนิดที่เราเห็นทั่วไป โดยหางที่ว่าจะพบในช่วงสัปดาห์ที่ 6 ระหว่างที่ทารกกำลังนอนคุดคู้อยู่ในครรภ์ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปหางจะค่อย ๆ หายไปช้า ๆ เนื่องจากรวมตัวกับกระดูกสันหลังที่เกิดมาพร้อมกัน 

ปัจจุบันยังมีทารกบางคนเกิดมาพร้อมกับหาง เช่นเดียวกันสัตว์อื่น ๆ อยู่บ้าง ทว่าเปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก เรียกได้ว่าเป็น “แรร์ เคส” และส่วนใหญ่จะผ่าตัดออกตั้งแต่แรกเกิด 

3. ฟันกราม (ฟันคุด)

เมื่อเคี้ยวข้าวหรือกินอะไรบางอย่าง สิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้เลยคือ “ฟัน” เพราะเป็นอวัยวะด่านแรกที่ช่วยให้อาหารนั้นมีขนาดเล็กลง หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้คงสงสัยว่า “ฟันกราม” จะเป็นร่องรอยของวิวัฒนาการมนุษย์ได้อย่างไร ในเมื่อปัจจุบันคนก็ยังใช้กัน แต่หากเทียบฟันกรามของคนสมัยนี้กับยุคก่อนหน้า จะเห็นถึงความแตกต่างที่เรียกว่าห่างกันคนละชั้น

เนื่องจากอาหารที่กินในปัจจุบันเป็นมิตรกับฟันมากขึ้น ทำให้ฟันกรามซี่ในไม่งอกออกมา กลายเป็น “ฟันคุด” ฟันเจ้าปัญหาของคนยุคนี้ที่ทันตแพทย์ต่างแนะนำให้ถอนออก ซึ่งฟันคุดนี่แหละที่เป็นร่องรอยทำให้เราเห็นถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ในช่วงเวลาที่ต่างกัน 

4. Nictitating Membrane หรือ เยื่อหนังตาที่ 3

เนื้อเยื่อที่เรียกได้ว่าเป็น “เปลือกตาที่ 3” ของมนุษย์ เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเปลือกตาที่ 3 ของสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น กบ นกฮูก ปลา หรือแมว เนื้อเยื่อนี้เมื่ออยู่ในสัตว์ จะช่วยป้องกันสิ่งสกปรกภายนอก ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ทว่าในคนกลับกลายเป็นเพียงแค่เนื้อเยื่อบาง ๆ เท่านั้น เพราะคนมีต่อมน้ำตาให้ความชุ่มชื้น และถ้าหากมีอะไรแปลกปลอมมาเข้าตาก็สามารถใช้นิ้วหยิบออกได้

Nictitating Membrane” จึงเป็นเพียงร่องรอยอันน้อยนิดที่ยังคงเหลือให้เราเห็นนั่นเอง

5. Auricular Muscles หรือกล้ามเนื้อออริคิวลาร์

ปกติแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดมักจะต้องพึ่งพากล้ามเนื้อชนิดนี้ที่อยู่บริเวณหูเพื่อตรวจจับความผิดปกติของเสียงภายนอก หรือการบุกรุกเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว ทว่ากล้ามเนื้อชนิดนี้เมื่ออยู่ในมนุษย์กลับไม่มีความจำเป็น เนื่องจากมนุษย์นั้นมีประสาทสัมผัสรับเสียงที่ดีอยู่แล้ว 

6. Palmaris longus หรือ กล้ามเนื้อปาล์มาริส ลองกัส

กล้ามเนื้อชนิดนี้มีลักษณะเป็นเส้นบาง ๆ อยู่บริเวณข้อมือถึงข้อศอก ในสัตว์ชนิดอื่นกล้ามเนื้อชนิดนี้มีความสำคัญอย่างมากในการปีนป่ายต้นไม้ ทว่ามนุษย์ไม่ได้มีพฤติกรรมเช่นนี้อีกต่อไป จึงทำให้ผู้คนบนโลกราว 10% ไม่มีกล้ามเนื้อชนิดนี้

7. Pyramidalis Muscle หรือ กล้ามเนื้อรูปพีระมิด

กล้ามเนื้อรูปพีระมิด เป็นส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อที่พาดผ่านบริเวณผนังหน้าท้อง โดยปกติในคนมักพบอยู่ที่ 1 มัด หรือ 2 มัด ทว่ากลับเป็นกล้ามเนื้อที่ไร้ประโยชน์ ทั้งยังไม่ได้ขยับให้ออกแรง เนื่องจากชิ้นส่วนนี้มีไว้เพื่อขยับหาง แต่มนุษย์นั้นไม่มีหางแล้ว ผิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นที่ยังคงต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนนี้เพื่อขยับหางให้ไหวไปมาอยู่  

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.bbc.com/thai/features-51551221

https://www.bbc.com/thai/features-46957385

https://www.britannica.com/list/7-vestigial-features-of-the-human-body


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2566