ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2525 |
---|---|
ผู้เขียน | ออรอรา ศรีบัวพันธุ์ |
เผยแพร่ |
ทำตามสัญญา! จอมพล ป. พิบูลสงคราม มอบที่ดิน 8 ไร่ ให้ โรงเรียนสอนคนตาบอด ซึ่งก่อตั้งโดย เจนีวีฟ คอลฟิลด์ ตามคำขอของนักเรียน
ก่อนปี 2482 สังคมไทยไม่เคยเห็นคนตาบอดปรากฏกายบนท้องถนน บนรถโดยสารและตามสถานที่ต่างๆ เช่นปัจจุบันนี้ สมัยโน้นคนตาบอดส่วนใหญ่มักถูกเก็บไว้ในบ้าน เพราะผู้ปกครองอับอายที่มีบุตรหลานตาบอด คิดว่าเป็นเวรเป็นกรรม ทั้งของตัวเด็กเอง และของผู้ปกครอง
มีน้อยรายที่บอดแต่ตา แต่อาการอื่นๆ ยังครบบริบูรณ์เยี่ยงคนปกติ เขาไม่ยอมถูกกัก ออกซุกซนเที่ยวเล่นตามประสา แล้วก็ยังมีคนอีกพวกหนึ่งนั่งอยู่กับที่ตามท้องตลาด ตามงานหรือตามสถานที่มีงานฉลองประจำปี โดยมีภาชนะวางอยู่ข้างหน้า เมื่อคนผ่านไปมาเห็นเข้า ก็เกิดเมตตาสงสารโยนเศษสตางค์ดังแกร้ง ผู้ปกครองคนตาบอดเหล่านั้นก็พลอยได้รับผลประโยชน์ไปด้วย
แต่สภาพดังกล่าวนี้ค่อยๆ เลือนหายไป เพราะมีสุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกันคือ เจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Genevieve Caulfield) หรือที่ลูกศิษย์เรียกกันว่า “มิสคอลฟิลด์” หรือ “แหม่ม” ซึ่งยอมเสียสละความสุขส่วนตัว ความก้าวหน้าในการงาน และบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ เข้ามาในประเทศไทย มาปลุกปั้นคนตาบอด สร้างประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และประเทศชาติ รวมทั้งจัดตั้ง โรงเรียนสอนคนตาบอด ขึ้น
เจเนวีฟ คอลฟิลด์ ตั้ง โรงเรียนสอนคนตาบอด
เจนีวีฟ คอลฟิลด์ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา และถึงแก่กรรมในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นผู้ให้กําเนิดการศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย เพราะท่านตระหนักว่า คนตาบอด ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ก็เป็นคนเหมือนกัน มีสิทธิ์ได้รับการศึกษาเพื่อที่จะดํารงชีวิตอย่างเป็นสุขตามอัตภาพเยี่ยงพลเมืองทั้งหลาย
เมื่อมิสคอลฟิลด์ได้ทราบจากคนไทยเมื่อครั้งยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่นด้วยกันว่าในประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียนสําหรับคนตาบอดเลย ท่านจึงได้เดินทางเข้ามาเพื่อขออนุญาตรัฐบาลไทยจัดตั้งโรงเรียนขึ้น รัฐบาลสมัยนั้นไม่ขัดข้อง แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนับสนุน
มิสคอลฟิลด์ต้องเผชิญอุปสรรคนานับประการกว่าจะตั้งโรงเรียนได้สําเร็จ
บ้างก็ว่า “คนตาบอดฝรั่งน่ะ สอนได้ แต่คนตาบอดไทยจะสอนได้หรือ เพราะมีสภาพไม่ผิดกับโต๊ะหรือเก้าอี้”
บ้างก็ว่า “แหม่มคนนี้หมดทางหากินในประเทศของตัวแล้ว จึงต้องซมซานมาหากินเอาที่นี่”
ซ้ำร้ายกว่านั้น บางรายคิดว่ามิสคอลฟิลด์เป็นแนวที่ 5 รับจ้างรัฐบาลอเมริกันเข้ามาสืบราชการลับ เพราะเขาเห็นท่านแสดงวิธีอ่านเขียนของคนตาบอด คือ “อักษรเบรลล์” เป็นจุดนูนใช้ปลายนิ้วสัมผัส
มีคนไทยหลายท่านซึ่งเคยพบและรู้จักกับมิสคอลฟิลด์ ครั้งที่ท่านเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศญี่ปุ่น ช่วยเหลือให้ความสนับสนุนในการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้น นอกจากด้วยจิตศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้นยังเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการให้การศึกษาแก่คนตาบอด โดยเฉพาะ นายแพทย์ฝน แสงสินแก้ว ได้ทุ่มเทกําลังกาย กําลังใจ และเวลา ช่วยเหลือมิสคอลฟิลด์อย่างแข็งขัน
คุณหมอฝนเกิดความประทับใจเมื่อครั้งพามิสคอลฟิลด์เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น เพื่อขอความช่วยเหลือด้านงบประมาณสําหรับจัดตั้งโรงเรียน
แต่ท่านรัฐมนตรีบอกว่า ยังไม่มีความจําเป็นเลย รัฐบาลกําลังมีความจําเป็นจะต้องใช้เงินซื้อเรือรบ เพื่อเพิ่มพลังของกองทัพเพราะสงครามใกล้จะระเบิด
คุณหมอฝนเองก็คล้อยตามความคิดเห็นของรัฐมนตรีผู้นั้น แต่แล้วต้องรีบเปลี่ยนความคิดและเกิดความกระตือรือร้นที่จะช่วยมิสคอลฟิลด์ให้ถึงที่สุด เมื่อเห็นน้ำตาของหญิงชาวต่างชาติ ตาพิการก็จริง แต่ดวงใจสว่างไสวสะอาด ปราศจากความเห็นแก่ตัว ตัดพ้อทั้งน้ำตาขณะเมื่ออยู่กันตามลําพัง
“นี่เขาเห็นเรือรบสำคัญกว่าชีวิตคนเชียวรึ คนตาบอดที่นี่ไม่ใช่คนและไม่ใช่พลเมืองของประเทศหรืออย่างไร”
คนไทยอีกท่านหนึ่งที่จะเว้นกล่าวถึงมิได้ คือ คุณจิตร วัฒนเกษม ซึ่งคุ้นเคยกับมิสคอลฟิลด์สมัยเมื่ออยู่ญี่ปุ่นด้วยกัน ได้ให้ความช่วยเหลือทุกอย่างในการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับคนตาบอดขึ้นในกรุงเทพฯ และท่านผู้นี้เองเป็นผู้ช่วยมิสคอลฟิลด์ประดิษฐ์อักษรเบรลล์ภาษาไทย โดยอาศัยวิธีการของหลุยส์ เบรลล์
แล้วคุณจิตรก็จัดแจงลอกตำรา “แบบเรียนไว” ลงเป็นเบรลล์ ส่งไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือสำหรับคนตาบอดที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นตำราเรียนของคนตาบอดในประเทศไทย คุณจิตรยังได้ชักชวน ม.ร.ว.หญิง พินธุเลขา จักรพันธุ์ ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษา ม.8 จากโรงเรียนราชินีใหม่ๆ มาเป็นครูอาสาสมัครคนแรกของโรงเรียนสอนคนตาบอด
คุณหญิงสามารถอ่านเขียนเบรลล์ได้อย่างคล่องแคล่ว ก่อนที่จะถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่ศิษย์ที่มืดมิดทั้งนัยน์ตาและชีวิต แต่วันหนึ่งข้างหน้า แม้นัยน์ตายังคงมืดมิด แต่ชีวิตนั้นจะแจ่มใส
ในที่สุดโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกในประเทศไทย ก็ได้เปิดทำการสอน ณ บ้านเช่าในซอยค็อคเช่ ถนนศาลาแดง เมื่อวันที่ 2 มกราคม ปี 2482
และเพื่อให้โรงเรียนมีกำลังทรัพย์ที่จะดำเนินการต่อไปได้ด้วยดี คณะผู้ร่วมงานจึงขอจดทะเบียนเป็น มูลนิธิช่วยและให้การศึกษาแก่คนตาบอดแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ศกเดียวกัน (ภายหลังเป็น “มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์”)
โรงเรียนสอนคนตาบอด สอนทั้งวิชาสามัญทั่วไป ภาษาต่างประเทศ รวมทั้งสอนการฝีมือ การขับร้องและดนตรี ตลอดทั้งการบ้านและการครัว มิสคอลฟิลด์และคณะครูยังเน้นหนักด้านอบรมสั่งสอนให้คนตาบอดรู้จักช่วยตัวเองและผู้อื่น รู้จักการใช้ประสาทสัมผัสที่เหลืออยู่ให้ได้อย่างคล่องแคล่ว รู้จักปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเข้าสังคมได้อย่างงดงาม ไม่เคอะเขิน
นักเรียนที่นี่ได้ไปแสดงกิจกรรมและแสดงละครตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงและนำรายได้มาสู่โรงเรียน ให้สังคมเห็นความสามารถและเข้าใจในคนตาบอดยิ่งขึ้น เช่นที่ โรงเรียนมาแตร์ เดอี โรงเรียนราชินี โรงเรียนเขมศิริอนุสรณ์ โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง โรงละคร กรมศิลปากร และตามสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุ ป.ณ. สถานีวิทยุ อ.ส. โทรทัศน์ช่อง 4 และช่อง 7 เดิม และงานประจำปีของวัดเบญจมบพิตร เป็นต้น
ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489 นักเรียนตาบอดได้มีโอกาสเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง และได้แสดงละครต่อหน้าพระที่นั่ง รัชกาลที่ 8 และพระบรมวงศานุวงศ์ หลังจากการแสดงแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนตาบอดได้เข้าเฝ้าและทรงปฏิสันถารทีละคน สร้างความปลื้มปิติเป็นล้นพ้น
เมื่อการศึกษาของคนตาบอดเริ่มแพร่หลาย ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานตาบอดก็ค่อย ๆ ทยอยส่งเด็กมาเข้าเรียน ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องโยกย้ายไปเช่าสถานที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
จากค็อคเช่ ย้ายไปอยู่ตรอกพระยาภิภัตร ถนนสีลม แล้วก็ไปอยู่ที่ถนนประมวล
จอมพล ป. มอบที่ดิน 8 ไร่ ให้ “โรงเรียนสอนคนตาบอด”
ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รุนแรงขึ้น และโรงเรียนถูกทิ้งระเบิด มิสคอลฟิลด์จึงให้นักเรียนย้ายไปอยู่ที่ตําบลคลองบางตาล อําเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี สักระยะหนึ่ง แล้วก็อพยพต่อไปยังหัวหิน กลับเข้ามาในกรุงเทพฯ และเช่าบ้านอยู่ในซอยชิดลม แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่ซอยเทียนเซี่ยง ถนนสาทรใต้
เมื่อครั้งอยู่ที่ซอยชิดลม บังเอิญได้อยู่ตรงข้ามกับบ้าน ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ท่านออกมาเดินเล่นในซอยทุกวัน และด้วยความระลึกถึงพระคุณ พวกเราจึงเข้าไปเชิญท่านเข้ามานั่งคุยกับพวกเราที่สนามหญ้า
ท่านชอบฟังพวกเราร้องเพลงภาษาอังกฤษ ทิล วี มีต อะเกน แอ็ต จี ซัส ฟิต พวกเราบอกแก่ท่านผู้หญิงว่าจะสวดมนต์ขอให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปลอดภัย และขอให้ท่านได้กลับเป็นหัวหน้ารัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง
ท่านผู้หญิงบอกว่า หากท่านทั้งสองได้เป็นใหญ่เป็นโตอีกครั้งหนึ่ง เราอยากได้อะไรก็ให้ขอ หากไม่เกินความสามารถแล้วก็เต็มใจจะให้
ไม่มีอะไรที่พวกเราอยากจะได้ยิ่งไปกว่ามีสถานที่เรียนถาวร ไม่ต้องโยกย้ายอีกต่อไป แต่ความหวังของเรากว่าจะสัมฤทธิผลก็ต้องรอถึง พ.ศ. 2492
คุณสหัทยา โชติกเสถียร นักเรียนรุ่นพี่ที่ทําหนังสือถึงท่านทั้งสองขอสิ่งที่เราอยากได้ตามสัญญา และ จอมพล ป. ก็ให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดที่ดินให้ถึง 8 ไร่ ที่ถนนราชวิถี พญาไท พร้อมกับสร้างอาคารเรียน และหอพัก โรงอาหาร โรงครัว และอื่น ๆ
โรงเรียนจึงได้ย้ายจากซอยเทียนเซียง มาอยู่ถาวรที่ถนนราชวิถีตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2493
อ่านเพิ่มเติม :
- “ครูช้อย” เบโธเฟนเมืองไทย อัจฉริยศิลปินตาบอด ครูดนตรีฝีมือขั้นเทพ
- อดีตกำนันบ้านหาดเล็ก เล่าเหตุการณ์พา “จอมพล ป.” หนีไปกัมพูชา
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2566